สกัดเหลือบสูบโอกาสคนจน

สกัดเหลือบสูบโอกาสคนจนหวยบนดิน
หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่คนหาเช้ากินค่ำ ยอมเจียดเงิน ในกระเป๋าเพื่อหวัง ต่อทุน หรือบางรายก็ถึงขั้นวาดฝัน ถูกรางวัลแจ็กพอต เป็นเศรษฐีในพริบตา จากการเสี่ยงดวงเดือนละ 2 ครั้ง
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อที่กำไร ที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับในแต่ละงวดจากการออกสลากเลขท้าย เป็นเงินก้อนโต และพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ถึงหลักร้อยล้าน พันล้านบาท
และเงินก้อนนี้เองที่เป็นแหล่งสนับสนุนงบประมาณ สำหรับสารพัดโครงการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการความคล่องตัวในการบริหารงาน และต้องการคืนกำไรให้กับชาวบ้าน
โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ทุนหวยก็เป็นหนึ่งในโครงการที่นำเงินรายได้ส่วนเกิน ของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวก้อนนี้ ที่แบ่งมาเพื่อให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนยากจนแต่เรียนดี ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จนถึงวันนี้เรียกได้ว่า นักเรียนทุนหวยรุ่นแรก ได้ผ่านการเรียนในและ ต่างประเทศมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว ทั้งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ก็กำลังเปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อรับทุน หวยรุ่นที่สองอยู่ การสำรวจโครงการว่ามีความประสบ ผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด รวมถึงจุดอ่อนเพื่อเร่งแก้ไข และให้การส่งเด็กทุน ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่าที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม
ผศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการติดตามประเมินผล โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนจาก เงินรายได้ส่วนเกินของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว
ทีมการศึกษาขอย้อนรอยถึงที่มาของทุนหวยก้อนนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้โอกาสกับเด็กยากจนเรียนดี อำเภอละ 1 คน ทั่วประเทศ ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยให้เด็กเป็นผู้เลือกเองว่า จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 และคัดเลือกนักเรียนทุนรุ่นแรกได้จำนวน 921 คน มีนักเรียนเลือกเรียนต่อต่างประเทศ 739 คน กระจายไปใน 16 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน รัสเซีย อียิปต์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สวีเดน อิตาลี เดนมาร์ก จีน มาเลเซีย อินเดีย ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนต่อในประเทศ 182 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ
จากงานวิจัยระบุว่า นักเรียนโครงการ หนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ หรือ One District One Scholarship หรือ ODOS ซึ่งเด็กๆที่ได้รับทุน จะเรียกตัวเองว่า กลุ่มเด็กโอดอสนี้ พบว่า เด็ก 404 คน หรือ ร้อยละ 53 มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 21 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และร้อยละ 13 มีอาชีพค้าขายหรืองานอิสระ มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ย 5002,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 90.53 ไม่เคยมีประวัติการรับทุนอื่นๆมาก่อน แสดงให้เห็นว่า ทุนนี้ได้ให้โอกาสกับเด็ก ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
หันมามองเรื่องการปรับตัวของนักเรียนทุนในประเทศ ส่วนใหญ่สามารถปรับตัว ได้ดี ตั้งใจเรียนดี ผลการเรียนในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี
ส่วนการปรับตัวของนักเรียนทุนต่างประเทศ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย มุ่งมั่นตั้งใจเรียน มีความรักกันในหมู่พวกพ้องมาก มีพัฒนาทางภาษาดีมาก กระตือรือร้นในการเรียน ไม่เคยขาดเรียนโดยไม่จำเป็น นักเรียนที่อยู่ในประเทศที่มีการแข่งขันสูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เช่น ญี่ปุ่น จะพบว่า นักเรียนมีความกดดันมากที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
ผลดีที่พบก็คือ เกิดการตื่นตัว ในกลุ่มนักเรียน ม. ปลาย โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกล และผลการเรียนของ เด็กก็ดีขึ้นผิดหูผิดตา เพราะต้องการสอบชิงทุนนี้
แต่จุดอ่อนที่งานวิจัยนี้ค้นพบก็คือ
ข้อสอบที่ให้ในการคัดเลือกไม่ได้ มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ไม่มีการประเมินจิตสำนึกต่อ การกลับมาทำงานในประเทศ การเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ต้องใช้เวลาเตรียมตัวให้มากขึ้น
ทุนไม่มีข้อผูกมัดซึ่งน่าเป็นห่วงว่า จะมีเด็กส่วนหนึ่งกลับมาทำงาน ไม่ตรงตามสาขาที่เรียน หรือไม่กลับมา ทำให้เกิดความสูญเปล่า ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วยว่า สาขาที่เรียนต้องเป็นสาขาที่ประเทศต้องการจริงๆ เพราะบางสาขาประเทศไทยก็มีความเข้มแข็งไม่แพ้ชาติอื่น
เมื่อทราบจุดบอดจากการ ดำเนินการในรุ่นแรกแล้ว ในส่วนของรุ่นสองนั้น จึงต้องมีการแก้ไข โดยการส่งเด็กเรียนต่อต่างประเทศ ควรยึดความต้องการและ ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ เป็นหลักในการกำหนด สาขาการเรียนของเด็ก ไม่ยึดความต้องการ ของเด็กมากเกินไป ควรเพิ่มทุนระดับอาชีวศึกษาด้วย
ที่สำคัญข้อสอบและระบบการคัดเลือกเด็กต้องมีมาตรฐาน ให้ได้เด็กตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ และต้องป้องกันปัญหา เด็กฝากโดยเฉพาะการตรวจสอบเงินรายได้ของผู้ปกครอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อย่างเคร่งครัด ซึ่งเรื่องนี้มีเสียงห่วงใยจากที่ปรึกษางานวิจัย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า
มีการวางตัวเด็กที่จะรับทุนไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นลูกของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้น
ส่วนเด็กทุนในประเทศ จะต้องให้มหาวิทยาลัยรัฐภายในประเทศ ให้ความสำคัญกับ เด็กกลุ่มดังกล่าว และเปิดช่องทางอีกช่องหรือโควตาให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าเรียน
การให้ทุนต้องมีสัญญาผูกมัดชัดเจน ว่าเด็กจะต้องกลับมาทำงานรับใช้ชาติ มีตำแหน่งงานรองรับ เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจว่า เรียนจบแล้วมีงานทำ จะส่งผลให้เด็กมุ่งมั่นในการเรียนมากขึ้น ในระหว่างนี้ยังมีเวลาอีกหลายปี ที่จะทำการปลูกจิตสำนึก ให้เด็กทุนกลับมาทำงานรับใช้ ประเทศชาติ ผ่านทางพ่อแม่ ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารกับลูก หลานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
และสิ่งสำคัญที่สุด ทีมการศึกษาขอฝากเยาวชนทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้า โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เมื่อได้รับโอกาสแล้ว นอกจากจะต้องกอบโกยความรู้จากนานาอารยประเทศแล้ว ยังต้องมีความสำนึกรักบ้านเกิด และรู้จักที่จะหยิบยื่นโอกาสที่เคย ได้รับนี้ส่งต่อให้กับผู้ด้อยโอกาสคนอื่นในสังคม
รู้จักคืนทุนให้แผ่นดินด้วยการเป็น ผู้ให้”.

เห็นมาอย่างไรเขียนไปอย่างนั้น : เงินจากหวย

รอมานานถึง 10 ปี กว่าที่ การจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวด้วยเครื่องจำหน่ายสลาก หรือที่เราเรียกจนเคยปากว่า “หวยออนไลน์” เป็นจริงขึ้นมาได้ในบ้านเราเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาลได้ลงนามอย่างเป็นทางการในสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากกับผู้แทนของบริษัทล็อกซเล่ย์จีเท็คเทคโนโลยี จำกัด เพื่อดำเนินการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวด้วยเครื่องจำหน่ายสลากเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วโดยที่บริษัทล็อกซเล่ย์จีเท็คฯ จะต้องดำเนินการติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากเพื่อจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว จำนวน 3,000 เครื่อง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จภายใน 7 เดือนแรก และติดตั้งเดือนละ 1,000 เครื่อง จนครบ 12,000 เครื่อง ทั่วประเทศแสดงว่า อีกไม่ช้าไม่นาน คนไทยจะมีโอกาสได้ซื้อ “หวยออนไลน์” เหมือนเช่น หลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ซึ่งคนของเขาสัมผัส “หวยออนไลน์” มานานแล้วในวันลงนามสัญญา พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ได้กล่าวว่า“ตราบใด ที่ผมยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ อยู่ ผมจะนำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงิน 3 ตัว และ 2 ตัว หลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและจ่ายเงินรางวัลแล้ว คืนสู่สังคมเงินดังกล่าวจะนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน/คนยากจน ซึ่งกิจกรรมที่จะดำเนินการคือการให้ทุนการศึกษากับ นักเรียนนักศึกษาที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งการให้ทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศด้วย”ที่จริงแล้วสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว มีมาตั้งแต่งวด 1 สิงหาคม 2546 แต่เป็น การเขียนธรรมดา ๆ ยังไม่ได้นำ ระบบออนไลน์ มาใช้ และคณะรัฐมนตรีได้ให้มีการจัดตั้ง กองทุนเงิน 3 ตัว และ 2 ตัว ขึ้นมาโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2546 ให้นำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงิน 3 ตัว และ 2 ตัว หลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและจ่ายเงินรางวัลแล้วคืนสู่สังคมโดยใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน/คนยากจน โดยกิจกรรมที่ควรดำเนินการคือการให้ทุนการศึกษากับนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งการให้ทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศด้วย และแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์สำหรับแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ขึ้นมาเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อโครงการที่หน่วยงานต่าง ๆ ขอมาก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติแล้วส่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อเบิกจ่ายเงินต่อไปตั้งแต่งวด 1 ส.ค. 2546 จนถึงขณะนี้ ปรากฏว่าได้นำรายได้ไปใช้จ่ายในโครงการที่ให้โอกาสด้านการศึกษาแก่เด็กโดยตรงเป็นเงินกว่า 7,800 ล้านบาทเช่น โครงการเขียนเรียงความเพื่อขอรับทุนการศึกษา (ประจำปี 2547) 928.1 ล้านบาท (ประจำปี 2548) 798.5 ล้านบาทเช่น โครงการทุนการศึกษาสำหรับลูกผู้มีรายได้น้อย 2,923.5 ล้านบาทเช่น โครงการทุนการศึกษาสำหรับลูกผู้ทำประโยชน์แก่สังคมและราชการ 843.6 ล้านบาทเช่น โครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน ซึ่งคัดเลือกเด็กนักเรียนอำเภอละ 1 คน ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ ประจำปีการศึกษา 2547 เป็นเงิน 682.9 ล้านบาท ประจำปีการศึกษา 2548 เป็นเงิน 773.9 ล้านบาท และให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก โรคเอดส์ และ เด็กพิการ กว่าแปดแสนคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษาอีกมากมาย หลายโครงการเมื่อ “หวยออนไลน์” เริ่มดำเนินการแน่นอนที่สุดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลย่อมมีรายได้เพิ่มขึ้นคำกล่าวของ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ที่ว่า จะนำรายได้ซึ่งได้จากการจำหน่ายสลาก กลับไปสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยผู้คนที่ยากจนและด้อยโอกาสจึง มีความสำคัญเป็นที่สุดทำให้ผู้ที่จะนำเงินไปซื้อสลากกินแบ่งหรือหวยไม่ว่าจะเห็นด้วยวิธีธรรมดาหรือวิธีออน ไลน์ เชื่อมั่นได้ว่า เงินที่นำไปเสี่ยงโชคนั้น มิได้สูญเสียไปไหน เพราะสำนักงานสลากฯ นำไปใช้ประโยชน์เพื่อคืนสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้การช่วยเหลือผู้ที่ยากจนและผู้ที่ด้อยโอกาสหลาย ๆ ครั้งเรามักจะมองว่าหวยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าเรามองให้เป็นกลางและมองอีกด้านหนึ่งของเหรียญหวยมีประโยชน์อยู่ไม่ น้อย นอกจากจะเป็นความหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเหล่าผู้ซื้อแล้ว หวยยังมีส่วนช่วยให้เกิดแสงสว่างแก่ผู้ที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เช่นกันเราได้เห็น สลากขายไม่เกินราคา ในสมัยที่ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเราได้เห็น สลากออนไลน์ เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์เป็นผู้อำนวยการฯและเราได้เห็นรายได้จากหวยถูกนำไปใช้ประโยชน์ อย่างเป็นระบบ ก็สมัยที่ พล.ต.ต. สุรสิทธิ์เป็นผู้อำนวยการฯ อีกเช่นกันจึงกล่าวได้ว่า พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ คือบุคคลที่น่าจับตามองที่สุด ณ เวลานี้ เพราะเป็น คนจริง และ นักพัฒนา ที่หาตัวจับได้ยากมากเชียร์กันตรง ๆ อย่างนี้แหละใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ.

บ่วงบาป "เด็กไทย"

เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของนโยบายเอื้ออาทรที่รัฐบาลชุดนี้ให้ แก่คนไทย เมื่อนักเรียนทุนหวยบนดินในโครงการ "หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน" ที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่เยอรมันและได้กระโดดตึกจนเสียชีวิต
มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริงๆ
น.ส.ณัฐชนน เมฆี อายุ 17 ปี ได้กระโดดตึกโรงพยาบาลในเยอรมัน ถึงแก่ความตาย หลังจากพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาแก้ปวดถึง 40 เม็ด แต่ไม่ตาย จึงถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุนั้นมาจากมีแรงกดดันรอบด้าน เนื่องจากอายุยังน้อยแต่ต้องจากบ้านไปอยู่เยอรมัน จึงคิดถึงบ้าน และต้องเรียนภาษาเยอรมันซึ่งไม่เคยเรียนมาก่อนและยาก ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แม้จะเคยเป็นเด็กเรียนดี มาก่อนก็ตาม
เจอปัญหาแบบนี้ ด้วยวัยเพียงแค่ 17 ปี และอยู่ต่างบ้านต่างเมืองใครก็ต้องคิดมาก อีกด้านหนึ่งคงจะคิดมาก หากเรียนไม่ไหวถูกส่งกลับอนาคตที่วาดฝันไว้ก็อาจพังทลาย พ่อแม่ก็คงจะผิดหวัง อายเพื่อน อายใครต่อใคร
เมื่อไม่มีทางเลือก ไม่มีทางออก จึงต้องตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง
นี่คือ 1 ในจำนวน 923 คน ที่ได้รับทุนหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน ที่รัฐบาลชุดนี้มีความปรารถนาดีที่จะทำให้เด็กไทยมีโอกาสได้ศึกษาต่อ ในระดับที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการได้แนะนำรัฐบาลว่าไม่ควรรีบร้อนส่งนักเรียนไปต่างประเทศ แต่ให้มีการเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน เพราะเกรงว่าเด็กจะมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติ
แต่ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครให้ความสนใจในประเด็นนี้
แน่นอนว่าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี เท่ากับเป็นการ "ต่อยอด" ให้กับเด็กไทยที่ด้อยโอกาสได้มีวาสนาเรียนต่อในระดับที่สูงกว่า และจะกลับมาช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลคิดแต่จะเดินหน้าลูกเดียว โดยไม่ได้พิจารณาในรายละเอียด
พูดง่ายๆ เรื่องนี้ "หาเสียง" ได้ และข้าราชการก็รีบสนองนโยบายทันอกทันใจ เพื่อให้นายกฯชื่นชอบ รัฐมนตรีชื่นชม
ว่าที่จริงแล้ว หากรัฐบาลไม่เร่งรีบจนเกินไป มีการเตรียมความพร้อม มีการเช็กความพร้อมในตัวเด็กอย่างละเอียด โดยเฉพาะหากได้เรียนภาษาต่างประเทศก่อนที่จะเดินทางไป ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นมาได้
ขณะเดียวกันก็ต้องมีทีมงานที่คอยติดตามดูแลสภาพความเป็นอยู่ ของเด็กที่ได้รับทุน ว่าอยู่กันอย่างไร มีปัญหาหรือแรงกดดันมากน้อยแค่ไหน
อยู่ๆก็ส่งไปเรียนแล้วปล่อย "ลอยแพ" ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ไม่มีใครดูแลให้คำปรึกษาหรือหาทางออกให้ กรณีนี้หากทราบเรื่องกันมาก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ก็คงจะหาทางแก้ไขด้วยการปลอบโยน ให้กำลังใจ หรือเห็นท่าไม่ไหวจริงๆจะได้ส่งกลับ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีนักเรียนทุนอีกจำนวนมากที่ยังถูกปล่อยเกาะมีทางเดียวกระทรวงศึกษาฯ ต้องเร่งตรวจสอบและดูแลให้ใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าในจำนวนนี้ คงมีนักเรียนที่เจอสภาพกดดันไม่ต่างกัน แต่ยังมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน แต่ไม่รู้ว่าจะทนกันไปได้สักแค่ไหน
ยิ่งฟังเสียงผู้รับผิดชอบของกระทรวงศึกษาฯยิ่งเศร้าใจเข้าไปอีกที่บอกว่า นักเรียนคนนี้มีปัญหาเรื่องการปรับตัว เพราะออกจากพื้นที่เป็นครั้งแรก แล้วทำไมถึงไม่เตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะส่งไป
คิดไว ทำไว จ่ายไว ว่ากันเฉพาะหน้า ซึ่งมันก็สะท้อนการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ออกนโยบายต่างๆเป็นรายวัน โดยเฉพาะโครงการเอื้ออาทรทั้งหลาย แต่ไม่ได้มีการติดตามและประเมินผลที่ออกมา เอาแต่ "เงิน" เป็นหลักเท่านั้น
อย่างกองทุนหมู่บ้านที่ให้กู้ยืมกันนั้นกำลังจะทำให้รัฐเสียเงินฟรี ประชาชีมีหนี้เพิ่ม
เป็นความปรารถนาดีที่อยู่ใน "บ่วงบาป".

กรณีศึกษาเงินกำไรจากหวย

กรณีศึกษาเงินกำไรจากหวย
คืนสู่สังคมหรือเอื้อประโยชน์การเมืองแน่ ?
สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสส.)
วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2548 เวลา 13.00 น.
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ตรงข้าม รพ. วชิระ
วิทยากร
รศ. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษา ฯ ผู้ทำวิจัยเรื่องเงินนอกระบบและธุรกิจการพนัน
ผู้แทนกระทรวงการคลัง
ผศ. ดร. ศิรินันท์ กิติสุขสถิตสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณวราฤทธิ์ พาณิชกิจโกศลกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณธีรชาติ ปางวิรุฬรักษ์ส.ส. จังหวัดชุมพร เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์
สังศิต"จี้ปฏิรูป"กม." เปิดข้อมูลใช้เงินหวย
"สังศิต"ชี้กองสลากฯมีปัญหาธรรมาภิบาล ผอ.ใกล้ชิดการเมือง มีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ จี้ปฏิรูป กม.ให้เปิดเผยข้อมูลการใช้เงินที่ได้จากการขายหวย
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดให้มีการเสวนาเรื่อง "กรณีศึกษาเงินกำไรจากหวย คืนสู่สังคมหรือเอื้อประโยชน์การเมืองแน่?" ขึ้นที่สมาคม ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงการคลังเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ด้วย แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ อดีตรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล(กองสลากฯ) ขณะนี้มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้อำนวยการกองสลากมีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง และส่วนของพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งใช้บังคับมานาน ก็เอื้อประโยชน์ให้กองสลากฯไม่ต้องนำส่งเงินกำไรให้รัฐ ทั้งนี้ รายได้ของกองสลากฯปัจจุบัน คาดว่ามีประมาณ 33,624-38,324 ล้านบาทต่อปี โดยมาจากสลากบำรุงการกุศลที่คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 4,224 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินกำไรจากหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว ที่เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 16 สิงหาคม 2546 เป็นต้นมา เฉลี่ยแล้วมีกำไรงวดละ 700-800 ล้านบาท จนถึงขณะนี้มีกำไรรวมประมาณ 29,400-33,600 ล้านบาท ซึ่งเงินที่นำมาไว้ที่กองสลากฯจะมีประมาณ 384 ล้านบาทต่อปี โดยผู้อำนวยการกองสลากฯสามารถเซ็นเช็คเบิกจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 3 แสนบาท และปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการหรือประธานบอร์ดกองสลากฯ มีอำนาจในการเซ็นครั้งละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งอาจจะมีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้
"การแต่งตั้งผู้อำนวยการกองสลากฯ มีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เพราะเป็นเพื่อนตำรวจรุ่นเดียวกับผู้มีอำนาจ ซึ่งช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรของกองสลากฯให้กับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองพรรคเดียวหรือไม่ การเปิดเผยข้อมูลตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ" นายสังศิตกล่าว
นายสังศิตกล่าวว่า นอกจากนี้นโยบายของกองสลากฯเน้นด้านการเมืองและธุรกิจมากขึ้น โดยขณะนี้จะมีการนำเครื่องออกสลากออนไลน์มาใช้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้าสลากเดิม ซึ่งเป็นคนพิการและคนยากจน การที่กองสลากฯมาแทรกแซงจะส่งผลกระทบต่อผู้ค้าสลากจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อสังคมได้ จึงอยากให้มีการพิจารณาปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองสลากฯให้มีการเปิดเผยข้อมูลในการใช้เงินที่ได้จากการขายหวยให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
ขณะที่นายธีรชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบการนำเงินจากกองสลากฯไปบริจาคให้กับวัดจังหวัดต่างๆ พบว่า มีการรั่วไหลมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการฉ้อโกง เข้าข่ายกฎหมายมาตรา 123 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคอีสาน ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนแสดงความจำนงเป็นผู้เสียหายร้องเรียนให้มีการดำเนินการกับนักการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้เงินของกองสลากฯมิฉะนั้นอาจเกิดเหตุการณ์วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
นายธีรชาติกล่าวว่า ทางกองสลากฯควรแก้ระเบียบในการให้ ส.ส.เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขอเงินของวัด ซึ่งในส่วนของการจ่ายเช็คให้วัดหรือสถานศึกษาควรให้หน่วยงานที่ดูแล เช่น กรมการศาสนา หรือกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามารับทราบด้วยว่าจำนวนเงินบริจาคเป็นเท่าใด เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ รวมทั้งอยากให้ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สื่อมวลชนและภาคประชาชนเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ได้รับการร้องเรียนว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวในอดีตหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ซึ่งที่จ.สุรินทร์ มีโรงเรียนบางแห่งโดนหักค่าหัวคิวในการนำเงินกองสลากฯมาบริจาคถึง 35%
นายวราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการคำนวณทางสถิติพบว่า ผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว จะประสบกับการขาดทุน หากซื้อสลาก 1 บาท จะขาดทุนในส่วนของสลากกินแบ่งประมาณ 40 สตางค์ เลขท้าย 2 ตัว ขาดทุน 35 สตางค์ เลขท้าย 3 ตัว ขาดทุนประมาณ 50 สตางค์ ซึ่งผู้ได้ผลประโยชน์ก็คือกองสลากฯ
นางศิรินันท์ กิตติสุขสถิต นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งวิจัยโครงการติดตามประเมินผลโครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน จากรายได้ส่วนเกินของการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ให้สัมภาษณ์ระบุไปในแนวทางเดียวกันว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดี เป็นการนำเงินของคนจนไปให้คนจน สร้างชีวิตใหม่ และขณะนี้ยังไม่พบว่ามีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องของการคัดเลือก แต่ในอนาคตต้องดูว่าการกระจายเงินไปสู่เด็กในแต่ละอำเภอจะมีความทั่วถึงมากน้อยเพียงใด และจะมีการใช้ประโยชน์จากเด็กนักเรียนที่ได้รับทุนจากโครงการมากน้อยเพียงใด
หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 พฤษภาคม 2548

1 อำเภอ 1 ทุนฉลุย ครม.พอใจผลการเรียนเด็ก

ครม.รับทราบผลประเมินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เผยผลประเมินฉลุยไร้ปัญหา ระบุนักเรียนส่วนใหญ่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี น่าพอใจ นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องโครงการการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) หรือโครงการ 1 อำเภอ 1ทุน ตามที่ ศธ.เสนอ โดยสรุปภาพรวมนักเรียนส่วนใหญ่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดี มีการปรับตัวที่ดีมาก นักเรียนที่เรียนในต่างประเทศได้รับคำชมเชยจากครูผู้สอนว่าเด็กไทยกลุ่มนี้มีพัฒนาการที่ดี ขยัน ส่วนนักเรียนที่เรียนในประเทศนั้นก็มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเช่นกัน สำหรับในกรณีที่นักเรียนทุนในประเทศมีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดนั้น จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลและหาแนวทางช่วยเหลือ โดยยึดหลักเมตตาธรรมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามตนได้มอบนโยบายให้นักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนในต่างประเทศกลับมาเยี่ยมบ้านปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย โดยดูช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้ด้วย สำหรับเรื่องโครงการฯ รุ่นที่ 2 นั้น ที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้มีการพูดถึงในรายละเอียด รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้นายกฯ ยังได้กล่าวในที่ประชุม ครม.ว่า ต้องการให้หน่วยงานของรัฐบาลใช้ที่ปรึกษาของคนไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยน่าจะมีการจัดตั้งทีมขึ้นเป็นคณะ และติดตามการทำงานของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรด้านบุคคล และฝึกฝนพัฒนาบุคลากรของไทยด้วย ซึ่งก็ถือเป็นสิ่งที่ดี โดยตนจะมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่าจะจัดการให้มีการจัดตั้งคณะอาจารย์ขึ้นมาเป็นทีมที่ปรึกษาอย่างไร เพราะมีงานหลายประเภททั้งวิทยาศาสตร์ สังคม เป็นต้น เพราะหากว่าไปแล้วหัวหน้าทีมก็จะเป็นบริษัทต่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดก็จ้างคนไทยเป็นผู้ดำเนินการอยู่ดี

1 ปี 1 ทุน 1 อำเภอ เงินออกล่าช้าสร้างหนี้นอกระบบ

ผ่านไปปีกว่าแล้วสำหรับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ฐานะยากจน และมีความประพฤติดี จากทุกอำเภอและทุกกิ่งอำเภอทั่วประเทศแห่งละ 1 คนได้มีโอกาสให้ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
นักเรียนทั้งสิ้น 926 คนที่ได้รับทุนการศึกษาดังกล่าว ให้ได้เรียนต่อต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีทั้งต่อตัวเด็กเองและระบบการศึกษาไทย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า 1 ในเด็ก 926 คนนี้ เคยมีปัญหาหนักถึงขนาดฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถเข้ากับสังคมต่างประเทศได้ หลังจากนั้นหลายหน่วยงานได้มีความพยายามเข้าไปดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทั้งที่เรียนอยู่ในประเทศและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม ที่ผ่านมาทางสำนักงานการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้จัด “ค่ายนักเรียนทุนรัฐบาลตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนที่เลือกศึกษาต่อในประเทศ” เพื่อให้เหล่านักเรียนทุนได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ พูดคุย สร้างเครือข่ายอันดีระหว่างกัน และรับทราบปัญหาจากปากของเด็กๆ โดยตรง ในงานดังกล่าวจึงมีทั้งกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ ด้วยกันเอง และเปิดโอกาสให้เด็กได้ถ่ายทอดปัญหาให้ ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รับฟังด้วยบรรยากาศสบายๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน มาลองฟังความเห็น ปัญหา และความเป็นไปของเด็กทุนในประเทศว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาเข้าต้องประสบปัญหาใดบ้าง และเขารู้สึกอย่างไรกับโครงการนี้ สุภาพร ปองแพทย์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนทุนจาก จ.แพร่ บอกปัญหาที่พบว่า ปัญหาหลักๆ คือเงินทุนการศึกษาที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นค่าใช้จ่ายประจำออกค่อนข้างช้า ทำให้ต้องนำเงินส่วนตัวออกไปใช้ก่อน ซึ่งกว่าทุนจะออกก็ใกล้จะปิดเทอมเต็มที ขณะที่ระบบการลงทะเบียนของจุฬาฯ ต้องจ่ายเงินก่อน ไม่สามารถขอผ่อนผันได้ จึงทำให้ค่อนข้างจะเดือดร้อน “เพื่อนคนอื่นที่เป็นนักเรียนทุนของจุฬาฯ ปกติจะมีเขียนในใบลงทะเบียนว่า เป็นนักเรียนทุนและไม่ต้องจ่ายค่าเทอม แต่ในส่วนของนักเรียน 1 ทุน 1 อำเภอ ไม่มี ซึ่งควรจะมีการประสานงานกันให้ดีๆ จะได้ไม่มีปัญหาอีกค่ะ”
สำหรับชีวิตหลังจากการรับทุนนั้น สุภาพร บอกว่า “ดีค่ะ รู้สึกขอบคุณที่เราได้ทุนนี้ เพราะช่วยเหลือเราได้มากในเรื่องการเรียน ถึงแม้ทุนจะออกช้า แต่ก็แบ่งเบาพ่อแม่ได้ ทำให้เขาไม่ต้องกังวลมาก แล้วเราก็พยายามเรียนอย่างเต็มที่ให้มากที่สุดค่ะ” ศรายุทธ ตันมี หรือ มิ้น นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยสุรนารี นักเรียนทุนจากอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ให้ความเห็นว่า โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ให้โอกาสทางการศึกษาแก่หลายๆคน แต่ก็มีปัญหาเหมือนเพื่อนๆ คือ ทุนออกช้า ขณะที่นักศึกษาต้องมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าหนังสือ ค่าหอพัก ทำให้พ่อแม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาทำให้เป็นหนี้ เป็นสิน นอกจากนี้มิ้นบอกผลของการติดหนี้สินว่า “ดอกเบี้ยมันก็เยอะครับ ถึงแม้ว่าทุนจะออกแล้วก็ใช้ว่าหนี้จะหลุด เพราะพอส่งเงินให้พ่อแม่เขาก็เอาไปใช้หนี้บ้าง เก็บเงินให้เราบ้าง ไปทำอย่างอื่นบ้าง ทำให้พ่อกับแม่ยังเป็นหนี้อยู่” สำหรับความกดดันในการเรียน มิ้นบอกว่ามีอยู่บ้างแต่ก็ไม่มาก เพราะตั้งใจเรียนและเกรดเฉลี่ยค่อนข้างดี ถึง 3 กว่าๆ “เราค่อนข้างมีความสุขในการเรียน เรื่องทุนแม้จะช้า แต่ก็ให้แน่นอน”
สำหรับความคิดในอนาคตนั้นมิ้นอยากจะเรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ถ้าเป็นไปได้อยากจะเรียนต่อ โดยการสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ และหากสามารถไปเรียนต่อเมืองนอกได้จริงยังไงก็จะกลับมาทำงานในเมืองไทยอย่างแน่นอนครับ”
ด้านนายสุพรชัย เจียมโมปกรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรม ภาควิชาเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักเรียนทุนจากอำเภอพระประแดง สมุทรปราการ กล่าวว่า เรื่องทุนออกช้านั้น จะมีเจ้าหน้าที่คอยมาสอบถามอยู่เสมอว่า เงินพอใช้หรือไม่ ส่วนความคาดหวังในการเรียนยอมรับว่ากดดันบ้าง แต่ไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่นักเรียนทุนจะเครียดเรื่องเกรดกันเองมากกว่า ซึ่งแม้ว่าพ่อแม่และเจ้าหน้าที่จะคาดหวังกับพวกตนไว้สูง แต่ก็จะม่ได้เข้ามากดดันอะไรมาก เนื่องจากต่างเข้าใจดีว่าการเรียนไม่ใช่ง่ายๆ” สำหรับการเรียนในอนาคตนั้นสุพรชัยบอกกับเราว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะขอทุนเรียนต่อเช่นกันและไม่ว่าจะได้เรียนต่อในหรือต่างประเทศ เราก็จะกลับมาทำงานในเมืองไทยแน่นอน “ตรงนี้ผมเต็มใจ ผมใช้เงินประเทศมาเล่าเรียน ผมก็ต้องทำงานให้ประเทศให้เต็มที่เช่นเดียวกัน” ด้าน ดร.อดิศัย ได้พูดถึงปัญหาเรื่องทุนการศึกษาออกล่าช้าว่า เกิดจากการประสานงาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ โดยทางกระทรวงฯ จะจัดการให้มีการโอนเงินไปที่บัญชีของเด็กโดยตรง ไม่ต้องผ่านมหาวิทยาลัย ทำให้เด็กๆได้รับเงินทุนในวันที่ 1 ของเดือนทุกวัน “ผลโครงการนี้ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ เราพบว่าเด็กนักเรียนในไทย ร้อยละ 50 ได้เกรดมากกว่า 3 ร้อยละ 80 ได้เกรดมากกว่า 2.5 นักเรียนทุกคนมีพฤติกรรมดี ขยันเรียน มีเพียง 9 คนที่ได้เกรดต่ำกว่า 2 ซึ่งเราก็เข้าไปคุยว่ามีปัญหาอะไร เพราะเชื่อว่าทุกคนมีพื้นฐานเรียนเก่ง ส่วนเด็กที่อาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพ ตรงนี้ต้องดูแลเป็นรายคนไป” นายอดิศัยกล่าว นี้เป็นอีกมุมหนึ่งของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่เป็นการรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ระหว่างเด็ก องค์กรรัฐ และรัฐมนตรีที่ก็เข้ามาร่วมพูดคุยด้วย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นทางสู่การแก้ปัญหาของเด็กทุนไม่ให้พวกเขาต้องเคว้งคว้างและหาทางออกไม่เจอ...อย่างที่เคยเป็นมา

เด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน ไม่ไหว กลับบ้านอีกชุด เพราะคิดถึงบ้าน

เด็ก 1 อำเภอ 1 ทุนขอกลับไทย 9 คนเหตุปัญหาสุขภาพและคิดถึงบ้าน ประสาน สกอ.ให้หามหาวิทยาลัยให้เด็กเรียนต่อ ส่วนเด็กที่ผลการเรียนต่ำให้คณะกรรมการฯ ไปขอสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลสาเหตุผลการเรียนตก แต่ยันไม่มีการตัดทุน ส่วนรุ่น 2 ต้องรอไปก่อน ด้านม.มหิดลเก็บข้อมูลเด็กทุนเผยอาจารย์ต่างชาติชื่นชมเด็กไทยเก่งและขวนขวายดี ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) หรือ โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการที่ศึกษาอยู่ในประเทศและต่างประเทศ พบว่าผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะเด็กทุกคนต่างมีขวัญและกำลังใจดีมาก ขณะนี้มีเด็กนักเรียน 2 คนที่สามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของฝรั่งเศส และเนเธอแลนด์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์และธุรกิจได้แล้ว อย่างไรก็ตามมีเด็กที่ขอกลับมาเรียนในประเทศ จำนวน 9 คน จากประเทศอินเดีย 3 คน, เยอรมัน 2 คน , เนเธอแลนด์ 2 คน , จีนและฝรั่งเศสประเทศละ 1 คน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องส่วนตัว เกี่ยวกับสุขภาพ และบางคนก็อยากกลับมาเรียนให้ทันเปิดเทอมที่ประเทศไทย รวมทั้งคิดถึงบ้าน ซึ่งในจำนวน 9 คนที่กลับมาเรียนต่อในประเทศไทยนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะประสานจัดหามหาวิทยาลัยให้แก่นักเรียน “สำหรับผลการดำเนินนักเรียนที่ศึกษาในประเทศไทยนั้นก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉลี่ย มีเด็กที่เรียนได้เกรดเฉลี่ย 3.5 ประมาณ 25% 3.00 ขึ้นไปมีประมาณ 50% , และได้เกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไปมีประมาณ 80% โดยรวมแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีเด็กประมาณ 1% เท่านั้นที่เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.00 ประมาณ 9 คน โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ไปสัมภาษณ์กับเด็กเป็นรายบุคคลว่ามีปัญหาอย่างไร เพื่อหาทางแก้ไขและผลักดันให้เด็กได้เรียนต่อจนจบ โดยจะไม่มีการตัดสิทธิ์ทุนการศึกษาแก่เด็ก” รมว.ศธ.กล่าว รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนปัญหาการจ่ายเงินให้เด็กช้านั้น เนื่องจาก สกอ.มอบให้มหาวิทยาลัยไปจ่ายแทนเป็นราย 6 เดือน 2 ครั้ง คณะกรรมการฯ จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยส่งค่าใช้จ่ายมายัง สกอ.เพื่อให้ทาง สกอ.โอนเงินเข้าบัญชีให้เด็กในทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน ส่วนการดำเนินการรุ่นที่ 2 นั้นยังไม่ได้มีการหารือ โดยพิจารณาผลจากรุ่นนี้ก่อน นอกจากนี้ในวันที่ 4-6 จะมีการจัดค่ายสำหรับเด็กทุนที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ การแก้ปัญหาและสร้างความผูกพันในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วย รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะวิจัยเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลลวิจัยเบื้องต้นนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ในประเทศญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมัน พบว่าเด็กมีความตั้งใจเรียนสูงมากและปรับตัวได้ค่อนข้างดี รวมทั้งพยายามขวนขวายหาความรู้ พร้อมทั้งพยายามศึกษาเรื่องของวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ อย่างดี ซึ่งเท่าที่ดูแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไรที่น่าเป็นห่วง ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาเรียนในต่างประเทศ ดังนั้น จึงได้พยายามใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามอาจารย์ในต่างประเทศได้ให้คำแนะนำว่าเด็กที่เข้าร่วมโครงการนั้นควรจะมีการเตรียมตัวเรื่องของภาษาในระยะหนึ่งก่อน ในส่วนของนักเรียนได้เสนอให้จัดปฐมนิเทศเพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเดินทางจริง ทั้งนี้ คณะทำงานจะดำเนินการรวบรวมผลวิจัยให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้

นักเรียนทุน ODOS ที่ข้าพเจ้ารู้จัก(จบ)

เท่าที่ผู้เขียนรู้จัก น้องๆทุนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กดีน่ารัก และมีความพยายาม ตั้งใจเรียน ซึ่งผลการเรียนที่ออกมาก็เป็นที่ยอมรับได้ ส่วนใหญ่สอบผ่านตามเกณฑ์ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยกำหนดไว้สำหรับการเข้าเรียนต่อ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ก็มีอีกหลายแง่มุมที่ผู้เขียนประทับใจ เช่นมีน้องคนหนึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เลย เพราะว่าสัญญากับแม่ไว้ แม้ผู้เขียนจะบอกว่าดื่มเสียบ้างก็ได้ เพราะธรรมเนียมฝรั่งเศส บางครั้งเราต้องดื่มไวน์หรือแชมเปญบ้าง หรือบางคนหน้าตาดีหน่อยมีฝรั่งมาจีบ ก็สามารถออกตัวได้สวยจนเป็นเพื่อนกันไป ซึ่งนี่คือความเป็น “ไทย” ที่น่ารักของเด็กผู้หญิงที่หาไม่ค่อยได้ในชาติอื่น การปรับตัวกับภาษาและวัฒนธรรมก็ไม่มีปัญหา น้องๆส่วนใหญ่พูดจาสื่อสารได้ดีมาก ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนไม่รู้วิธีคัดเด็ก แต่ยอมรับว่าเด็กที่ได้พบ ส่วนใหญ่จะมีความสามารถดีๆแฝงอยู่มาก ในการพูดจา ก็รู้สึกได้ไม่ยากว่าเด็กพวกนี้เป็นเด็ก “ฉลาด” ที่ถ้าให้การสนับสนุนอย่างดีเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยน่าจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากลับไปแน่ๆ ส่วนท่านที่มองเห็นแต่พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็ก เจอเด็กก้าวร้าวบ้าง ชอบเที่ยวบ้าง หรือชอบคุยเรื่องหาแฟน อะไรต่างๆนั้น นอกจากคำแนะนำว่าขอให้มองโลกในด้านดี (ซึ่งดีต่อท่านเอง) บ้างแล้ว ผู้เขียนอยากให้มองย้อนกลับไปว่า เมื่อคุณอายุ 18-20 ปี คุณทำอะไรอยู่ที่ไหน ? คุณทำอะไรบ้างในช่วงชีวิตนั้น สิ่งที่น้องๆเขากำลังพบ คือชีวิตวัยรุ่นในต่างแดน ที่ต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง ทั้งในเรื่องการเรียน และเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องการเงิน เรื่องส่วนตัว รวมทั้งเรื่องทางบ้านที่ประเทศไทยด้วย จะอย่างไรก็ตาม กับความรับผิดชอบทั้งหลายทั้งแหล่นี้ ชีวิตของน้องๆเขาไม่ได้สนุกอะไรขนาดนั้น หากเทียบกับชีวิตวัยรุ่นที่หลายๆคนได้ผ่าน ชีวิตในมหาวิทยาลัย ที่ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากนั่งรถเมล์ (หรือบางคนมีรถขับ) ไปเรียนหนังสือ จีบสาว เล่นเน็ต เที่ยวเทคตอนกลางคืนแล้วตื่นมาเรียนตอนเช้า ฯลฯ สำหรับเรื่องการเตรียมตัว เตรียมพร้อมให้น้องๆนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ทางภาครัฐผู้รับผิดชอบนั้นทำได้อย่างดีแล้ว แต่ก็ดีเท่าที่ได้ เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ไม่มีคำว่าพร้อมสำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะให้ภาษาดีแค่ไหน หรือทำใจได้อย่างไร แต่เมื่อไปพบกับภาษาที่เจ้าของภาษาใช้ ภาษาหนังสือ ภาษาวิชาการอย่างเต็มรูปแบบ วัฒนธรรมที่แปลกออกไป ความเหงา หรืออาจจะไปเจอผู้คนที่ไม่เป็นมิตร และดินฟ้าอากาศที่ต่างจากบ้านเรา มันก็สามารถบั่นทอนสภาพจิตใจลงได้ทั้งสิ้น ผู้เขียนยังไม่เจอใครที่ใช้ชีวิตในช่วงแรกๆอย่างไปฉิวลิ่วตลอดในการไปเรียนต่อต่างประเทศครั้งแรก แต่กระนั้นก็ตาม รัฐบาลไทยได้วางแผนในการเตรียมพร้อมให้นักเรียนทุน ODOS ค่อนข้างดี สำหรับในฝรั่งเศสนั้น นักเรียนทุกคนจะได้เรียนภาษาและปรับตัวร่วมกันก่อนสองเดือนแรกที่เมือง Tours จากนั้นก็จะส่งไปเรียนภาษาจริงๆจังๆ กระจายกันไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เช่น Rouen, Grenoble หรือ Vichy นอกจากนี้ในเมืองที่ผู้เขียนอยู่ (เมืองอื่นจะจัดให้หรือไม่ไม่แน่ใจ) แม้เขาจะจัดให้น้องๆทุกคนอยู่หอพักนักเรียนร่วมกัน แต่ทุกๆคนจะมี “ครอบครัวอุปถัมภ์” (Une famille d’accueil) ชาวฝรั่งเศสคอยดูแล ให้คำปรึกษา พาไปเที่ยว พาไปกินอาหารร่วมกันในวันหยุดอยู่เสมอๆ ทำให้น้องๆไม่เหงาจนเกินไป และได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบฝรั่งเศส รวมทั้งได้ฝึกพูดในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเด็กไทยเราน่ารัก แต่ผู้เขียนได้เห็นครอบครัวอุปถัมภ์บางครอบครัว ดูแลน้องๆเหล่านี้อย่างดีมากจนผู้เขียนรู้สึกได้ว่าบางครั้งมันอาจจะเป็นความรักความผูกพันจริงๆ มิใช่การทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับการติดต่อไว้ การเตรียมตัวสำหรับนักเรียนเท่าที่ “ผู้อื่น” จะช่วยดำเนินการให้ได้นั้นก็น่าจะมีเพียงเท่านี้ เพราะนอกเหนือจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมด้านจิตใจนั้น มันเป็นเรื่องอัตวิสัยที่ยากจะมีใครช่วยได้ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่ไหว ไม่ว่าจะเพราะปัญหาสุขภาพ หรือสภาวะจิตใจก็ได้ มันก็อาจจะต้องยอมรับว่าไม่ไหวจริงๆ ก็กลับมาตั้งหลักก่อนดีกว่า ดังที่มีข่าวว่ามีนักเรียนขอกลับบ้านแล้ว 5 - 6 ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า เป็นจำนวนของนักเรียนในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือทั้งโลก แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก ถ้าเทียบกับจำนวนทั้งหมดเป็นร้อยๆคนในแต่ละประเทศ กว่าพันห้าร้อยคนของทั้งหมด ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักเรียนทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนรัฐบาลใด หรือของเอกชนก็ตาม ล้วนแต่เคยมีกรณีที่มีปัญหาต้องกลับบ้าน ทั้งปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยกันทั้งสิน ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเครียด ความเศร้า และปัญหาต่างๆที่คุกคามนักเรียนทุนโดยไม่จำกัดแหล่งเงิน ระดับสติปัญญา หรือ อายุแล้ว หากคิดตามอัตราส่วนอย่างยุติธรรมแล้วคงไม่แตกต่างกันกับกรณีน้องๆมากนัก อย่างน้อยการกลับบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการตัดสินใจจบชีวิต อย่างกรณีของน้องชมพู่เมื่อปีที่แล้ว ที่ถือเป็นเรื่องเศร้าที่สุดที่โครงการนี้ต้องบันทึกไว้ แม้เราจะตอบไม่ได้ว่า อะไรทำให้น้องตัดสินใจเช่นนั้น แต่เราเชื่อกันว่า หากมี “ใคร” สักคนที่น้องเขาสามารถพูดคุยได้ ให้คำแนะนำหรือปลอบโยน บางครั้ง... เหตุการณ์เช่นนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันขึ้น โดยอาศัยว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในต่างประเทศกันมาหลายประเทศ และหลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว หลายคนก็ยังเรียนอยู่ เราเชื่อกันว่า อย่างน้อยเรายังมีคำแนะนำดีๆ หรือคำปรึกษาที่พอฟังได้ ให้แก่ทุกคนที่กำลังผจญภัยอยู่นอกบ้านเกิดเมืองนอน เสมือนนกน้อยบนสายไฟ นี่เองทำให้ก่อเกิดกลุ่ม “Birds on wire” ในรูปแบบของกลุ่มภราดรที่ไม่หวังผลกำไรหรือการตอบแทน แต่พร้อมที่จะแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือพูดคุยกับ “นก” สัญชาติไทยทุกตัวในโลกใบนี้ เพื่อให้มีแรงบินต่อไปได้ สู่จุดหมายของตนทั่วไป ซึ่งนักเรียนไทยในต่างแดนทุกคน โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นใหม่ ไม่จำกัดว่าจะไปเรียนต่อต่างแดนด้วยจุดประสงค์ หรือทุนใด หากสนใจ สามารถเข้ามา “เกาะสายไฟ” ได้ที่ http://www.birdsonwire.org ซึ่งมีผู้มีประสบการณ์ในการศึกษาต่อเกือบทุกประเทศที่คนไทยนิยมไปศึกษาอยู่คอยรับผิดชอบ รวมทั้งผู้จัดทำบางส่วนที่ยังเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นอีกด้วย สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากจะกล่าวว่า โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เป็นทางออกที่สวยงามในการใช้เงินจากหวยบนดิน จากคนที่หวังรวย มาสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนกลุ่มหนึ่ง ได้มาศึกษาต่อต่างประเทศ แม้ผลลัพท์ของโครงการนี้จะต้องรอลุ้นไปอีกสี่ปี แต่ในวันนี้ ก็ถือเป็น “โอกาส” ในการมาเรียนต่อเมืองนอกที่กระจายลงไปในระดับจุลภาค ที่เป็นโอกาสที่ดี ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยให้ หรือคิดจะให้ ที่ผ่านมา “ทุน” เป็นของมนุษย์ครีมของประเทศเท่านั้น แต่เราอาจจะลืมไปว่า เค้กที่อร่อยใช่จะอยู่ที่ครีมเท่านั้น ยังต้องประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล ไข่ไก่ หรือแม้แต่เกลือ ดังเช่นภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า ใช่แต่ดอกซากุระเท่านั้นที่งดงาม แต่ดอกไม้อื่นก็น่ารักในแบบของเธอเอง.

นักเรียนทุน ODOS ที่ข้าพเจ้ารู้จัก(1)

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้พบข่าวเล็กๆข่าวหนึ่ง ซ่อนอยู่ในเซ็คชันการศึกษา ของเวบ manager.co.th ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ข่าวสลักสำคัญนัก เนื่องจากเป็นเหมือนกับ “รายงาน” ความคืบหน้าของโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งทุน” ที่ส่งนักเรียนไทยที่เรียนดีในแต่ละอำเภอไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ “ความเห็น” ที่มีการต่อสู้กันดุเดือดในข่าวนั้น หากใครเพียงอ่านความเห็นต่างๆดังว่า ก็อาจจะคิดว่าโครงการนี้ช่างมีปัญหาเสียเต็มประดามี ทั้งในด้านระบบการบริหารจัดการ รวมทั้งตัวของนักเรียนเองด้วย ซึ่งข้อมูลหลายอย่างที่ “ผู้บอกเล่า” ได้นำไปเปิดเผย (หรือภาษาบ้านๆ คือ “แฉ”) ไว้ หลายอย่างก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไรนัก ทั้งนี้เอง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอยากจะบอกเล่าความรู้สึกบางอย่าง ในบางแง่มุมให้ฟังกัน เป็นแง่มุมที่ผู้เขียนได้สัมผัสมาโดยตรง ในฐานะของ “พยาน” คนหนึ่ง แต่จะเป็นพยานโจทก์ พยานจำเลย ก็ขอให้ผู้อ่านได้โปรดตัดสินเองเถิด ในขณะนี้ผู้เขียนได้มาเรียนภาษาฝรั่งเศส อยู่ที่โรงเรียนภาษาที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในเมืองเล็กๆทางภาคกลางของประเทศฝรั่งเศส และเพราะเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้ “สัมผัส” กับเด็กไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนของรัฐบาลหรือทุน (ODOS = One District One Scholarship) หรือที่หลายๆคนเรียกกันว่า “นักเรียนทุนหวย” เพราะอย่างที่ทราบกันแล้วว่า ทุนนี้นำเงินมาจากกำไรของการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบของสลากกินแบ่งชนิดสองตัวและสามตัว หรือหวยบนดิน ซึ่งกำไรต่องวดรวมๆแล้ว มากมายเอาไปทำอะไรหลายๆอย่างเหมือนในโฆษณา รวมทั้งการส่งนักเรียนเรียนดีระดับอำเภอจำนวนกว่าพันห้าร้อยคนทั่วโลก มาเรียนต่อในประเทศต่างๆนี่ก็ด้วย ในเมือง และในโรงเรียนที่ผู้เขียนอยู่ มีนักเรียนไทยทั้งสิ้น 26 คน รวมผู้เขียนเข้าด้วยแล้ว และผู้เขียนได้เรียนร่วมชั้น และทำกิจกรรมหลายๆอย่าง ร่วมกับน้องๆกลุ่มนี้ น้องๆกลุ่มนี้ มาจากหลากหลายจังหวัด จากทุกภาคของประเทศไทย ได้รับค่าใช้จ่ายประมาณ เดือนละ 670 ยูโร (ประมาณ 33,500 บาท) อาจจะดูมากเมื่อแปลงเป็นเงินบาท แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพของประเทศฝรั่งเศสแล้ว ไม่ถือว่ามาก เพราะรายได้ขั้นต่ำของชาวฝรั่งเศสก็ตกประมาณหนึ่งพันยูโรต่อเดือนแล้ว สิทธิพิเศษของน้องๆทุนนี้ นอกจากเงินเดือนซึ่งจ่ายทุกๆสามเดือนแล้ว ก็มีค่าเล่าเรียนที่ทางรัฐบาลจ่ายให้ทางโรงเรียน เงินค่าเดินทางบางส่วน หากจะต้องมีการเดินทางไปประชุมร่วมกันนานๆครั้ง เพียงเท่านี้ โดยไม่มีอะไรอย่างที่หลายๆคน “เชื่อ” และพูดกันที่ลือกันว่ามีการให้เงินค่าตั๋วเครื่องบินกลับบ้านนั้นก็ไม่เห็นจะจริง เพราะน้องๆที่อยากจะกลับบ้านในช่วงรอเปิดเทอมปีการศึกษาหน้า ต้องเก็บหอมรอมริบค่าตั๋วเครื่องบินเอง ซึ่งแล้วแต่ความเฮงความซวยของแต่ละคนในการเสิร์ชหาตั๋วเครื่องบินที่ราคาดีที่สุดจากเน็ต ค่าเครื่องบินมีตั้งแต่ 700 – 1,000 ยูโร (ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าท่านผู้แฉไปเข้าใจสับสนปนข้อเท็จจริงเอากับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสหรือ BGF ที่ออกค่าตั๋วให้ในกรณีที่กลับไปหาข้อมูลในเมืองไทยในขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์) น้องๆต้องประหยัดจากค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่าอาหาร ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวของน้องๆเอง แต่จุดที่น้องๆเสียเปรียบนักเรียนทุนอื่น เช่นทุน BGF คือ น้องๆต้องกินอาหารในโรงอาหารราคาแพงกว่านักเรียนทุน BGF คือมื้อละ 4 ยูโร ในขณะที่นักเรียนทุน BGF จ่ายเพียง 2.7 ยูโรเท่านั้น น้องๆที่ผู้เขียนรู้จัก ใช้ชีวิตกันอย่างสมฐานะตามสภาพ ไม่ถึงกับอดอยาก แต่ก็ไม่ได้อยู่อย่างหรูหรา แม้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า เด็กๆพวกนี้มีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ราคาแพงใช้กัน แต่ “เสียงลือ” นั้นคงไม่ทราบ หรืออาจจะทำเป็นไม่ทราบว่า ที่ประเทศฝรั่งเศส (หรือหลายประเทศในยุโรป) นั้น การทำสัญญาใช้โทรศัพท์มือถือกับบริษัทผู้ให้บริการนั้น เรามีสิทธิ์ซื้อโทรศัพท์มือถือในราคาถูกเหลือเชื่อ เครื่องละร้อยสองร้อยบาทไทยเท่านั้นเอง จะเอารุ่นใหม่สุดยอดแค่ไหนก็ได้... แล้วแต่โปรโมชัน หรืออย่างเรื่องกล้องถ่ายรูป ที่มีการกล่าวกันว่า เด็กๆพวกนี้ใช้กล้องดิจิตอลยี่ห้อดัง รุ่นใหม่ราคาแพง แต่จากในงานชุมนุมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ตูลูสเมื่อปีกลาย ผู้เขียนก็ได้เห็นว่ากล้องที่น้องๆเขาใช้กันนั้นก็เป็นกล้องดิจิตอลแบบธรรมดาๆ ตัวเล็กๆพกพาสะดวกทั้งนั้น ซึ่งเป็นกล้องระดับกลางที่ราคาไม่สูงนัก และความที่เป็นกล้องดิจิตอล ก็จะช่วยประหยัดในระยะยาวได้มากกว่า ทั้งค่าฟิลม์และค่าล้างอัด ไม่มีใครใช้กล้องหรูๆ ราคาครึ่งแสน หรือกล้อง D-SRL ประมาณพวก S2 Pro, D70 หรือ EOS 300 D กันหรอกครับ แต่เรื่องอย่างคอมพิวเตอร์นี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะคอมพิวเตอร์รวมถึงโน๊ตบุ๊คในฝรั่งเศสราคาแพงมากๆ ระดับพอใช้งานพิมพ์หรือใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น ราคาก็ไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาทไทยแล้ว จะเอาถูกกว่านี้ก็ได้ แต่ต้องเป็นเครื่องตั้งโต๊ะ ซึ่งก็ไม่สะดวกหากต้องขนย้ายไปไหนไกลๆ แต่ถ้าจะเอาที่มีฟังก์ชั่นครบ เช่น WIFI หรือใช้โปรเซสเซอร์อินเทลเซนทริโน มีแรมไม่ต่ำกว่า 512 Mb อ่านเขียน CD และ DVD ได้ ราคาก็เกือบแสน (พันห้าร้อยยูโรขึ้นไป ในขณะที่เมืองไทยประมาณห้าหมื่นกว่าบาทเท่านั้น) อย่างที่เขาว่ากันนั้นก็ใช่ แต่นั่นคือโน๊ตบุ๊คระดับ “พอใช้งาน” สำหรับคนที่จะต้องเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือจะต้องใช้ประโยชน์ด้านกราฟฟิก การออกแบบหรือการประมวลผลทางคณิตศาสตร์ด้วย ซึ่งของแบบนี้ ซื้อทั้งทีมันก็ควรจะซื้อให้พอสมควรต่อการใช้งานไปเลย ผู้เขียนอยากจะขอให้ผู้ที่ติติงในสามเรื่องดังกล่าว (รวมทั้งเรื่องตั๋วเครื่องบิน ที่ไม่เห็นจริงดังว่า) เติมความ “เมตตา” ลงไปในจิตใจเสียสักนิดหน่อยเพื่อชูความเป็นมนุษย์ให้คงเหลือมากขึ้น มีใครบ้างที่ไปต่างประเทศโดยไม่มีแม้แต่กล้องถ่ายรูป ? เราจะเรียนหนังสือในสมัยนี้ได้อย่างไรหากไม่มีคอมพิวเตอร์ ส่วนโทรศัพท์มือถือก็เป็นของใช้ประจำวันของมนุษย์ยุคนี้ไปแล้ว และโปรโมชั่นที่นี่ กับโทรศัพท์ที่ได้ ก็ไม่ถือว่าแพงหรือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินไปนัก ในประเด็นที่ว่า น้องๆทุนเหล่านี้เมื่อจบไปไม่ต้องใช้ทุน เหมือนทุนรัฐบาลไทย หรือรัฐบาลต่างประเทศนั้น ขอให้เรานึกถึงความเป็นจริงกันนิดหนึ่งว่า ทุนรัฐบาลไทยก็ดี รัฐบาลต่างประเทศก็ดี เป็นทุนเพื่อสร้าง “ข้าราชการ” ปัจจุบัน หรือข้าราชการในอนาคต หรือแม้แต่ทุนของหน่วยงานเอกชน ก็มีไว้เพื่อสร้างพนักงานขององค์กรนั้น นั่นหมายถึงว่าผู้รับทุนดังกล่าว เมื่อกลับไปเมืองไทย จะได้ทำงานราชการทันที หรือกลับไปรับตำแหน่งเดิมของตัวเองได้ หรือมีงานทำเป็นการันตีรออยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกลับไป คุณก็ต้องไปทำงานให้สมเจตนาของการให้ทุนรับทุน ในขณะที่น้องๆกลุ่มนี้ ไม่มีข้อได้เปรียบตรงนี้รองรับ เมื่อเขากลับประเทศ เขาต้องหางานทำเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะให้เขาทำสัญญาผูกพันกับใครเล่า ? หรือถ้าจะทำสัญญาให้น้องๆต้องกลับไปรับราชการทั้งหมด ก็กรุณาเตรียมตำแหน่งงานประมาณหนึ่งพันห้าร้อยตำแหน่งไว้ด้วยในอีกประมาณสี่ปีข้างหน้า แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าความผูกพันของทุนนี้ ยังบังคับว่าจะต้องกลับไปทำงานในประเทศไทยอยู่นั่นเอง แต่จะเป็นงานไหนเป็นปัญหาในอนาคตที่น้องๆต้องเผชิญ ซึ่งในประเด็นการใช้ทุนไม่ใช้ทุนนี้ ผู้เขียนมองว่าเป็น “ข้อเสียเปรียบ” อย่างร้ายแรงของน้องๆทุน ODOS มากกว่าจะเป็นข้อได้เปรียบที่คนจะเอามาโจมตีกัน (อ่านต่อตอนจบวันพรุ่งนี้)

เด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน ขอกลับประเทศแล้ว 5 ราย หลังมีปัญหาอื้อ

เด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน เริ่มทยอยขอกลับประเทศแล้ว 5 ราย สกอ.เตรียมมาตรการรองรับคาดอาจจะมีทยอยกลับเพิ่ม พร้อมเตรียมกำหนดระบบดูแลเด็กทุนตามโครงการดังกล่าวให้ชัดเจน ส่วนเด็กทุนที่เรียนในประเทศไทยขอให้มหาวิทยาลัยจัดอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลพิเศษ และให้จ่ายเงินตรงเวลาเพื่อไม่ให้เด็กมีปัญหาค่าใช้จ่ายถกกลางที่ประชุมเป็นโครงการเพื่อการเมืองระบบคัดเลือกไม่โปร่งใสและไม่ตรงเป้าหมาย ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงการดำเนินการการโครงการทุนการศึกษาต่อของนักศึกษาจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี) ที่ศึกษาต่อในประเทศ ว่า ได้เชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ดูแลนิสิต นักศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุนอยู่มาชี้แจงทำความเข้าใจและประสานงานในการดูแลนักเรียนกลุ่มดังกล่าว โดยมีนักเรียน 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ศึกษาต่อในประเทศไทย จำนวน 183 คน กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากทุนดังกล่าวเป็นลักษณะพิเศษโดยมีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นแหล่งทุนซึ่งไม่คุ้นเคยกับการให้ทุนการศึกษา ที่ผ่านมาจึงเกิดปัญหาทางปฏิบัติบ้าง เช่น จ่ายเงินไม่ตรงเวลา อย่างไรก็ตามได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่นักศึกษาเหล่านี้อาจจะไม่คุ้นเคยกบสภาพแวดล้อมในสถาบัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ขอให้ทุกมหาวิทยาลัยจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าวเป็นการพิเศษเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับชีวิตในสถาบันอุดมศึกษาหรือหากมีปัญหาเด็กจะได้ทราบว่าจะปรึกษากับใคร ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนเรื่องเงินที่ส่งให้นักศึกษานั้นได้ขอให้ส่งตรงเวลาซึ่งหากทางสำนักงานสลากกินแบ่งโอนเงินมาให้ช้าก็ขอให้ทางมหาวิทยาลัยสำรองจ่ายให้กับนักศึกษาไปก่อนเพราะถึงอย่างไรเงินจำนวนนี้ต้องส่งมาให้สถาบันแต่ละแห่งอย่างแน่นอนเพื่อไม่ให้เด็กเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบางแห่งเมื่อได้รับการโอนเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละภาคการศึกษาจากสำนักงานสลากกินแบ่งแล้วก็จะโอนให้กับนักศึกษาทั้งหมดในครั้งเดียวเลยซึ่งเด็กที่ได้รับทุนอยู่ในช่วงวัยรุ่น เมื่อได้รับเงินครั้งละมากๆ อาจจะใช้จ่ายโดยไม่ได้ระมัดระวัง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ จึงขอให้มหาวิทยาลัยทยอยจ่ายเงินให้เด็กเป็นรายเดือนเพียงแค่ให้เด็กเปิดบัญชีธนาคารไว้ แล้วมหาวิทยาลัยโอนเงินเข้าไปให้เท่านั้น นอกจากนี้ได้กำชับให้ดูแลเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ก็ต้องติดตามดูแล ด้าน ดร.สรรค์ วรอินทร์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สกอ. กล่าวว่า จากการรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานดูแลโครงการดังกล่าวทราบว่าเด็กที่ได้รับทุนต้องการให้มีการเร่งรัดระบบการจัดสรรเงินกองทุนให้ถึงมือเด็กโดยเร็วและเนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนที่ได้มอบให้ สกอ.ดำเนินการจึงมีบางเรื่องที่เป็นช่องว่างไม่ได้กำหนดเป็นแนวปฎิบัติเอาไว้ เช่น หากเด็กเรียนได้เกรดต่ำมาก ๆ เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะให้มหาวิทยาลัยทำอย่างไร เด็กเรียนไม่จบจะให้ทำอย่างไรหรือหากเด็กจะย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เรื่อยๆ โดยเริ่มต้นเรียนปี 1 ใหม่ตลอดจะทำอย่างไร ในเรื่องที่พักจะให้เด็กพักในหอพักของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เลยหรือไม่ หรือหากให้พักหอพักนอกสถาบันจะกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดในเรื่องเหล่านี้ไว้ รวมถึงต้องมีระบบรองรับเด็กที่จะกลับมาเรียนต่อในประเทศด้วย "สกอ.จะสรุปสภาพปัญหา และแนวปฎิบัติต่าง ๆที่เหมาะสมเสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯได้พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ สกอ.ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำการติดตามและประเมินโครงการนี้ด้วยหากประสบความสำเร็จเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะให้ดำเนินการในรุ่นที่สองต่อแน่" ดร.สรรค์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งรับผิดชอบดูแลเด็กนักเรียนที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศโครงการนี้ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะมีเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ในต่างประเทศจะขอเดินกลับเข้ามาเรียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น 10-20% โดยขณะนี้มีการแจ้งความจำนงเพื่อขอกลับมาแล้ว 5 ราย ทั้งนี้เนื่องจากบางคนเรียนไม่ไหว บางคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และบางคนเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฯ โดยหลายคนเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการเฉพาะกิจเป็นเรื่องทางการเมือง , ระบบการคัดเลือกเด็กไม่โปร่งใสไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างแท้จริง เด็กที่จนจริงอาจจะไม่ได้เข้ามาเรียนที่สำคัญยังพบว่าผู้ปกครองของเด็กบางคนมารอรับเงินทุนการศึกษาของลูกเพื่อนำไปใช้หนี้สินเป็นต้น

“สามเดือนผ่านไปไวเหมือนโกหก”

นักเรียนทุนรัฐบาลโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนในประเทศญี่ปุ่น
โดยสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น
“สามเดือนผ่านไปไวเหมือนโกหก” สามเดือนที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ก็คือสามเดือนที่น้องๆทุนอำเภอได้มาอยู่ในประเทศญี่ปุ่น หลายท่านคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าปีนี้เป็นปีแรกที่เด็กนักเรียนที่เรียนดีในแต่ละอำเภอได้มีโอกาสมาศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยทุนของรัฐบาลไทย ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีนักเรียนเลือกมาเรียนถึง 121 คน น้องๆทั้ง121 คนนี้ เดินทางมาประเทศญี่ปุ่นโดยแบ่งกลุ่มกันมา 3 กลุ่ม 3 วัน ช่วงปลายเดือนกันยายน 1 กลุ่มและต้นเดือนตุลาคม 2 กลุ่ม น้องทุนอำเภอนี้เรียกได้ว่ามากับความชุ่มฉ่ำชุ่มชื้นเลยก็ว่าได้ เพราะว่าฝนจะตกต้อนรับน้องๆตั้งแต่วันแรกที่น้องเดินทางมาถึงประเทศญี่ปุ่นทั้งสามวัน ทั้งๆที่วันก่อนหน้านั้นจะเป็นวันที่อากาศดีท้องฟ้าแจ่มใสมาโดยตลอด ทำให้น้องส่วนใหญ่ที่ไม่เคยขึ้นเครื่องบินพากันหายใจไม่ทั่วท้องขณะนั่งอยู่บนเครื่องเพราะเครื่องบินตกหลุมอากาศอยู่บ่อยๆ เท่านั้นยังไม่พอ วันใดที่มีการนัดประชุมรวมกลุ่มน้องๆวันนั้นจะมีพายุฝนทุกครั้งไป จนเป็นหวัดกันถ้วนทั่วทุกคน แต่ก็ยังดีที่น้องๆมีกำลังใจที่ดีมากเพราะถึงเป็นหวัดในดินแดนต่างบ้านต่างเมืองเช่นนี้แต่ก็หายกันได้ไวนัก คงเพราะมีกำลังใจจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงทางเมืองไทยที่ส่งมาให้อย่างท่วมท้นเป็นแน่เชียว พอมาถึงญี่ปุ่นวันแรก แต่ละคนก็ไม่มีเวลาพักผ่อนกันทั้งเจ้าหน้าที่ที่มาส่งและทั้งนักเรียนทุนอำเภอ เพราะต่างต้องพากันแยกย้ายไปเข้าหอพักของแต่ละโรงเรียนซึ่งอยู่ภายในกรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง บางคนเมื่อลงจากเครื่องบินแล้ว ด้วยความไม่เคยชินกอปรกับความตื่นตาตื่นใจกับสถานที่ใหม่ที่ตนเองจะต้องมาใช้ชีวิตอยู่ ก็เลยลืมไปว่าตัวเองนำกระเป๋าเดินทางมาด้วยมานึกได้เอาอีกทีก็ตอนที่เดินทางถึงหอพักกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเดินทางกลับไปที่สนามบินนาริตะอีกพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเพื่อไปตามหากระเป๋าเดินทางของตัวเอง หลังจากนั้นน้องๆก็ไปทำบัตรประจำตัวคนต่างชาติ บัตรประกันสุขภาพที่ที่ว่าการอำเภอ บางคนก็ต้องไปเปิดบัญชีที่ธนาคารด้วย เพราะยิ่งเปิดได้เร็วเท่าไรเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนและอื่นๆจากสำนักงานก.พ.ก็จะโอนมาให้น้องได้เร็วขึ้นเท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่น้องเป็นห่วงกันอยู่มาก ตอนเปิดบัญชีธนาคารก็มีปัญหาขลุกขลักบ้างเล็กน้อย เพราะการเปิดบัญชีธนาคารที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้ตราประทับ ซึ่งคนญี่ปุ่นจะมีประจำตัวกันทุกคน แต่คนต่างชาติอย่างเราๆส่วนใหญ่ก็จะไม่มี โดยเฉพาะคนที่เพิ่งมาญี่ปุ่นได้วันแรกอย่างนี้ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็พยายามประสานงานกับทั้งทางโรงเรียนภาษาและกับทางธนาคารเพื่อให้น้องได้เปิดบัญชีธนาคารได้อย่างสะดวกและรวดเร็วที่สุด น้องบางกลุ่มที่แม้แต่รถไฟฟ้าที่เมืองไทยก็ยังไม่เคยขึ้นนั้น ก็ได้ขึ้นลงรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นจนชำนาญไปเลยในเวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น วันรุ่งขึ้น น้องๆส่วนใหญ่ก็จะเดินทางไปยังโรงเรียนภาษาที่ตัวเองจะต้องเข้าไปเรียน เพื่อเข้าร่วมฟังการปฐมนิเทศของโรงเรียน ซึ่งมีอาจารย์ใหญ่ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์แนะแนว และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน เรียงหน้ากระดานกันมากล่าวต้อนรับและแนะนำตัวให้น้องๆได้รู้จัก และแน่นอนทุกคนพูดเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะทางโรงเรียนได้เตรียมรุ่นพี่ที่เป็นคนไทยมาทำหน้าที่แปลภาษาให้น้องๆได้อุ่นใจ ทำให้ได้เห็นแบบอย่างที่ดี และทำให้น้องๆมีกำลังใจว่าถ้าพยายามตั้งใจเรียนก็จะทำได้เช่นเดียวกับรุ่นพี่เพราะรุ่นพี่ก็เป็นนักเรียนทุนส่วนตัวที่มาเรียนภาษาได้เพียง 1 ปีเท่านั้น บางโรงเรียนก็ให้น้องๆแนะนำตัวเป็นภาษาญี่ปุ่นกันโดยทันที ซึ่งน้องๆก็ทำได้เป็นอย่างดี อาจารย์คนญี่ปุ่นถึงกับกล่าวชมเชยกันยกใหญ่ ทำให้พวกเราที่อยู่ด้วยพลอยยิ้มและชื่นชมอยู่ในใจไปด้วย มาทราบทีหลังว่าบางโรงเรียนนั้นได้ไปพบกับน้องๆที่เมืองไทยมาก่อน และแจกตำราภาษาญี่ปุ่นให้ได้เตรียมตัวก่อนเดินทางมาญี่ปุ่นอยู่แล้ว ซึ่งก็นับว่าน้องๆรู้จักทำการบ้านกันมาก่อนได้เป็นอย่างดี เมื่อน้องๆเข้าหอพัก เข้าโรงเรียน ได้สักหนึ่งเดือน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เริ่มออกไปเยี่ยมเยือนน้องๆในแต่ละหอพัก ก็ได้เห็นว่าทุกคนปรับตัวเข้ากับประเทศญี่ปุ่นกันได้เป็นที่น่าพอใจ น้องๆมีเรื่องราวประสบการณ์ใหม่ๆที่ได้ประสบพบเจอมาเล่าให้ฟังมากมาย จนแทบจะต้องให้ยกมือเล่ากันทีละคนทีเดียว อาทิ ประสบการณ์กับแผ่นดินไหวครั้งแรกในชีวิต บางคนนอนอยู่บนเตียงก็นึกว่าเพื่อนแกล้งเขย่าเตียงบ้าง บางคนเดินอยู่ก็นึกว่าไม่สบายเพราะรู้สึกตัวไหวโอนเอนบ้าง บางคนหาปุ่มชักโครกในห้องน้ำไม่เจอเพราะมันเป็นปุ่มที่อยู่บนพื้นซึ่งต้องใช้เท้าเหยียบ บางคนขึ้นบันไดเลื่อนโดยหยุดยืนอยู่ทางขวาโดยไม่รู้ว่าที่โตเกียวคนที่จะไม่เดินบนบันไดเลื่อนนั้นเขาจะหยุดยืนอยู่ทางซ้ายและเว้นที่ทางขวาไว้ให้คนที่รีบผ่านไป บางคนที่มีเพื่อนร่วมหอพักเป็นชาวต่างชาติด้วยกันก็มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยทำอาหารให้กันทาน บางคนทำกระเป๋าสตางค์หายแต่ก็ได้คืนมา บางคนถูกตำรวจขอตรวจดูบัตรประจำตัวคนต่างชาติและถูกตักเตือนเพราะส่งเสียงดังกันในเวลากลางคืนจนชาวบ้านแถวนั้นต้องไปแจ้งตำรวจแต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไร เป็นต้น ส่วนเรื่องการเรียนสามเดือนที่ผ่านมาทางโรงเรียนก็เน้นเรื่องการเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อน แต่จากนี้ไปก็จะจัดให้มีการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ สังคม ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งจะแยกเรียนโดยแบ่งเป็นสายวิทย์กับสายศิลป์อีกด้วย เนื่องจากวิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่จะใช้ในการสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเหมือนข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยของบ้านเราแต่เป็นข้อสอบเฉพาะคนต่างชาติเท่านั้น การสอบนี้จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนและเดือนพฤศจิกายนของทุกปี นอกจากนี้ ที่ผ่านมาน้องๆได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวันชาติที่สถานเอกอัครราชทูตไทย งานกีฬาของสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น และงานประเพณีลอยกระทงของภาคเอกชน ได้พบปะชุมชนชาวไทยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในงานก็มีอาหารไทยให้ได้คลายความคิดถึงไปได้บ้าง แล้วยังได้มีโอกาสพบกับกลุ่มอาสาสมัครคนไทยที่มาเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษายามที่น้องต้องการ และกลุ่มนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่นอีกหลายคนที่เต็มใจจะให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเรียนและอื่นๆ สามเดือนที่ผ่านมานักเรียนทุนอำเภอได้พบกับประสบการณ์ต่างๆ มากมาย สิ่งที่พวกเขาได้เห็น ได้สัมผัส จะเป็นสิ่งที่มีค่ากับชีวิตของพวกเขาตลอดไป จากนี้ไปพวกเขาจะยังได้พบเห็นและได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายจากประเทศที่มีความเจริญมากที่สุดในเอเชีย ความรู้บางอย่างไม่สามารถสอนกันได้ในห้องเรียนแต่สามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ หวังว่าพวกเขาจะเก็บเกี่ยวเอาสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นกลับไปเป็นของฝากให้กับพี่น้องชาวไทย นับจากเดือนนี้ไป ประเทศญี่ปุ่นจะเข้าสู่ฤดูหนาว พวกเขาคงจะต้องผจญกับความหนาวเหน็บ และอาจจะได้เห็นหิมะซึ่งเป็นของแปลกสำหรับบ้านเรา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องๆเหล่านี้จะมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อที่จะได้กลับไปเป็นผู้นำชุมชนที่ดี และนำความรู้ ประสบการณ์ ที่ได้ไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเอง และเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป
1 อำเภอ 1 ทุนในประเทศญี่ปุ่น

นายกฯสั่งป้องกันน.ร.ทุนหวย ฆ่าตัวตายซ้ำ

หลังนักเรียน17กระโดดตึก เครียดพูด"เยอรมัน"ไม่ได้
"ทักษิณ"สะเทือนใจ นักเรียนทุนโครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอโดดตึกเสียชีวิตที่เยอรมนี สั่งกลางวงประชุม ครม.ให้กลับไปทบทวนกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสอง ก.พ.ยันดูแลอย่างดี เผยนักเรียนสาวซึมเศร้าเตรียมส่งตั๋วให้บินกลับไทยแล้ว
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความเสียใจที่ น.ส.ณัฐชนน เมฆี นักเรียนทุน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล อายุ 17 ปี จากโรงเรียนพรานนกต่อวิทยาคม จ.กำแพงเพชร ที่ไปเรียนสาขาวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ประเทศเยอรมนี กระโดดตึกโรงพยาบาลเสียชีวิต
"นายกฯ สะเทือนใจมากเพราะเป็นเด็กที่เรียนดี อยากให้การสนับสนุน แต่มาเสียชีวิต หดหู่ใจมาก คงต้องกลับไปดูกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน ต่อไปควรนำนักจิตวิทยาเข้าไปช่วยเด็กที่มีปัญหา ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสองได้ โดยก่อนจะเดินทางไปเรียนน่าจะมีการให้เรียนพิเศษด้านภาษาของประเทศที่จะไปก่อน เพื่อให้มีพื้นฐานก่อนไปใช้ชีวิตต่างประเทศ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า เป็นเด็กเรียนดี พ่อแม่ยากจนมาก ตอนแรกอยากจะศึกษาในไทย แต่เปลี่ยนใจไปเรียนต่างประเทศ เท่าที่รู้ข้อมูลสาเหตุเกิดจากความเครียด ยอมรับความตกต่ำของตัวเองไม่ได้" นายจักรภพกล่าว
น.ส.มัณฑนา ปิยะมาดา รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเยอรมนี ว่ามีนักเรียนไทย ที่ได้รับทุนโครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอศึกษาต่อระดับปริญญาตรียังต่างประเทศเสียชีวิตเมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 14 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศเยอรมนี ทราบชื่อ น.ส.ณัฐชนน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนในอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับทุนไปเรียนสาขาคอมพิวเตอร์
สาเหตุที่เสียชีวิตนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก่อนจะเสียชีวิตนั้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม น.ส.ณัฐชนน ได้รับประทานยาพาราเซตามอลเข้าไป 40 เม็ด และเพื่อนๆ ที่อยู่ด้วยกันได้นำตัวส่งโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัย และล้างท้องได้ทันต่อมาเวลา 20.30 น.วันที่ 13 สิงหาคม น.ส.ณัฐชนนได้กระโดดจากตึกชั้นที่รักษาตัวออกมากะโหลกศีรษะแตก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลใหญ่แต่ไม่รับรักษาเพราะอาจจะเห็นว่ากะโหลกศีรษะแตกหมดแล้วรักษาไม่ได้ จึงนำตัวกลับมาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม
น.ส.มัณฑนากล่าวว่า น.ส.ณัฐชนน ยังไม่ได้เริ่มเรียนเพราะอยู่ระหว่างเรียนภาษาเยอรมันกับกลุ่มเพื่อนๆ นักเรียนไทยที่ได้ทุนเรียนที่เยอรมัน สำหรับสาเหตุนั้นยังต้องหารายละเอียดเพิ่มเติม แต่ก่อนเดินทางไปนั้น นักเรียนในทุนโครงการหนึ่งทุนหนึ่งอำเภอจะผ่านการตรวจร่างกายจากแพทย์ ก.พ. ก็ไม่พบว่ามีนักเรียนคนใดมีอะไรผิดปกติ สำหรับขั้นตอนจากนี้คงต้องดำเนินการฌาปนกิจ น.ส.ณัฐชนน ที่เยอรมันแล้วส่งเถ้ากระดูกกลับมาให้ทางครอบครัว เนื่องจาก ก.พ.ได้ประสานไปยังครอบครัวแล้วว่าจะให้ส่งศพกลับมาประกอบพิธีที่ประเทศไทยหรือจะให้ดำเนินการที่เยอรมัน ทางผู้ปกครองเลือกให้ฌาปนกิจที่เยอรมันแล้วส่งเถ้ากระดูกกลับมา
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เท่าที่ทราบเบื้องต้นจากรายงานพบว่า น.ส.ณัฐชนน ซึ่งเดินทางไปเรียนที่เยอรมันตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม มีอาการซึมเศร้ามีปัญหาคิดถึงบ้านและรับประทานยาพาราเข้าไป ทาง ก.พ.แจ้งว่าได้เข้าไปช่วยเหลือดูแล และเตรียมตั๋วเครื่องบินให้ น.ส.ณัฐชนนเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 18 สิงหาคมแล้ว แต่มากระโดดตึกเสียชีวิตเสียก่อน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งเตือนใจว่าคงต้องเข้าไปดูแลใกล้ชิดกับเด็กให้มากกว่านี้จะได้รู้ปัญหา และแก้ได้ทันท่วงที ก็เห็นใจว่าเจ้าหน้าที่ ก.พ.ต้องดูแลนักเรียนไทยจำนวนมาก ในส่วน ศธ.เองคงต้องมีมาตรการกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ของ ศธ.ที่อยู่ในประเทศต่างๆ ให้เข้าไปพบปะพูดคุยกับเด็กเป็นระยะๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อให้รู้สึกสบายใจ และปรึกษาเมื่อมีปัญหา
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ปลัด ศธ. กล่าวว่า จากรณีดังกล่าวตนคิดว่า ก.พ.ดูแลเด็กใกล้ชิดดีแล้วไม่น่ามีปัญหา ส่วนสถานที่ที่เด็กอยู่ก็ไม่โดดเดี่ยวเนื่องจากเด็กอยู่กับเพื่ออีก 3 คน แต่เนื่องจากเด็กคนดังกล่าวมีอาการเหงา และคิดถึงบ้านมาก ซึ่งทาง ก.พ.ก็ตกลงที่จะดึงตัวกลับ และยอมให้กลับมาเรียนที่เมืองไทย และซี้อตั๋วเครื่อบินให้มีกำหนดกลับในวันที่ 18 สิงหาคม นี้แล้ว
สำหรับมาตรการเร่งด่วนเบื้องต้น ก็แจ้งให้สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ(กต.) สังกัดสำนักปลัด แจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือ และเบอร์ที่บ้านของตนผ่านไปให้สถานทูตทุกประเทศที่มีนักเรียนทุนนี้อยู่ เพื่อให้สถานทูตแจ้งต่อไปยังนักเรียนทุนทุกคน เผื่อเด็กคนใดมีปัญหาก็ให้โทร.มาปรึกษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะเก็บเงินที่ปลายทาง เพื่อให้เด็กไม่คิดมาก นอกจากนี้ก็จะหารือกับ ก.พ.เพื่อให้ประสานกับสถานทูตไทยในประเทศต่างๆ ให้นัดพบพูดคุยแลกเปลี่ยนให้คำปรึกษาปัญหากับเด็ก และร่วมทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง รวมทั้งให้อาศัยนักเรียนไทยรุ่นพี่หรืออาสาสมัครเข้าไปดูแลเยี่ยมเยียนให้คำปรึกษาแก่น้องๆ จะได้หายเหงา
นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า รู้สึกเสียดายมากเพราะ น.ส.ณัฐชนน เป็นคนที่เรียนเก่งได้เกรดเฉลี่ยถึง 3.8 และเป็นเด็กขยันเรียน ทำกิจกรรมด้วย จึงไม่น่าคิดฆ่าตัวตายได้ เบื้องต้นก็สันนิษฐานว่าเกิดจากความเครียด เพราะเด็กพูดภาษาเยอรมันไม่ได้ และไม่เคยจากบ้านไปไกลเลย ดังนั้นถ้ามีโครงการส่งนักเรียนไปเรียนไกลๆ
จะต้องปรับวิธีการเตรียมตัวของเด็กใหม่ ที่สำคัญจะให้เด็กเรียนภาษาของประเทศที่จะไปศึกษาต่อในประเทศไทยก่อน เพราะเด็กไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี 84 คนและฝรั่งเศส 180 คน ครั้งนี้ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านภาษาในประเทศดังกล่าวเลย เมื่อต้องไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเด็กจึงเกิดความเครียดได้
หนังสือพิมพ์มติชน

โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการรับสมัครคัดเลือกเพื่อรับทุนรัฐบาล
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการรับสมัครคัดเลือกเพื่อรับทุนรัฐบาล (เพิ่มเติม)
สาขาวิชาและประเทศที่แนะนำให้ไปศึกษา
ใบสมัครคัดเลือกเพื่อรับทุนรัฐบาล (Word)
แบบฟอร์มหนังสือรับรองความประพฤติและหนังสือรับรองรายได้ (Word)
แบบฟอร์มจังหวัด
แบบฟอร์มกรุงเทพ

นักเรียนทุนรัฐบาลในโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย จะดำเนินการคัดเลือกนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของปีการศึกษา 2546 หรือเทียบเท่า สายสามัญหรือสายอาชีพ ในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอหรือกิ่งอำเภอทั่วประเทศ ตามโครงการทุนการศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) โดยมีรายละเอียดดังนี้

กราบเรียน พณฯท่านนายกฯพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร สวัสดีค่ะ/ครับ พวกเราในนามนักเรียนทุนรัฐบาลในโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่ศึกษา ณ เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี พวกเราทั้งเจ็ดคนประกอบด้วย ๑. น.ส. กฤษณา ปงคำเฟย อ. เมือง จ.พะเยา ๒. น.ส.จรัสศรี จันภูงา อ.สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด ๓. น.ส.เมธาภรณ์ ถวายทรัพย์ อ.นครหลวง จ. พระนครศรีอยุธยา ๔. น.ส.อุษา ลิ้มสีทอง กิ่งอ. สามร้อยยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ๕. นายเถลิงศักดิ์ ริมทอง เขต วัฒนา กรุงเทพมหานคร ๖. นายสมชาติ แจ่มจันทร์ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ๗. นายเอกพล สุวรรณเสวก อ.ท่ายาง จ. เพชรบุรี ขอขอบคุณท่านนายกฯ ที่หยิบยื่นโอกาสที่ดีมาให้พวกเรา สองสัปดาห์ที่พวกเราได้มาอยู่ที่มิลานนี้ พวกเราได้พบเจอสิ่งแปลกใหม่ที่พวกเราไม่เคยเจอมาก่อน ตอนนี้พวกเรากำลังเรียนภาษาอิตาเลียน ซึ่งเป็นจุดจุดหนึ่งซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จของพวกเราทุกๆคน การได้เรียนภาษาที่นี่เป็นการเปิดประตูแห่งการเรียนรู้และวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราจะต้องเรียนรู้อีกมาก เราจะพยายามศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะนำกลับไปพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

กราบเรียน ท่านนายกทักษิณที่เคารพ กระผมนายเกษม บ่ายสกุล นักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เรียนสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้กระผมเรียนภาษาอยู่ที่เมืองตู ประเทศฝรั่งเศส กระผมเริ่มเรียนได้ประมาณ ๓ สัปดาห์แล้วครับ อาจารย์ที่นี่ใจดีและก็สอนดีด้วยครับ กระผมก็เรียนรู้เรื่องบ้างแล้วครับ กระผมมีเรื่องข้องใจที่จะขอเรียนถามท่านนายกว่า ถ้าพวกนักเรียนทุน เรียนสำเร็จแล้ว จะมีโครงการที่จะขยายต่อไป ให้เรียนต่อถึงปริญญาเอกไหมครับ ท้ายนี้กระผมจะตั้งใจเรียนให้มีความรู้มากมาก เพื่อจะได้กลับไปพัฒนาบ้านเราครับ กระผมมีความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย
ด้วยความเคารพอย่างสูง นายเกษม บ่ายสกุล

กราบเรียน ท่านนายกทักษิณ ชินวัตร ที่เคารพอย่างสูง กระผมนายพงษ์ศักดา แสนสุภา เป็นนักเรียนทุน1อำเภอ1ทุน ที่มาเรียนที่ฝรั่งเศส ตอนนี้ผมเรียนภาษาได้ประมาณ3สัปดาห์แล้ว ก็เรื่มเข้าไจบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังสื่อสารกับคนฝรั่งเศสได้ไม่มาก ุอย่างไรก็ตาม กระผมจะตั้งไจเรียน และจะพยายามเรียนไห้จบ เพื่อจะได้กลับไปพัฒนาประเทศไทยของเรา สำหรับความเป็นอยู่ที่นี่สะดวกสบายดีทุกอย่าง กระผมต้องขอกราบขอบพระคุณท่านนายกเป็นอย่างสูงที่ไห้โอกาส แก่กระผมมากขนาดนี้ กระผมขอสัญญาว่าจะตั้งไจเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อชาติของเราครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูง พงษ์ศักดา

เรียน ท่านนายกที่เคารพอย่างสูง กระผม เป็นนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ของอำเภอ ปราสาทจังหวัดสุรินทร์ ตอนนี้ผมกำลังเรียนภาษาอยู่ที่เมืองตูร์ ประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้เป็นฤดูร้อน แต่ผมคิดว่าอากาศคงหนาวกว่าเรามาก แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับการเรียน คนที่นี่ดูเป็นมิตรดีครับ อาจารย์สอนภาษาหรือเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ ก็ดูเป็นมิตรดี แต่สิ่งที่ต้องปรับตัวก็คงเป็นเรื่องอาหาร เพราะว่าอาหารบางอย่าง เป็นอาหารที่ผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน เลยทำให้ลำบากบ้าง แต่ช่วงนี้ก็รวมกลุ่มกับเพื่อนทำอาหารไทยกินด้วยกัน ก็มีความสุขดีครับ สุดท้ายนี้ผมก็ขอความกรุณาท่านนายก ว่าถ้าหากได้รับ อี-เมลล์ ของผมแล้ว ขอความกรุณาท่าน ช่วยตอบกลับดวยครับ ผมจะได้ภูมิใจว่าท่านนายกได้อ่านจดหมายของผมแล้ว และอยากจะบอกว่าขอขอบคุณรัฐบาลไทย ขอขอบพระคุณท่านนายกที่ทำให้มีโอกาสนี้ขึ้นมา ทำให้ความฝันของผมเป็นจริง
ด้วยความเคารพอย่างสูง
นายภัทรพงศ์ ตนเหี่ยม นักเรียนทุนอำเภอปราสาท จังหวัดสุรนทร์

เรียน พณ ท่าน นายก คุณพ่อใจดี ของพวกเรา สวัสดีค่ะ หนูชื่อ นางสาว พิมรา ขุนเมือง นักเรียนทุนรัฐบาล โครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน หนูรู้สึก มีเกียรติ ภูมิใจ และภูมิใจมาก ที่ได้ คัดเลือกเป็น นักเรียน ทุน ตัวแทน อำเภอปากเกร็ด จ.นนทบุรี หนูเลือก สาขา Fashion Design ค่ะ เพราะหนู ชอบ ทางศิลปะ ถ้าหนูอยู่ประเทศไทยตอนนี้ หนูก็คงได้เรียนอยู คระ ครุศาสตร์ ศิลปะศึกษา ใน รั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย แต่ ที่หนูเลือกมาที่ ประเทศ ฝรั่งเศส เพราะว่า 1 หนูเรียน สายศิลป์ ฝรั่งเศสมา และคุณแม่ก็สอน อังกฤษ ฝั่งเศส 2 นี้ เป็นโอกาศที่ดีกว่า หนูไม่รู้ได้ ว่า ถ้าหนูเรียนที่ปะเทศไทย จบมา หนูจะมีงานทำรึป่าว เพราะ ว่า ความจริง หนูก็อยาก เป็น ดีไซเนอร์มาตั้งแต่เด็ก แต่ ในประเทศไยเรา ไม่ได้มี สายเฉพาะเจาะจง จิงจิง หนู หมายถึงในรั้ว มหาวิทยาลัย 3 ขึ้นชื่อว่าประเทศ ฝรั่งเศส ใครๆ ก็ คิดถึง แฟชั่น หนูอยากจะรีบเรียน ให้ จบ และ ไปช่วย เรื่อง Bangkok fashion city 4 ถึงแม้จะต้องเรียนในต่างประเทศ ห่างบ้าน แต่ หนูก็มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ที่จะมาเรียนให้จบ ตอนนี้ หนูอยู่ที่เมือง Tours ประเทศ France หนูเรียนภาษาอยู่ที่ สถาบัน Institut de Touraine ครู อาจารย์ ที่นี้ ดีมากค่ะ เค้า พยายามมาก ในการให้ พวกเราเข้าใจ ความเป็นอย๋ดีมากค่ะ เงินที่ รัฐให้มา ก็ เหลือใช้ หนู จะใช้เงินอย่างประหยัด กินแต่ของ ดี แต่ไม่ ฟุ่มเฟื่อย เพราะ ม่าหม้า บอกอยู่ เสมอว่า สุขภาพ เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ทั่วประเทศ ไทย มี นร.ที่เลือกเรียน Fashion Design อยู่เพียงสอง คน งั้น หนู ขอสัญญาว่า หนูจะตั้งใจเรียน จะ ระลึกอยู่เสมอว่า หนูเป็นคนไทย เกิดจากประเทศไทย เป็นคนพุทธ อยู่นี่ หนูก็ สวดมนต์ ทุกคืน ทำการบ้าน และอ่านหนังสือก่อนนอนทุกวัน ค่ะ ขอขอบพระคุณ พณฯ ท่าน นายกทักษิน ชินวัตร ที่ทำให้ มีทุนนี้ เพราะเป็นโอกาศที่ดีมาก โอกาศหนึ่งที่หนูได้รับ เนื่องจาก ในครอบครัว หนู การศึกษา เป็น สิ่งสำคัญ คุณพ่อ คุณแม่หนู เลิกกัน และ คุณแม่ก็ เลี้ยงลูกๆ เองคนเดียว หมดเลย พวกเรา สี่ คน พี่พลอย จบปริญญาตรี อักศร จุฬา โท English for bussiness จาก ธรรมศาสตร์ พี่พิ้งค์ พึ่ง รับปริญญา ไปวันก่อน อักษรจุฬา หนู พิมรา ได้ ทุนรัฐบาล ยังเหลือ น้องพลอีกคน หนูภูมิใจมากที่ได้ทุนนี้ เพราะถ้าหนู ต้องเรียน ที่จุฬา จริงๆ คุณแม่ก็ต้องเป็นคน หาเงิน ดังนั้น ตอนนี้ ม่าหม้า ก็จะได้ หายเหนื่อยทั้งกายและใจเลยที่เดียว ขอบพระคุณมากค่ะ พิมรา ขุนเมือง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

กราบเรียนท่านนายกฯ ดิฉันชื่อ นางสาวจิรนันท์ เสนานุช จาก อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก นทร.ประเทศฝรั่งเศส สาขาวิชา วนศาสตร์ ได้เริ่มเรียนภาษาที่เมืองตูร์ ประเทศฝรั่งเศส ชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างแดนเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและแตกต่างโดยสิ้น เชิง กับที่นี่ การอยู่หอพักกับชาวต่างชาติ การดิ้นรนในการใช้ภาษาที่ไม่เคยเรียน มาเลยสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวัน เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง การให้ความช่วยเหลือเพื่อนคนไทยด้วยกัน เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ต่อสู้กับความอ่อนแอที่เกิดขึ้นเพราะห่างไกลบ้าน ปลอบโยน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งตอนนี้การเรียนภาษาของดิฉันไปได้ดีค่ะ อาจารย์น่ารักให้ความเป็นกีนเองและให้คำปรึกษา จะยากหน่อยในช่วงแรก เพราะยังไม่เข้าใจภาษา แต่ไม่ได้เกินความตั้งใจของเหล่าเด็กไทยเลยค่ะ จะเชื่อมั่นในความอดทน พยายาม ความตั้งใจ ความใฝ่ฝันที่มีและ ความหวัง กำลังใจที่อยู่ข้างหลัง การรอคอยการกลับไปพร้อมกับความสำเร็จ ไม่ได้รับความลำบากใดใดเลย การเป็นอยู่สบายมากค่ะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง นางสาวจิรนันท์ เสนานุช อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

I AM KIARTTICHATRA INTARUNGSEE,MUANG DISTRICT CHIANGRAI PROVINCE'ODOS STUDENT
,I AM NOW STUDYING IN TOURS,FRANCE, I AM PROUND OF BEING A THAI CITIZEN UNDER THE THRONE OF THE KING BHUMIBOL THE GREAT. AS FAR AS I REMEMBER I THINK THAT THERE IS NO OTHER NATION IS AS LUCKY AS THAILAND,FOR WE HAVE A MIGTHY AND COMPETENT KING. AND ALL OF THE THAI HAVE HELPED ONE ANOTHER,NO MATTER WHAT PROBLEMS WE FACE.
I CAN GET ALONG WELL WITH ALL OF THE FRENCH AND I KEEP MY DUTY BEST. THE PEOPLE HERE IS NOT ONLY GENEROUS BUT ALSO HOSPITABLE.CONSEQUENTLY,I DO NOT HAVE ANY PROBLEM, ALTHOUGH I WOULD LIKE TO ASK THE MINISTRY OF EDUCATION THAT I WOULD LIKE TO ADJUST THE FACULTY I WILL STUDY. NOW I HAVE TO STUDY THE FRENCH LANGUAGE FOR THE ACADEMIC YEAR AND AFTER THAT I WILL STUDY IN THE INTERNATIONAL RELATIONS FIELD BUT I KNOW THIS FIELD IS NOT SUITABLE FOR ME IF I STUDY IN THIS FIELD,PERHAPS I WOULD NOT SUCCEED.I LOVE TO BE A TEACHER THUS I WOULD LIKE TO STUDY IN THE FACULTY OF EDUCATION : THE FIELD OF THE FRENCH LANGUAGE AND THE ENGLISH LANGUAGE. EVERYDAY IN FRANCE I MISS MY HOME AND MY FRIENDS BUT I ALWAYS CONCERN THAT THIS IS MY GREAT MISSION AND I HAD BETTER TOLERATE TO ALL THINGS. MOREOVER I HAVE TO LEARN MORE AND MORE BOTH KNOWLEDGES AND TERRIFIC CULTURE OF FRANCE. I WOULD LIKE TO EXPRESS MY FEELING THAT I AM SO ELATED I HAVE THE BEST OPPORTUNITY TO STUDY IN FRANCE.AND I ALSO PREFER TO THANK YOU VERY MUCH THE PRIME MINISTER THAKSIN CHINNAWAT,THE MINISTER ADISAI,KUNKRU ( DR. ) KASAMA AND ALL OF THE OFFICIALS IN THE MINISTRY OF EDUCATION. I PROMISE I WILL BEHAVE WELL AND ALSO BE A GOOD THAI STUDENT. I WILL NOT NEGLECT MY MISSION AND RESPONSIBILITY. "NO PAIN, NO GAIN" I HAVE OFTEN TOLD MYSELF THAT THERE IS NO ELAVATOR SUCCESS,YOU HAVE TO TAKE THE STAIRS.
SINCERELY YOURS, KIARTTICHATRA INTARUNGSEE

Dearest father Thaksin I'm only one from 160 scolarship studentin France... I don't have word to say more than thanks you so much...of your kindness to make up my love to better ways If don't get this scolarship. I think 1-2 years later... I'm only a merchant in the market... not a merchant's son... who make his parent pround of him... I can't do more... Because now I'm only student... But if I graduate... I promise I will comeback to relatiate our Thailand surely... You are the great man in my mind... You're like sun shine in my life... So deep I feel thanks... And truly love to you... Teerapat Kusalarak ODOS Muang Nakhonnayok

ขอขอบพระคุณท่านนายกที่ให้โอกาศเด็กยากจนอย่างพวกเราได้เรียนหนังสือ และพวกเราขอสัญญาว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะกลับมายังบ้านเกิดของตนเองเพื่อพัฒนาถิ่นฐานของตนและประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ