นักเรียน 1 อำเภอ 1 ทุน อ้อนเรียนไม่ไหวขอกลับไทยกว่าร้อย

ศธ.เผยนักเรียน "1 อำเภอ 1 ทุน" กว่า 100 คน ทยอยกลับไทย เผยเรียนไม่ไหวส่วนใหญ่เป็นญาตินักการเมือง "วิจิตร" เรียกถกรายงานข่าวจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า ขณะนี้มีนักเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือโอดอส รุ่นแรกที่เลือกเรียนในต่างประเทศ 739 คน จากนักเรียนทั้งหมด 921 คน เดินทางกลับประเทศไทยกว่า 100 คน เพราะเรียนไม่ไหว เนื่องจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกบางส่วนเป็นลูกหลานของนักการเมืองและหัวคะแนน ระยะการคัดเลือกกระชั้นชิด เตรียมความพร้อมด้านภาษาน้อยก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ ทำให้คุณภาพผู้ที่ผ่านการคัดเลือกไม่ได้มาตรฐาน เป็นอุปสรรคต่อการเรียนต่อ โดยได้รายงานปัญหาดังกล่าวให้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียบร้อย ซึ่งจะมีการเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในวันที่ 9 สิงหาคมนี้

ส่วนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มี 2 รุ่น รุ่นแรกเลือกเรียนในต่างประเทศ 739 คน และรุ่น 2 จำนวน 728 คน เรียนในต่างประเทศ เพิ่งเดินทางไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่เหลือเรียนต่อในประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางปี 2550 จำนวน 1,108 ล้านบาท ให้ใช้สำหรับเดือนมกราคม-กันยายน 2550 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว และอนุมัติให้ผูกพันงบประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อดูแลให้นักเรียนทุนทั้ง 2 รุ่นเรียนต่อจนจบ ซึ่งปีงบประมาณ 2551 สำนักงบประมาณได้อนุมัติวงเงินให้แล้ว 1,200 ล้านบาท

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกรทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มีนักเรียนทุนรุ่น 1 ที่ส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ปี 2546 สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับ ประเทศแล้วประมาณ 5 คน โดยสำเร็จการศึกษาจากประเทศอินเดีย และมีนักเรียนทุนบางส่วนขอเปลี่ยนมาเรียนต่อในประเทศไทย เพราะรู้ตัวเองว่าศักยภาพไม่เหมาะสมสำหรับการเรียนต่อในต่างประเทศ แต่ยืนยันว่าไม่มีการส่งตัวกลับไปเรียนต่อในประเทศเพราะไม่มีงบประมาณอย่างแน่นอน

ส่วนนักเรียนรุ่น 3 จะลดจำนวนทุนเหลือประมาณ 400 กว่าทุน แยกเป็นทุนเรียนต่อต่างประเทศจัดสรรให้เขตพื้นที่การศึกษาละ 2 คน รวมเป็น 356 ทุน (178 เขตพื้นที่การศึกษา) ทุนเรียนต่อทางด้านอาชีวศึกษาและทุนเรียนต่อในประเทศ ซึ่งสาเหตุที่ลดจำนวนทุนและจำกัดจำนวนทุนเรียนต่อต่างประเทศ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่รัฐบาลต้องการการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในชนบทที่เรียนดีแต่ฐานะยากจนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ซึ่งจะปรับให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกข้อสอบคัดเลือกแทน เพื่อคัดเลือกให้ได้นักเรียนที่เรียนเก่งอย่างแท้จริง

ผู้รับทุนจะต้องเลือกเรียนในสาขาที่ประเทศ หรือท้องถิ่นขาดแคลน เรียนต่อในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ จะได้ประโยชน์ทั้งวิชาการและส่งเสริมบทบาทไทยในประชาคมโลกด้วย และเตรียมความพร้อมด้านภาษาของเด็กตั้งแต่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 3-6 เดือน และทดสอบหลังเตรียมตัวด้วยว่าเด็กสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีไปแล้วเรียนต่อไม่ไหวเหมือนกับนักเรียนทุนใน 2 รุ่นที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างที่เตรียมความพร้อมอยู่ในประเทศไทยให้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยไปในเวลาเดียวกัน เมื่อเดินทางไปถึงสามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนภาษาอีกเป็นปี หากใครไม่ผ่านการเตรียมตัวทางด้านภาษาจะไม่ให้เดินทางไป

ทั้งนี้นักเรียนทุน 1 อำเภอ 1 ทุน ทั้ง 2 ทุน รวมทั้งหมด 1,836 คน เป็นนักเรียนที่เลือกเรียนต่างประเทศประมาณ 1,400 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องสำรวจด้วยว่านักเรียนทุน 2 รุ่น มีโอกาสที่จะมีงานทำในท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดสาขาเรียนต่อของผู้รับทุน โดยจะมีการหารือสรุปแนวทางการดำเนินการในวันที่ 9 สิงหาคมด้วย

น.ส.การ์ตินี มะเหาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาตะวันออกกลาง American University (AUC) นักศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นแรก ซึ่งไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ประเทศอียิปต์ กล่าวว่า นักเรียนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศในเบื้องต้นจะต้องไปเรียนภาษาเสียก่อนประมาณ 2 ปี จากนั้นถึงจะไปเรียนต่อด้านสาขาที่เลือกอีก 4 ปี และต้องเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับทุนการศึกษาก็ต้องเดินทางกลับ หากเรียนไม่จบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็ต้องใช้ทุนของตัวเองเรียนต่อ

ส่วนการเตรียมความพร้อมที่จะเรียนสาขาตะวันออกกลาง American University ของ น.ส.การ์ตินี บอกว่า ต้องเรียนภาษาอังกฤษ 3 ปี เรียนวันละ 2 ชั่วโมง 30 นาที ประมาณ 2-3 วันต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งเรียนภาษาอาหรับใน 2 เดือนแรก เพราะต้องใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ขณะนี้สอบภาษาอังกฤษผ่านแล้ว โดยจะเริ่มเรียนวิชาปี 1 ในวันที่ 5 กันยายนที่จะถึงนี้ และจากนี้ไปอีก 4 ปี จะต้องเก็บหน่วยกิตให้ครบทั้งหมด 120 หน่วยกิต คาดว่าจะเรียนภาคฤดูร้อนเสริมด้วย

น.ส.การ์ตินี กล่าวว่า ได้รับทุนค่าครองชีพเดือนละ 900 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นค่าหอพักประมาณเดือนละ 363 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าอาหารประมาณเดือนละ 150 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายเวลาที่จำเป็น และเก็บไว้เป็นทุนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งนักเรียนไทยที่เรียนในไคโรได้รับการดูแลจากสถานทูตไทยประจำกรุงไคโรเป็นอย่างดี


http://www.moe.go.th/
http://www.komchadluek.net/

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลดีๆ