จากที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้เร่งดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 โดยใช้เงินรายได้จากการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ที่จะเริ่มจำหน่ายงวดแรกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดว่าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับ 2รุ่นแรกที่ผ่านมา โดยจะคัดเลือกให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนอำเภอละ 1 ทุน และให้เลือกศึกษาได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และต้องเป็นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศไทย โดยในรุ่นที่ 3 นี้ จะขยายการให้ทุนครอบคลุมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาด้วย จังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการจัดเตรียมรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ส่วนทุนเรียงความนั้นคงไม่มี เพราะผลวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาชี้ชัดว่า การให้ทุนโดยพิจารณาจากการเขียนเรียงความเป็นการให้ทุนที่ไม่สามารถคัดเด็กยากจนได้อย่างแท้จริง
ด้าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุนการศึกษาเท่าที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้นั้น ค่อนข้างเป็นประเภทให้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ถือว่าการให้ทุนเป็นเรื่องดี ควรมีระบบที่จะคัดเลือกให้ได้เด็กที่ยากจนอย่างจริงจัง โดยให้ทุนผ่านทางโรงเรียน ซึ่งสถานศึกษาต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันคัดเลือกเด็ก เพราะเชื่อว่า การให้โรงเรียนเป็นผู้คัดเลือกเด็กจะมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยกว่าให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมคัดเลือก โดยทุนการศึกษาควรให้กับเด็กนอกเมือง มากกว่าเด็กที่อยู่ในตัวเมือง
"การให้ทุนการศึกษาควรเป็นการให้อย่างต่อเนื่องจนถึงศึกษาจบปริญญาตรี ไม่ควรให้เงินก้อนเป็นครั้งคราว และรัฐบาลต้องวางแผนระยะยาว 5-10 ปีในโครงการทุนการศึกษาต่างๆ โดยให้ทุนแบบมีเงื่อนไขให้กลับไปทำงานในท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลหางานให้เด็กที่ได้รับทุนด้วย ควรเพิ่มจำนวนผู้รับทุนให้กับแต่ละอำเภอมากขึ้น ในสาขาที่ท้องถิ่นขาดแคลน เมื่อศึกษาจบเด็กกลุ่มนี้จะได้กลับไปทำงานร่วมกันในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง" ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ที่มา : http://www.moe.go.th - กรุงเทพฯ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น