ศธ.เดินหน้าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนต่อ

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียแล้วเห็นว่าควรมีการดำเนินโครงการต่อไป แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อโครงการจากเดิมชื่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็น โครงการทุนการศึกษาพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากชื่อเก่าไม่สะท้อนการกระจายตัวของโรงเรียนมัธยมศึกษา และทำให้ทุนที่จะจัดให้ กระจายอย่างไม่เป็นธรรม เพราะหากให้ 1 อำเภอ 1 ทุน อำเภอที่มีโรงเรียนจำนวนมากก็จะเสียเปรียบ ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรพิจารณาการให้ทุนโดยยึดเขตพื้นที่การศึกษาแทนอำเภอ ซึ่งมี 175 เขตพื้นที่การศึกษา เพราะแต่ละเขตพื้นที่ฯ จะมีโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ใกล้เคียงกัน ส่วนการจัดสรรทุนให้แต่ละเขตพื้นที่ฯนั้นจะต้องไม่น้อยกว่า 2 ทุน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้คณะทำงานซึ่งมี ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ไปพิจารณาถึงจำนวนทุนที่เหมาะสม รวมทั้งสัดส่วนของนักเรียนที่จะเรียนในประเทศและนอกประเทศแล้ว และจะมีการนำรายละเอียดการดำเนินโครงการรุ่นที่ 3 มาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในปลายเดือน ม.ค.นี้
รมว.ศึกษาธิการกล่าวว่า จะมีการเปลี่ยนเกณฑ์ ผู้ที่จะได้รับทุนในรุ่นที่ 3 โดยยึดเกณฑ์เดียวกันกับกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยผู้ที่จะได้รับทุนครอบครัวจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาท จากเดิมที่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนการจัดสอบเพื่อให้มีความโปร่งใส ก็จะมอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการ เพราะถือเป็นหน่วยงานกลางและเป็นผู้ทำข้อสอบได้หลายลักษณะ ทั้งนี้ในรุ่นที่ 3 นี้จะมีการกำหนดสาขาที่เป็นความ ต้องการของประเทศ และเลือกให้ไปเรียนในประเทศที่เก่งในสาขาเหล่านั้นด้วย ส่วนรุ่นที่ 1-2 ซึ่งไปศึกษาต่อแล้วนั้น ก็จะมีการสำรวจว่าสาขาที่ไปเรียนนั้นในแต่ละท้องถิ่นมีโอกาสในการทำงานสาขาวิชาเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นว่าควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะส่งเด็กไปศึกษาต่อต่างประเทศอย่างน้อย 3-6 เดือน และใช้เวลาในช่วงนี้เป็นการทดสอบไปด้วย ซึ่งถ้าเห็นว่าเด็กไปไม่ไหวก็จะไม่ส่งไปเรียน เพราะไม่อยากให้ปัญหาเกิดขึ้นเหมือนรุ่นก่อนๆ เช่น ฆ่าตัวตาย โดยเมื่อส่งเด็กไปเรียนแล้วก็จะต้องมีการติดตามผลโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หากพบว่าเรียนไม่ไหวก็ให้ส่งกลับทันที หรือพบว่ามีปัญหาก็ให้รีบเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต.

ไทยรัฐออนไลน์ 5 มกราคม 2550

“วิจิตร” ยกเครื่อง 1 ทุน 1 อำเภอ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นทุนฯพัฒนาท้องถิ่น

“ปู่จิตร” ได้ฤกษ์ยกเครื่อง 1 อ.1 ทุน เริ่มต้นจากเปลี่ยนชื่อ “ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” และคัดเลือกจากเขตพื้นที่การศึกษาแทนอำเภอ พร้อมมอบให้ สทศ.คัดเลือกนักเรียนทุนรุ่น 3 เผยปี 50 เตรียมงบพันล้านบาทให้เด็กทุน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อสังคม โดยเปิดโอกาสให้เด็กยากจนได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น ในปี 2550 จะมีการคัดเลือกนักเรียนรุ่นที่ 3 แต่จะเปลี่ยนชื่อจาก 1 อำเภอ 1 ทุน เป็น “ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” และจะไม่เลือกอำเภอละคน แต่จะเลือกโดยยึดเขตพื้นที่การศึกษาแทน ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยนชื่อ รมว.ศธ.กล่าวว่า เพราะการคัดเลือกเด็ก 2 รุ่นที่ผ่านมา ยังกระจายไปไม่ทั่วถึง คือบางจังหวัด บางอำเภอ หรือตัวเมืองใหญ่ จะมีโรงเรียนมัธยม 5-10 โรงเรียน ขณะที่รอบนอกมีแค่ 1-2 โรงเรียน ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบเกิดขึ้น “การคัดเด็กทุนรุ่นที่ 3 จะใช้จำนวนเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 175 เขต เลือกเขตละ 2 คนขึ้นไป บางเขตอาจจะมีเด็กได้ 6 คน 8 คน หรือ 10 คน ขึ้นอยู่กับเขตนั้นๆ เล็กหรือใหญ่ แต่จะดูความเหมาะสม นอกจากนี้จะพิจารณาจากความยากจนโดยดูรายได้ของครอบครัวต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นเกณฑ์เดียวกันกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)” สำหรับการเปลี่ยนจากอำเภอละคนมาใช้เขตพื้นที่การศึกษาจะทำให้จำนวนทุนลดลงหรือไม่ ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่า 2 รุ่นที่ผ่านมา รับไปประมาณ 1,800 คน มีทั้งทุนเรียนในประเทศและต่างประเทศ ส่วนรุ่นที่ 3 จำนวนคงไม่ต่างจากเดิมมากนัก เขตการศึกษาแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่า 2 ทุน และเขตไหนใหญ่อาจจะมีเด็กทุน 6 คน 10 คนก็ได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอของบประมาณเพื่อสนับสนุนเด็กทุนในปี 2550 นี้ ไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนเด็กทุนรุ่นที่ 3 นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้คัดเลือกเด็กทุน เนื่องจากสถาบันแห่งนี้มีความพร้อมทุกด้าน มีข้อสอบที่จะประเมินความรู้ความสามารถของเด็ก อีกทั้งยังเป็นสถาบันที่สังคมให้การยอมรับ ศ.ดร.วิจิตร กล่าวต่อว่า สาขาที่เด็กทุนเลือกเรียนต้องเป็นสาขาที่นำมาพัฒนาประเทศ ดังนั้นไม่ว่าเด็กเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือในประเทศ เราจะส่งให้เรียนกับมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นเฉพาะทางจริงๆ สำหรับเด็กที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ เราจะมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาก่อนไปเรียนต่อจริง อย่างเด็กคนไหนจะต้องไปเรียนประเทศเยอรมนี อาจให้เรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอร์เต้ ส่วนเด็กที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ส่งไปเรียนภาษาจีน เป็นเวลา 6 เดือนหรือ 1 ปี จากนั้นจะมีการประเมินความรู้ความสามารถด้านภาษาว่าเด็กแต่ละคนมีความพร้อมที่จะไปเรียนต่อต่างชาติหรือยัง หากยังไม่พร้อมเราอาจจะให้เรียนกับมหาวิทยาลัยในไทยแทน “การเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้แก่เด็กเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ส่งไปเรียนภาษาที่ต่างประเทศทันที อย่างบางคนเรียนไป 1 ปีเศษแล้วภาษายังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งเป็นการเสียเวลา เพราะฉะนั้น เด็กที่จะไปเรียนต่างชาติจะต้องมีพื้นฐานด้านภาษาดีและคิดว่าพร้อมไปเรียนทันทีหรือเรียนภาษาเพียง 3 เดือน 6 เดือนแล้วเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้เลย”
ผู้จัดการออนไลน์ 4 มกราคม 2550