การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ นทร ODOS2

การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ นทร โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน ( รุ่นที่ 2 )

เรื่อง การวางแผนการศึกษาในอนาคต







วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม 2552 เวลา 10.00-16.30 น. สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส นำโดย อทศ ณ กรุงปารีส ได้จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ นทร โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน ( รุ่นที่ 2 ) เรื่อง การวางแผนการศึกษาในอนาคต ณ ห้องประชุมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส โดยมี นทร เข้าร่วมการประชุม 16 ราย

กิจกรรมภาคเช้า ประกอบกิจกรรมทำความรู้จักเพื่อน / ไขข้อข้องใจ / พักทานอาหารกลางวัน

กิจกรรมภาคบ่าย ไขข้อข้องใจ (ต่อ) และจบด้วยกิจกรรมการวางแผนอนาคตการศึกษา

ปิดประชุมเวลา 16.30 น นทร เดินทางกลับเมืองที่ศึกษาโดยสวัสดิภาพ


ที่มา : สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส

สถิตินักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน - 2 พฤศจิกายน 2552

สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ จำแนกตามประเทศ



สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ซึ่งสำเร็จการศึกษาแล้ว



ที่มา : http://www.ocsc.go.th

รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า มีผู้รับทุน ๑ อำเภอ ๑ ทุน จำนวนหนึ่งไม่กลับประเทศไทย บางส่วนก็ลาออกกลางคัน รวมทั้งมีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม เช่น เงื่อนไขที่ต้องเรียนจบภายใน ๗ ปี เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นที่จะนำไปสู่การขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีต่อ ไปในอนาคต เพราะทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมและได้ข้อสรุป บางส่วน คือ รุ่นที่ ๑ กำหนดให้ใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือเงินหวย แต่เนื่องจากต่อมามีประเด็นปัญหาการใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงได้มีกำหนดให้ใช้เงินจากงบประมาณปกติแทน

โดยที่ประชุมได้มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่าจะใช้งบประมาณ สนับสนุนไม่เกินปีงบประมาณ ๒๕๕๖ สำหรับโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ซึ่งจะช่วยให้เด็กรุ่น ๑ และ รุ่น ๒ เรียนจบตามเงื่อนไขได้ สำหรับงบประมาณปกติที่จะใช้นั้น ถ้านับรวมตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จนถึงปี ๒๕๕๖ จะต้องใช้เงินเป็นจำนวน ๗,๕๕๒ ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปซึ่งได้มอบให้คณะทำงานได้ไปหา คำตอบ โดยมอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ก.พ. กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่เป็นปัญหา

๑. กลุ่มที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิม ที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรกของโครงการ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ ๓ ส่วน
- ผู้ที่เรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็ให้ไปดูว่าจะสามารถบังคับใช้กฎระเบียบ หรือกฎหมายใดได้บ้างที่มาเทียบเคียงเพื่อให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิมที่กำหนด ไว้ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นว่าสามารถใช้มาตรการในเรื่องของการไม่ออกพาสปอร์ตเล่มใหม่ให้ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เป็นต้น แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป
- กลุ่มที่ลาออกกลางคัน จะมีกฎหมายใดหรือระเบียบใดบ้างที่จะดำเนินการได้กับกลุ่มที่ออกกลางคัน โดยมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงการบังคับให้กลับมาในประเทศไทย เช่น เรียน ๔ ปี เมื่อเรียนได้ ๓ ปีครึ่งก็ขอออกกลางคันก็ถือว่าพ้นสภาพไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบต่อการกลับ ประเทศไทย ในลักษณะนี้เราจะมีมาตรการใดที่จะดำเนินการได้เพื่อให้กลับมาทำงานประเทศไทย ตามวัตถุประสงค์เดิมของกองทุน
- กลุ่มที่ ก.พ. ระงับการให้ทุนเรียนต่อในต่างประเทศ แล้วให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทย กลุ่มนี้เรียนไม่จบตามปริมาณหน่วยกิตที่ ก.พ. กำหนด เช่น ปี ๑ กำหนดว่าเรียนผ่านไม่ต่ำกว่า ๕o % ของหน่วยกิตที่กำหนดไว้ ปี ๒ ไม่ถึง ๗o% ดังนั้น ก.พ. ก็จะดำเนินการให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทยแทน แต่ไม่ได้ระงับทุน

๒. กลุ่มที่เป็นไปตามเงื่อนไขใหม่ที่จะขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี กลุ่มนี้จะมาเข้าเงื่อนไขก็ต่อเมื่อทำผิดสัญญา เช่น เรียนไม่จบภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือว่าทำผิดเงื่อนไขอื่นๆ ต่อไปนี้จะใช้วิธีให้ทำสัญญาใหม่ กลุ่มที่เป็นความผิดของผู้รับทุนจะต้องมาทำเข้าเงื่อนไขใหม่ ซึ่งจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- ถ้าจบแล้วไม่กลับประเทศไทยจะทำอย่างไร
- ลาออกกลางคัน
- แม้กลับประเทศไทยแล้ว จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขอย่างไร เช่น เรียนใช้เวลานานเกินกว่าเหตุ ต้องมีภาระผูกพันที่กลับมาประเทศไทยแล้ว จะต้องทำงานในประเทศไทยอย่างน้อยกี่ปี เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไป

๓. เรียนจบแล้วตามเงื่อนไขแต่ขอไปเรียนต่อในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง เช่น เรียนจบปริญญาตรีแล้วขอเรียนต่อด้วยทุนตัวเองในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก กลุ่มนี้จะมีการปรับปรุงกำหนดเงื่อนไขอย่างไร

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า คณะทำงานจะไปหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะได้มีการพิจารณาเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป.

ที่มา : http://www.moe-news.net

ศธ.ตั้งทีม.ดูแลเด็กทุนโอดอสเบี้ยวเงื่อนไขรับทุน

“จุรินทร์” มอบ ปลัด .ศธ. ตั้งทีมศธ.ดูแลเด็กทุนโอดอสเบี้ยวไม่ยอมทำตามเงื่อนไขรับทุน เตรียมขอครม.เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรับทุนใหม่ให้รัดกุมขึ้น พร้อมของบประมาณอักฉีดโครงการนี้ถึงปี 56 เท่านั้น งดให้ทุนนักเรียนที่ไม่จบในเวลาที่กำหนด

(2พ.ย.)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่า ที่ประชุมหารือถึงการดำเนินการกับนักเรียนทุนที่จงใจไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข การรับทุนซึ่งกำหนดให้นักเรียนทุนไม่ต้องทำงานใช้ทุนแต่ต้องกลับประเทศไทย หลังเรียนจบและต้องเรียนจบภายในระยะเวลา 7 ปี อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีนักเรียนทุนทั้ง 2 รุ่นจำนวนหนึ่ง ไม่ยอมกลับประเทศไทยหลังเรียนจบ หรือบางส่วนก็ลาออกจากทุนก่อนเรียนจบเพียงเล็กน้อยเพื่อหวังหลีกเลี่ยง เงื่อนไขให้กลับประเทศไทยหลังเรียนจบ ขณะที่นักเรียนทุนอีกหลายรายต้องขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับทุนโดยขอกลับมา เรียนในประเทศไทยแทน เพราะเรียนที่ต่างประเทศไม่ไหว ทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้น

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุด มอบปลัด.ศธ.เป็นประธาน และมีผู้แทนจาก สำนักงบประมาณ ก.พ. ก.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อหาทางดำเนินการกับนักเรียนทุน 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นนักเรียนทุนที่เรียนจบแล้ว แต่ไม่ยอมกลับประเทศไทย หรือ จงใจลาออกจากการรับทุนก่อนจบ เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับประเทศไทย ก็จะให้คณะทำงานไปดูว่ามีกฎหมายหรือระเบียบใดที่สามารถนำมาบังคับให้ นักเรียนทุนเหล่านี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของทุน ในส่วนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก.ต.เสนอว่า อาจใช้มาตรการไม่ออกพาสปอร์ตเล่มใหม่ให้กับเด็ก ซึ่งจะมีผลให้นักเรียนทุนไม่สามารถอยู่ต่างประเทศได้

ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นนักเรียนทุนที่ขอเปลี่ยนแปลงสัญญารับทุน เช่น นักเรียนทุนที่เรียนในต่างประเทศไม่ไหว ก็จะต้องทำเรื่องขออนุมัติบอร์ดกองทุนกลับมาเรียนในประเทศไทยแทน เพราะฉะนั้นจะให้คณะทำงานใช้โอกาสที่เด็กเปลี่ยนแปลงสัญญาบังคับให้เด็กต้อง ทำสัญญารับทุนใหม่ ที่กำหนดให้ผู้รับทุน รับผิดชอบต่องบประมาณที่เสียไปมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้คณะทำงานจะต้องไปยกร่างเงื่อนไขของทุนขึ้นมาใหม่ และเสนอ ครม. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกองทุน เนื่องจากเงื่อนไขการรับทุนถูกกำหนดออกมาเป็นมติ ครม.

อย่างไรก็ตาม ในเงื่อนไขใหม่ จะมีการกำหนดชัดเจนว่า เด็กที่ออกกลางคันหรือเรียนไม่จบจะต้องรับผิดชอบอย่างไร รวมทั้งกำหนดด้วยว่า เด็กที่ขอเปลี่ยนสายการเรียนหรือขอกลับมาเรียนในประเทศ เพราะเรียนไม่ไหว ซึ่งจะต้องทำให้เสียเวลาเริ่มต้นเรียนใหม่มากขึ้น จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างไร รวมทั้ง จะมีการจัดการทางกฎหมายอย่างไรกับเด็กที่ไม่สามารถเรียนจบภายใน 7 ปีได ส่วนกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่เรียนจบ แต่ต้องการเรียนต่อระดับป.โท ด้วยทุนตัวเอง จะให้คณะทำงานไปดูว่ากำหนดเงื่อนไขต่อเด็กกลุ่มนี้อย่างไร ที่สำคัญจะมีการเสนอ ครม. ขอใช้งบประมาณสนับสนุนโครงการนี้ถึงปี 56 สรุปแล้วโครงการนี้ใช้งบประมาณสนับสนุนตั้งแต่ปี 51-56 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,775 ล้านบาท

อนึ่ง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 1 เริ่มตั้งแต่ปี 2549 มีจำนวน 921 คน รุ่น 2 จำนวน 915 คน รวม 1,836 คน จำนวนนี้เลือกเรียนต่างประเทศจำนวน 1,478 คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 80 คน ออกจากทุน 29 คน ถูกให้กลับมาเรียนในไทย 227 คน ปัจจุบัน เหลือนักเรียนทุนในต่างประเทศ จำนวน 1,142 คน ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนในประเทศไทยนั้น รวม 2 รุ่น 358 คน ข้อมูล ณ 31 ก.ค. สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 157 คน พ้นสภาพ 15 คน เพราะเกรดไม่ดี ความประพฤติไม่ดี ไม่มารายงานตัว 3 คน

ที่มา : http://www.komchadluek.net

“จุรินทร์” จวกเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอซิกแซก ลาออกกลางคัน ชิ่งไม่กลับไทย หวังขุดทองต่างประเทศ

จุรินทร์” จวกเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอ ซิกแซก เรียนจบไม่กลับบ้านเกิดหวังขุดทองต่างประเทศ งัดกลยุทธ์ลาออกกลางคันเพื่อไม่ต้องกลับไทย ขอเรียนต่อโท-เอก ด้วยทุนตัวเอง ย้ำรัฐทุ่มงบสร้างคนพัฒนาประเทศ สั่งปลัด ศธ.หาช่องดัดหลังเด็กทุน เตรียมเสนอ ครม.แก้เงื่อนไข ดึงเด็กทดแทนคุณชาติ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ครั้งที่ 4 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ โดยมีผู้ที่เข้ารับทุนจำนวนหนึ่ง เมื่อได้ทุนแล้วไม่กลับประเทศไทย ลาออกกลางคัน และมีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม เช่น เงื่อนไขที่กำหนดไว้ต้องเรียนจบภายใน 7 ปี เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ข้อสรุปบ้างส่วน ประเด็นที่ 1 เดิมกำหนดไว้ในเรื่องของการใช้เงินก็คือ นักเรียนทุนรุ่นที่ 1 เรียนจากทุนหวย 2 ตัว หวย 3 ตัว ต่อมามีปัญหาการใช้เงินจากทุนหวย จึงให้ใช้เงินจากงบประมาณปกติแทน โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีการกำหนดที่ชัดเจนว่าจะใช้งบประมาณสนับสนุน ไม่เกินปี 2556 เพื่อให้เด็กรุ่น 1 และรุ่น 2 เรียนจบ หากใช้งบประมาณปกติตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2556 จะใช้เงินประมาณ 7,552 ล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ยังมีประเด็นหรือปัญหาที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ตนได้มอบการบ้านให้คณะทำงาน โดยมี นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไปเอาคำตอบกลับมา

สำหรับโจทย์ที่ได้มอบไปมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

กลุ่ม ที่ 1 กลุ่มที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม อย่างเรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย ก็ให้คณะทำงานไปดูว่า จะสามารถบังคับ แก้กฎระเบียบ กฎหมาย อะไรได้บ้าง เพื่อมาเทียบเคียงให้นักเรียนทุนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่าสามารถใช้มาตรการเรื่องของการออกพาสปอร์ต โดยไม่ออกพาสปอร์ตให้เมื่อเล่มเก่าหมดอายุ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

กลุ่ม ที่ 2 กลุ่มที่ลาออกกลางคัน ให้คณะทำงานไปดูว่า จะมีกฎหมาย หรือระเบียบใด ที่ใกล้เคียงที่จะมาดำเนินการได้กลับกลุ่มคนที่ออกกลางคัน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการบังคับให้กลับมาประเทศไทย เช่น เขาเรียน 4 ปี พอเรียนไป 3 ปีครึ่ง ก็ขอลาออกกลางคัน ถือว่าพ้นสภาพ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกลับประเทศไทย การหลีกเลี่ยงลักษณะนี้เราจะทำอย่างไรให้เขากลับมาประเทศไทยตามวัตถุประสงค์ เดิม

กลุ่ม ที่ 3 คือ กลุ่มที่ ก.พ.ระงับการให้ทุน เรียนต่อในต่างประเทศ แล้วให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มนี้จะเรียนไม่จบตามปริมาณหน่วยกิตที่ ก.พ.กำหนด เช่น ปี 1 จะต้องเรียนผ่านไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ปี 2 ร้อยละ 70 ตามที่กำหนด ซึ่ง ก.พ.ให้กลับมาเรียนต่อประเทศไทยแทนแต่ไม่ได้ระงับการให้ทุน อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้จะต้องมีคำตอบกลับมาว่าจะดำเนินการในลักษณะไหนอย่างไร

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 จะเป็นไปตามเงื่อนไขใหม่ ที่จะขอแก้ไข มติ ครม. และจะมาเข้าเงื่อนไขเมื่อเขาผิดสัญญา เช่น เรียนไม่จบภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำผิดเงื่อนไขอื่นๆ ต่อไปนี้จะให้เขามาทำสัญญาใหม่ ส่วนเงื่อนไขใหม่ที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อีกประเด็นเช่น 1.ถ้าเรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย จะทำอย่างไร 2.ลาออกกลางคัน 3.แม้กลับประเทศไทยแล้ว เขาจะต้องรับผิดต่อค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่เพิ่มขึ้นจากการที่เขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างไร เช่นเรียนใช้เวลานาน เขาต้องมีภาระผูกพัน เมื่อกลับประเทศไทยแล้วทำงานอย่างน้อยกี่ปี เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไป ฯลฯ หรือบางคนเรียนจบปริญญาตรีตามเงื่อนไข แต่ขอไปเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอกในต่างประเทศ ด้วยทุนตัวเอง จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขอย่างไร สิ่งเหล่านี้คณะทำงานจะต้องไปหาคำตอบกลับมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้คงได้มีการพิจารณา แล้วนำไปเสนอ ครม.ต่อไป

ถามว่าโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ มีปัญหาแล้วจะมี รุ่นที่ 3 หรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า ขณะนี้ให้ชะลอไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้ยกเลิกโครงการ 1 ทุน 1อำเภอ เพียงแต่เรามีคำนวณค่าใช้จ่ายพบว่าปี 2551-2556 รัฐต้องแบกภาระ 7,552 ล้านบาท นี่ค่าใช้จ่ายเพียงโครงการเดียว

“มี กลุ่มที่ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไข แต่มีช่องว่างที่ต้องหาคำตอบ เช่น เรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย ถามว่าจะทำอย่างไร เพราะเสียงบประมาณไปเปล่าๆ และเขาทำผิดเงื่อนไข อีกกลุ่มเขากำลังจะเรียนจบแต่เขาขอลาออกกลางคัน กลายเป็นว่าเขาพ้นภาระรับผิดชอบ ไม่ต้องกลับไทย ตรงนี้เราจะมีมาตรการอะไรมั้ยเพื่อดำเนินการให้คุ้มค่ากลับเงินที่เสียไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ทำผิดเงื่อนไขแล้วขอแก้เขามาเป็นรายคน และที่ประชุมจะต้องนี้ต้องพิจารณาตลอด อาทิ เรื่องการขอขยายเวลาเรียนต่อ ขอเปลี่ยนคณะ เปลี่ยนมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้เขาทำผิดเงื่อนไข ต่อไปเขาจะต้องทำสัญญาใหม่” รมว.ศธ.ตั้งคำถาม

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ต้องมีเงื่อนไขไว้ด้วยว่า หาเรียนจบแล้วเขาไม่กลับเมืองไทย ลาออกกลางคัน จะทำอย่างไรเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากกลับมาแล้วจะต้องทำงานชดใช้ประเทศกี่ปี เพราะเงื่อนไขเดิมไม่กำหนดไว้เลย เพราะมีบางรายกลับเพียงเดือนเดียวก็ถือว่ากลับแล้ว ในที่สุดเขากลับไปทำงานเมืองนอก ในที่สุดไทยก็เสียงบประมาณเปล่าๆ เลย สำหรับสร้างคนไปทำงานเมืองนอกและประเทศก็ไม่ได้อะไรเลย รัฐส่งให้เรียนเพื่อต้องการให้มาพัฒนาประเทศ นอกจากนี้มีกลุ่มที่เรียนจบแล้ว แต่ขอเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอก จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขผูกพันอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเข้าที่ประชุม ครม.

ที่มา : http://manager.co.th - 2 พฤศจิกายน 2552

นักเรียนทุนไทยในเดนมาร์ก

ที่มา : http://www.thaiembassy.dk

ชมเชยนักเรียนทุนโอดอส

รอง เลขาธิการ ก.พ. ชมเชยนักเรียนทุนโอดอส ที่มีความประพฤติดีและความมุ่งมั่นในการเรียนอย่างต่อเนื่อง จนสามารถผ่านการประเมินความเหมาะสม และได้รับทุนรัฐบาลเพื่อศึกษาต่อระดับ ป.โท-เอก ในต่างประเทศ

ว่าที่ร้อยตรีวินัย ชาคริยานุโยค รองเลขาธิการ ก.พ. เปิด เผยว่า ศูนย์จัดการศึกษาในต่างประเทศและบริหารความรู้ สำนักงาน ก.พ. ได้รับรายงานจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถึงผลการคัดเลือกบุคคลในต่างประเทศเพื่อรับทุนรัฐบาลที่จัดสรร ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามความต้องการของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยประกาศรายชื่อบุคคลในต่างประเทศที่มีสิทธิได้รับทุนฯ ประกอบด้วย ทุนด้านโลหะและวัสดุ ได้แก่ นางสาววริษฐา จันทพร , นางสาวนิรมล จันทรชาติ และ นางสาวศันศนีย์ ศรีจันทร์ ทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นางสาวรุ่งนภา บุญภวา , นางสาววาสนา แผลติตะ , นางสาวกิตติมา ไวไธสง , นางสาวนฤมล ศรีสมัย , นางสาววาสนา สุโยธา และ นางสาวพีรยา ตรีรัสสพานิช รวม 10 คน เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ตามความต้องการของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้ที่เคยได้รับทุน ODOS หรือ หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน มาแล้วทั้งสิ้น

สำหรับทุน ODOS หรือ หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เป็นทุนการศึกษาของรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้นักเรียน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับการคัดเลือกจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอที่ ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในการศึกษา แต่มีผลการเรียนและความประพฤติดี ให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งใน และต่างประเทศ แต่ต้องศึกษาในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย สวีเดน เบลเยียม โปรตุเกส และ สวิตเซอร์แลนด์

รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องขอชมเชยนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ว่าเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีและมีความมุ่งมั่นในการเรียนจนมีผลการเรียนดี อย่างต่อเนื่อง มีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นผู้ผ่าน การประเมินความเหมาะสม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ซึ่งในอนาคตจะสามารถสร้างความมั่นคงทางอาชีพของตนเองและครอบครัว เป็นรากฐานต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ ตลอดจนนำความรู้ ความสามารถและทักษะที่ได้รับกลับมาพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ต่อไป

ที่มา : http://www.ocsc.go.th

Facebook One District One Scholarship

join group ODOS on Facebook

โครงการครูพันธุ์ใหม่ สำหรับ นทร ODOS

คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( คณะกรรมการการวางแผนการผลิต และพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา) มีโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ และให้รับนักเรียนทุนโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย

การรับสมัคร จะรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีเข้าศึกษาวิชาชีพครู ณ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปีครีง และมีทุนการศึกษาให้ในระหว่างเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะบรรรจุเข้ารับราชการเป็นครูในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2553 เป็นปีแรก

ผู้สนใจโปรดติดต่อ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ

โทร 02628 5646 ต่อ 111 โทรสาร 02281 0953

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ที่มา : สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส - กันยายน 2552

สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ซึ่งสำเร็จการศึกษาแล้ว

สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ซึ่งสำเร็จการศึกษาแล้ว - 17 สิงหาคม 2552
ที่มา : http://www.ocsc.go.th

สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ จำแนกตามประเทศ

สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ จำแนกตามประเทศ 17 สิงหาคม 2552
ที่มา : http://www.ocsc.go.th

รมว.ศธ.เร่ง คกก.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน พิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของ นศ.ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

รมว.ศธ.เร่ง คกก.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน พิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของ นศ.ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน พิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของนักศึกษาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ มากที่สุด หลังรัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวมานำเสนอที่ประชุม เพิ่มเติม อาทิ ปัญหานักเรียนในโครงการไปเรียนในต่างประเทศ โดยไม่ทราบว่าประเทศที่เดินทางไปศึกษาต่อไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี ในขณะที่ระเบียบของโครงการกำหนดให้นักศึกษาต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้มีบางประเทศมีเงื่อนไขบังคับว่า ก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะต้องเรียนภาษาอย่างน้อย 2 ปี และต้องเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยอีก 1 ปี จึงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เคยเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความเร่งรีบในการดำเนินโครงการจึงเกิดเป็นปัญหาที่ค้างมา จนถึงปัจจุบัน ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาในการขอ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากข้อตกลงเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด รวมทั้งขอให้คณะกรรมการไปพิจารณาด้วยว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะนำไปสู่การขอทบทวนมติ คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันว่า นักเรียนในโครงการจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่มีการยกเลิกกลางคัน แน่นอนเพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก แต่ในส่วนของการดำเนินการในรุ่นที่ 3 นั้น จะต้องชะลอไปก่อน

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

"จุรินทร์"เล็งให้ผู้รับทุน1อำเภอ1ทุนต้องทำงานใช้ทุน

"จุรินทร์"เล็งให้ผู้ได้รับทุน 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรับทุน ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนเมื่อชาติต้องการ คนเรียนเกิน 7 ปี ออกเงินค่าใช้จ่ายในปีที่เหลือเอง ตั้งกรรมการศึกษารายละเอียด
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2552 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ครั้งที่ 3 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การประชุมนัดนี้ก็ยังมีการเสนอปัญหาต่าง ๆ ให้บอร์ดพิจารณาแก้ไขอยู่หลายกรณี หลังจากที่การประชุมนัดที่แล้ว ก.พ.รายงานปัญหานักเรียนทุนที่เลือกเรียนต่างประเทศจำนวนมากเรียนไม่ไหว ต้องขอกลับมาเรียนต่อในประเทศไทยจำนวน 227 ราย จากจำนวนนักเรียนทุน 2 รุ่นที่เลือกเรียนต่างประเทศจำนวน 1,478 ราย และมีจำนวน 29 ถูก ก.พ.ตัดสินให้ออกจากทุน

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า การประชุมนัดนี้ ก.พ. ได้รายงานปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น กรณีเด็กไปถึงประเทศนั้นๆ แล้ว เช่น สเปน ออสเตรีย เพิ่งรู้ว่า ประเทศนั้นไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี มีแต่ระดับอนุปริญญาแล้วข้ามไปเป็นปริญญาโทเลย ซึ่งขัดเงื่อนไขของทุนที่ระบุให้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรีเท่านั้น หรือบางประเทศกำหนดตายตัวให้เรียนภาษาก่อน 1 ปี และเตรียมตัวก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอีก 2 ปี จึงจะสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ทำให้เด็กมีแนวโน้มเรียนจบไม่ทันภายใน 7 ปี ตามเงื่อนไขของโครงการ

“เมื่อพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นได้ชัดว่า เกิดขึ้นจากการเร่งดำเนินโครงการจนขาดความรอบครอบและเตรียมความพร้อมรองรับ ไว้เพียงพอ ตลอดเวลาที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2549 จึงเกิดปัญหาค้างคามาหลายเรื่อง บอร์ดโครงการต้องคอยมาตามแก้ไขปัญหาให้ทีละรายโดยเฉพาะปัญหานักเรียนทุน เรียนไม่ไหวต้องขอกลับมาเรียนในประเทศแทน ซึ่งหลายรายเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเอกชน และเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ยาก ค่าใช้จ่ายสูงมาก อย่างเช่น คณะทันตแพทย์ที่มีค่าเทอมปีละหลายแสน เพราะฉะนั้น บอร์ดโครงการฯ จึงมีมติตั้งกรรมการ 1 ชุด มอบรองผอ.สำนักงปบระมาณเป็นประธาน ไปพิจารณาว่า กรณีนักเรียนทุนที่มีขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรับทุนทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องตอบแทนอะไรกลับมาบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสวนร่วมมากขึ้น เพราะเงื่อนไขรับทุนเดิม ไม่ได้กำหนดให้นักเรียนทุนเหล่านี้ ต้องตอบแทนอะไรเลย ขอแค่ให้กลับมาประเทศไทยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง หลายรายเรียนจบแล้วก็ไม่ยอมกลับประเทศไทย “ รมว.ศธ. กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า โครงการฯนี้ ควรจะมีการทบทวนเงื่อนไขการให้ทุนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากกว่านี้ เพราะเป็นโครงการที่ยังต้องใช้งบประมาณอุดหนุนอีกกว่า 5 พันล้านบาท แต่สำหรับนักเรียนทุนที่เรียนได้ดี ไม่เคยมาขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับทุน เช่น ขอกลับมาเรียนในไทยนั้น คงไม่สามารถไปดำเนินการใด ๆ กับเด็กที่ได้รับทุน อย่างไรก็ตาม กรณีเด็กที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับทุนนั้น อาจจะมีการแก้ไขเงื่อนไขใหม่ให้พวกเขาต้องกลับมาทำงานชดใช้ หากว่าหน่วยราชการ หรือท้องถิ่นมีความต้องการกำลังคนด้านนั้นพอดี หรือ กรณีที่เด็กเรียนเกิน 7 ปี นั้น อาจกำหนดให้เด็กต้องออกค่าใช้จ่ายในปีที่เกินไปเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา จะเสนอทบทวนเงื่อนไขการให้ทุนอย่างไรมา แต่ตนให้เวลาไปศึกษาประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วจะเรียกประชุมบอร์ดอีกครั้ง ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการขอเปลี่ยนแปลงมติครม.เดิม ก็จะต้องดำเนินการ เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้โครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมมากขึ้น

อนึ่ง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 1 มีจำนวน 921 คน รุ่น 2 จำนวน 915 คน รวม 1,836 คน จำนวนนี้เลือกเรียนต่างประเทศจำนวน 1,478 คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 80 คน ออกจากทุน 29 คน ถูกให้กลับมาเรียนในไทย 227 คน ปัจจุบัน เหลือนักเรียนทุนในต่างประเทศ จำนวน 1,142 คน ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนในประเทศไทยนั้น รวม 2 รุ่น 358 คน ข้อมูล ณ 31 ก.ค. สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 157 คน พ้นสภาพ 15 คน เพราะเกรดไม่ดี ความประพฤติไม่ดี ไม่มารายงานตัว 3 คน

ที่มา : http://www.komchadluek.net

แฉ 1 อำเภอ 1 ทุนปัญหาอื้อ! เตรียมหาช่องเด็กผิดเงื่อนไขรับใช้สังคม

“จุรินทร์” แฉโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ปัญหาอื้อ พบเด็กเลือกประเทศไม่รู้ว่าไม่มีการสอนระดับปริญญาตรี ส่วนเดนมาร์ก สวีเดน มีเงื่อนไขเด็กต้องเรียนภาษา 2 ปี เตรียมมหาวิทยาลัย 1 ปี ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย เจอ นร.บางคนขอเรียนต่อ 8-9 ปีส่วนเด็กขอกลับเมืองไทย เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน คณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง สั่งคณะทำงานหาช่องปรับ ครม.ให้เด็กผิดเงื่อนไขรับใช้สังคม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการ 1 อำเภอ 1 ทุน โดยคณะทำงานได้รวบรวมปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบ เช่น เด็กไปเรียนต่างประเทศโดยไม่ทราบว่าประเทศที่ไปเรียนนั้น ไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี แต่เริ่มต้นสอนระดับปริญญาโท เช่น สเปน ออสเตรีย เป็นต้น ซึ่งขัดกับระเบียบของกองทุนที่กำหนดให้ไปเรียนระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศเดนมาร์ก สวีเดน เขามีเงื่อนไขว่าก่อนที่จะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะต้องเรียนภาษาอย่างน้อย 2 ปี เรียนเตรียมมหาวิทยาลัย 1 ปี รวมเป็น 3 ปี ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย

นายจุรินทร์ระบุว่า คณะทำงานต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความเร่งรีบในการดำเนินโครงการ ขาดการตรวจสอบและเตรียมการให้มีความพร้อมก่อน ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งเรียนต่อไม่ได้ ต้องขอกลับมาเรียนในประเทศไทย เด็กบางคนเลือกมหาวิทยาลัยเอกชน คณะทันตแพทย์ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก

นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน (ก.พ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาว่าเด็กที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากข้อตกลงเดิม จะมีการปรับหลักเกณฑ์อย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และท้องถิ่น โดยให้เวลา 1 เดือนในการปรับเงื่อนไข เพราะเดิมแทบไม่มีเงื่อนไขเลย ขอแค่ให้เด็กกลับเมืองไทย ซึ่งมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่กลับเมืองไทย

“ให้คณะทำงานไปดู 2 ประเด็น ว่ามีความจำเป็นที่จะนำไปสู่ขอทบทวนมติ ครม.ที่เคยระบุให้ไปเรียน 7 ปี โดยไม่ต้องใช้ทุน เพื่อให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่น กับประเด็นอะไรที่ต้องทบทวนหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่คณะกรรมการได้มีมติ ไปแล้ว โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่นมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นภาระของรัฐบาลอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท จึงชะลอรุ่นที่ 3 ไว้ก่อน เพราะขณะนี้มีปัญหายุ่บยั่บให้แก้ไข” รมว.ศธ.กล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลมีทุนให้มากมาย แต่เป็นทุนที่มีความรอบคอบและเหมาะสม เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เรามีทุนให้ 1 หมื่นทุน ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะมีการขบวนการคัดเลือกการให้ทุนที่ชัดเจน ไม่เหมือน 1 อำเภอ 1 ทุน

นาย จุรินทร์กล่าวว่า หากแก้เงื่อนไขสำหรับเด็กที่ขอเปลี่ยนเงื่อนไข ส่วนตัวคิดว่าสังคมต้องได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่เด็กได้ฝ่ายเดียว เช่น เด็กบางคนจะขอเรียนต่อ 8 ปี 9 ปี หรือกรณีต้องเรียนในสาขาที่ขอไปเรียนในประเทศนั้นให้จบ แต่ว่าเรียนไม่จบแล้วกลับมาเรียนในเมืองไทย ตรงนี้ถือว่าไม่ตรงตามเงื่อนไข คณะกรรมการสามารถปรับปรุงเงื่อนไขได้ เช่น ภาครัฐหรือท้องถิ่นต้องการให้เด็กมาทำงาน หรือเด็กที่เรียนเกินเวลาที่กำหนด เช่นเรียนเกิน 7 ปี เด็กจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองหรือไม่ในส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอการพิจารณาจากคณะทำงานเสียก่อน ส่วนเด็กที่ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขก็ใช้เงื่อนไขเดิม

ที่มา : http://manager.co.th

สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ จำแนกตามประเทศ


สรุปจำนวนนักเรียนทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่กำลังศึกษา ณ ต่างประเทศ จำแนกตามประเทศ 3 สิงหาคม 2552
ที่มา : http://www.ocsc.go.th

ศธ.ประชุมคณะกรรมการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน

กระทรวงศึกษาธิการ · นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒

รมว.ศธ.กล่าวว่า โครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยได้อนุมัติให้เด็กไปเรียนต่างประเทศแล้ว ๒ รุ่น จำนวนประมาณ ๑,๘๐๐ คน ใช้เงินสนับสนุนประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านบาท แต่ภายหลังจากที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ยุติการให้เงินสนับสนุน รัฐบาลจึงต้องรับภาระงบประมาณเพิ่มเติมอีก ๕,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อให้นักเรียน ๑,๘๐๐ คนนี้เรียนจนจบการศึกษาตามเงื่อนไขเดิมคือ ให้เรียนในระดับปริญญาตรีไม่เกิน ๗ ปี โดยไม่มีข้อผูกมัดว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องชำระทุนคืน แต่มีเพียงเงื่อนไขเดียวคือ เมื่อจบการศึกษาแล้วให้กลับประเทศไทย ขณะนี้พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น นักเรียนทุนขอปรับเปลี่ยนสาขาวิชาที่เรียน ขอกลับมาเรียนในประเทศไทย หรือการขออยู่ต่อที่ต่างประเทศเมื่อจบการศึกษาแล้ว โดยมีการขอเป็นกรณีๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นภาระของคณะกรรมการที่จะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล

ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา ๑ ชุด โดยมอบหมายให้ผู้แทน ก.พ. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาว่าจะมีการกำหนดเกณฑ์หลักใหม่อย่างไรให้สอดคล้องเหมาะสม เพื่อจะไม่ต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคล ให้เสร็จสิ้นภายใน ๒ สัปดาห์ แล้วนำกลับเข้าที่ประชุมพิจารณาในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๒

รมว.ศธ. ได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามี ๒ กรณีคือ การยุติการเรียนในต่างประเทศ และการยกเลิกทุน โดยนักเรียนทุนทั้ง ๒ รุ่น มีนักเรียนที่เรียนได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ก.พ.จึงให้ยุติการเรียนในต่างประเทศและให้กลับมาเรียนในประเทศไทยจำนวน ๒๒๗ ราย และกรณีของการยกเลิกทุน/ให้ออกจากโครงการ เนื่องจากมีนักเรียนทุนไปแต่งงานกับชาวต่างชาติที่นั่น หรือมีผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ แต่ไม่กลับมาเรียนในไทย ก.พ.จึงตัดสินให้ออกจากโครงการ รวม ๒๙ ราย และยังมีกรณีที่เป็นปัญหาค้างอยู่ ๑ ราย คือเด็กที่ไปเรียนที่สวีเดนทำไฟไหม้ห้องพัก มีค่าเสียหายประมาณ ๑ ล้านกว่าบาท ซึ่งมีการพิจารณาแล้วว่าเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ที่ทางราชการไม่สามารถนำเงินงบประมาณไปชดใช้ค่าเสียหายให้ได้ สถานเอกอัครราชทูตไทยในสวีเดนจึงชดใช้ค่าเสียหายแทนนักเรียนไปก่อนเพื่อไม่ให้นักเรียนผู้นั้นถูกฟ้องร้อง และให้นักเรียนชดใช้เงินเป็นงวดๆ ซึ่งที่ประชุมได้ให้สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. หาแนวทางระดมเงินช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว ในขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการคลัง, นิติการ สป., คลัง สป., ก.พ. โดยมีผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป. เป็นเลขานุการ เพื่อพิจารณาระเบียบราชการที่จะช่วยเหลือและแก้ปัญหาดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับการดำเนินงานในรุ่นที่ ๓ นั้นได้ชะลอโครงการไว้ก่อน แต่ยังไม่มีข้อสรุปสำหรับการยกเลิกโครงการ และอาจมีการปรับเงื่อนไขให้เป็นประโยชน์กับประเทศมากขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในงบประมาณซึ่งเป็นงบของส่วนรวม ซึ่งจะต้องให้คณะทำงานพิจารณาต่อไปด้วย

จากข้อมูลปัจจุบัน นักเรียนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ที่สำเร็จการศึกษาทั้งรุ่นที่ ๑ และ ๒ มีจำนวน ๒๓๔ คน สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ๗๗ คน และในประเทศ ๑๕๗ คน.

ที่มา : http://www.moe.go.th

เสมา1อ้างไม่คุ้มค่า 1ทุน1อำเภอ สั่งชะลอรุ่น3

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ แฉ 1 ทุน 1 อำเภอไม่คุ้มค่างบประมาณที่รัฐต้องเสีย ชี้เด็กเรียนเมืองนอกไม่ไหวขอกลับมาเรียนไทยอื้อ ในขณะที่ส่วนหนึ่งทิ้งทุนหนีไปแต่งงาน สั่งตั้งคณะทำงานเตรียมปรับเงื่อนไข เพื่อประโยชน์โดยรวม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าววันนี้ (4 ส.ค.) ว่า จากการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ได้หารือโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น มีการอนุมัติให้ทุนเด็กไทยเรียนต่อทั้งในและต่างประเทศ รวม 1,800 คน โดยใช้เงินสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสนับสนุนไปแล้ว 5,000 ล้านบาท หลังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยุติการสนับสนุนโครงการรัฐต้องมีภาระจัดสรรงบ ประมาณเพิ่ม เติมอีก 5,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป รวมนักเรียนในโครงการต้องใช้งบประมาณรวม 10,000 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่านักเรียน 1,800 คนที่ได้รับทุน เรียนจบแล้ว 234 คน จบในประเทศ 157 คน จบต่างประเทศ 77 คน แบ่งเป็นรุ่น 1 จบ 229 คน ส่วนรุ่น 2 จบแล้ว 5 คนในประเทศไทยทั้งหมด มีเด็กที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตัดสินใจให้ยุติการเรียนในต่างประเทศ กลับมาเรียนต่อในไทย 227 คน และมีนักเรียนถูกให้ออกจากทุน 29 ราย เพราะจำนวนหนึ่งไปแต่งงานกับชาวต่างประเทศและไม่ยอมเรียนต่อ เมื่อมีคำสั่งให้กลับมาเรียนต่อที่ประเทศไทยก็ไม่กลับจึงจำเป็นต้องสั่งให้ ออกจากทุน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า จากการพิจารณาเงื่อนไขโครงการเดิมพบว่า ให้เรียนระดับปริญญาตรี ไม่เกิน 7 ปี และไม่มีข้อผูกมัดว่าต้องชดใช้ทุนเพียงแต่ต้องกลับประเทศไทย ปรากฏว่าช่วงที่ผ่านมามีนักเรียนทุนยื่นขอเปลี่ยนเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง อาทิ เปลี่ยนสาขาวิชาที่เรียน ขอกลับมาเรียนต่อในประเทศไทย หรือขออยู่ต่อต่างประเทศเมื่อเรียนจบแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าเงื่อนไขเดิมมีปัญหา ไม่คุ้มกับงบประมาณของประเทศที่เสียไป จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงาน ก.พ. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้เหมาะสม โดยอาจต้องกำหนดให้มีการชดใช้ทุนในกรณีที่มีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข

"ผม คงยังไม่สรุปว่าโครงการนี้สำเร็จหรือล้มเหลว จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกโครงการ แต่ที่สรุปได้ตอนนี้คือเป็นโครงการที่มีปัญหามากโครงการหนึ่งที่จะต้อง ปรับปรุงแก้ไขต่อไป ได้สั่งให้ชะลอการคัดเลือกนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 ไว้ก่อน เพราะรุ่น 1-2 ก็ยังมีภาระงบประมาณอีก 5,000 ล้าน จึงจำเป็นต้องหาแนวทางปรับปรุงเงื่อนไข เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ที่มา : http://www.thairath.co.th

1 อ.1 ทุน ปัญหาอื้อ!!! เด็กเรียนนอกจบแค่ 77 คน หนีแต่งงานฝรั่งไม่กลับไทย

ประชานิยม “แม้ว” ออกฤทธิ์ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ปัญหาอื้อ!!! “จุรินทร์” เผย เด็กไปเรียนเมืองนอกศึกษาจบแค่ 77 ราย เรียนไม่ถึงเกณฑ์ต้องเรียกกลับไทย 227 ราย อีก 29 ราย ต้องให้พ้นจากทุน เพราะไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ แถมให้กลับมาเรียนในไทยไม่ยอมกลับมา ขณะที่บางส่วนเรียนจบแล้วไม่ยอมกลับประเทศ ไม่ฟันธงเดินหน้ารุ่น 3 เพราะต้องแบกภาระ 5 พันล้าน ตั้งคณะทำงานกำหนดเงื่อนไขคุมเด็กทุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งได้มีการตรวจสอบสถานการณ์โครงการ 1 อำเภอ 1ทุน พบว่า มีการดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 1,800 ทุน และใช้เงินไปประมาณ 5,000 ล้านบาท และรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณอีก 5,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเงินส่วนนี้แล้ว เพื่อเป็นทุนในการเรียนจนจบปริญญาตรี กำหนดให้ไม่เกิน 7 ปี โดยไม่มีข้อผูกพันว่าเรียนจบแล้วต้องกลับมาใช้ทุน มีเงื่อนไขแค่เรียนจบแล้วให้กลับประเทศไทย

ทั้งนี้ นักเรียนทุนจำนวน 2 รุ่น มีผู้เรียนจบทั้งสิ้น 234 คน เรียนจบในประเทศ 157 คน ต่างประเทศ 77 คน( ฝรั่งเศส 31 ญี่ปุ่น 2 สวิต 14 จีน 5 เนเธอแลนด์ 9 รัสเซีย 1 อินเดีย 15)แต่ก็มีนักเรียนเรียนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด 227 ราย ให้เด็กกลุ่มนี้เดินทางกลับมาเรียนในประเทศไทย และให้เด็กออกจากทุนจำนวน 29 ราย เนื่องจากไปแต่งงานกับชาวต่างชาติแล้วไม่เรียน ซึ่งก่อนที่จะให้ออกจากทุนนั้นขอให้เด็กกลับมาเรียนที่เมืองไทยแต่เด็กไม่มา นอกจากนี้ ยังมีเด็กขอเปลี่ยนสาขา ขอกลับมาเรียนในประเทศไทย ขออยู่ต่างประเทศภายหลังเรียนจบปริญญาตรี

“มีปัญหาเกิดขึ้นหลายเรื่อง มีปัญหาบางเรื่องที่ต้องมาทบทวนรายละเอียดต่างๆ เช่น เด็กขอเปลี่ยนสาขา ขอกลับมาเรียนในเมืองไทย ซึ่งเป็นภาระกับคณะกรรมการต้องตามไปดูแล้วมาพิจารณาเป็นรายกรณี และขณะนี้มีเด็กทุนาขอเปลี่ยนเงื่อนไข 7-8 ราย แต่ให้ระงับไว้ก่อน เพราะจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีแทนจากสำนักงานงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน (ก.พ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะทำงานชุดนี้ไปกำหนดเกณฑ์ เงื่อนไขใหม่ นักเรียนไปเรียนแล้วขอเปลี่ยนเงื่อนไข จะได้ไม่ต้องมาพิจารณาเป็นรายคน หากได้ข้อสรุปอย่างไรให้นำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับปัญหานักเรียนทุนที่ประเทศสวีเดน ที่ทำให้เกิดไฟไหม้หอพัก มีค่าเสียหาย 1 ล้านบาทนั้น นักเรียนต้องรับผิดชอบส่วนที่เสียหายดังกล่าว แต่ทางสถานทูตไทยในสวีเดนได้สำรองจ่ายแทนให้ก่อน แล้วให้เด็กแบ่งจ่ายคืนเป็นงวดๆ

ถามว่า จะมีรุ่น 3 หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขอชะลอไว้ก่อน เพราะเด็ก 2 รุ่น รัฐบาลยังมีภาระผูกพันประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ตนยังไม่สรุปว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก

ที่มา : http://manager.co.th

“อู๊ดด้า” สั่งชะลอทุนหวย รัฐแบกภาระหมื่นล้านหลังหยุดขายหวยบนดิน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ รุ่น 3 ขอให้ชะลอออกไปก่อน ขอดูผลประเมินเด็ก 2 รุ่น เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่จัดโดยทุนหวยบนดิน เพื่อคัดเลือกนักเรียนแล้วส่งไปเรียนยังต่างประเทศ และเป็นประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งรุ่นแรกปี 2547 จำนวน 379 คน เด็กทุนเรียนไปได้ระยะหนึ่งเรียนไม่ไหวขอกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่ ประเทศไทย 157 คน ส่วนรุ่นที่ 2 ปี 2549 จำนวน 739 คน เด็กมีความประสงค์ขอกลับมาเรียนประเทศไทย 46 คน ซึ่งเด็กทุนทั้ง 2 รุ่นนี้ จะต้องใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วงหลังไม่มีการจำหน่ายหวยบนดิน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งยังเหลือภาระผูกพันประมาณ 5 พันล้านบาทที่จะต้องจ่ายให้เด็กทุนไปจนกว่าจะเรียนจบ

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า นักเรียนที่ขอกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยในไทย บางคนมีปัญหาเรื่องภาษา การปรับตัวเข้ากับต่างประเทศ บางรายใช้เวลาเรียนเกินกำหนดแทนที่จะจบภายใน 4 ปีก็ไม่จบ ด้วยเหตุนี้จึงอยากให้มีการประเมินผลนักเรียนทุน

“ผม ได้มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปประเมินผลนักเรียนทุนทั้ง 2 รุ่น ผมขอดูผลประเมินเสียก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ ระหว่างนี้ขอให้ชะลอรุ่นที่ 3 ออกไปก่อน และในปีการศึกษา 2552 คงไม่มีเด็กทุนรุ่นที่ 3”นายจุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย


ขอบคุณที่มา : http://manager.co.th

'จุรินทร์' เตรียมรื้อทุนอำเภอรุ่น 3

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว. ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดเตรียมข้อมูลการดำเนินโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ซึ่งเป็นการนำเงินรายได้จากการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวมาจัดสรรทุนการศึกษาให้นักเรียนได้เรียนในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ ว่า มีผู้ที่ได้รับทุนในโครงการดังกล่าวไปแล้วกี่คน และมีสถานภาพอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถนำเงินสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัวมาใช้ได้แล้ว อย่างไรก็ตามไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ก็ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียนในโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ที่ได้รับทุนในรุ่นที่ 1 และ รุ่นที่ 2 ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ทั้งในและต่างประเทศแน่นอน ส่วนจะนำงบประมาณจากแหล่งการเงินใดมาสนับสนุนนั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

“ผมต้องขอเวลาศึกษาข้อมูล และนำไปหารือกับที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการก่อน ว่าโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และควรจะสานต่อโครงการในรุ่นที่ 3 หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าโครงการนี้มีปัญหามากพอสมควร ทั้งในด้านกฎหมาย และในทางปฏิบัติ ส่วนผู้ที่ได้รับทุนเรียนอยู่แล้วรัฐบาลก็พร้อมจะดูแลให้จนเรียนจบการศึกษาทุกคน ไม่มีการทิ้งเด็กกลางคันแน่นอน” นายจุรินทร์ กล่าว.

ขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th

“จุรินทร์” สั่งศึกษาข้อมูล “1 ทุน 1 อำเภอ” ก่อนชี้ชะตารุ่น 3 ยันไม่ทิ้งรุ่น 1-2 กลางคัน

“จุรินทร์” สั่งผู้บริหารองค์กรหลักศึกษาข้อมูล “1 ทุน 1 อำเภอ” อีกรอบ ก่อนชี้ชะตารุ่น 3 ยืนยันไม่ทอดทิ้งนักเรียนทุนรุ่น 1-2 กลางคันแน่นอน ยอมรับโครงการมีปัญหาค่อนข้างมาก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ว่า ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดเตรียมข้อมูลการดำเนินโครงการดังกล่าวว่า ขณะนี้มีนักเรียนที่ได้รับทุนในโครงการดังกล่าวจำนวนเท่าใด และมีสถานภาพอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวนี้ ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถนำเงินสลากกินแบ่งพิเศษมาใช้ได้แล้ว ดังนั้นโครงการนี้ควรเดินหน้าอย่างไรต่อไปก็จะต้องมาหารือกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ก็ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อการเรียนของนักเรียนในโครงการ 1ทุน 1 อำเภอ ที่ได้รับทุนในรุ่นที่ 1-2 และกำลังศึกษาอยู่แน่นอน ส่วนจะนำงบฯ จากแหล่งเงินใดมาสนับสนุนนั้น คงต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

“คงต้องขอเวลาไปดูข้อมูลแล้วนำมาคุยกันในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ก่อน ว่า โครงการนี้ยังมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน แต่ถึงรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างใดก็จะไม่กระทบกับนักเรียนที่ได้รับทุนและเรียนอยู่แน่นอน รัฐบาลพร้อมจะดูแลให้เรียนจนจบการศึกษาทุกคน ไม่การทิ้งเด็กกลางคัน แต่ในส่วนที่ว่าจะมีการสานต่อโครงการในรุ่นที่ 3 หรือไม่นั้น ต้องขอดูข้อมูลอีกครั้ง เพราะต้องยอมรับว่า โครงการนี้มีปัญหามากพอสมควร ทั้งในด้านกฎหมายและในทางปฏิบัติ” นายจุรินทร์ กล่าว

ขอบคุณที่มา : http://manager.co.th