รมว.ศธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ครั้งที่ ๔/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ที่ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ.เปิดเผยว่า มีผู้รับทุน ๑ อำเภอ ๑ ทุน จำนวนหนึ่งไม่กลับประเทศไทย บางส่วนก็ลาออกกลางคัน รวมทั้งมีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม เช่น เงื่อนไขที่ต้องเรียนจบภายใน ๗ ปี เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นที่จะนำไปสู่การขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีต่อ ไปในอนาคต เพราะทั้งหมดนี้เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิมและได้ข้อสรุป บางส่วน คือ รุ่นที่ ๑ กำหนดให้ใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือเงินหวย แต่เนื่องจากต่อมามีประเด็นปัญหาการใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงได้มีกำหนดให้ใช้เงินจากงบประมาณปกติแทน

โดยที่ประชุมได้มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดให้ชัดเจนลงไปว่าจะใช้งบประมาณ สนับสนุนไม่เกินปีงบประมาณ ๒๕๕๖ สำหรับโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ซึ่งจะช่วยให้เด็กรุ่น ๑ และ รุ่น ๒ เรียนจบตามเงื่อนไขได้ สำหรับงบประมาณปกติที่จะใช้นั้น ถ้านับรวมตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จนถึงปี ๒๕๕๖ จะต้องใช้เงินเป็นจำนวน ๗,๕๕๒ ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปซึ่งได้มอบให้คณะทำงานได้ไปหา คำตอบ โดยมอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ก.พ. กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่เป็นปัญหา

๑. กลุ่มที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิม ที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรกของโครงการ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ ๓ ส่วน
- ผู้ที่เรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็ให้ไปดูว่าจะสามารถบังคับใช้กฎระเบียบ หรือกฎหมายใดได้บ้างที่มาเทียบเคียงเพื่อให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเดิมที่กำหนด ไว้ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นว่าสามารถใช้มาตรการในเรื่องของการไม่ออกพาสปอร์ตเล่มใหม่ให้ หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข เป็นต้น แต่ทั้งนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป
- กลุ่มที่ลาออกกลางคัน จะมีกฎหมายใดหรือระเบียบใดบ้างที่จะดำเนินการได้กับกลุ่มที่ออกกลางคัน โดยมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงการบังคับให้กลับมาในประเทศไทย เช่น เรียน ๔ ปี เมื่อเรียนได้ ๓ ปีครึ่งก็ขอออกกลางคันก็ถือว่าพ้นสภาพไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบต่อการกลับ ประเทศไทย ในลักษณะนี้เราจะมีมาตรการใดที่จะดำเนินการได้เพื่อให้กลับมาทำงานประเทศไทย ตามวัตถุประสงค์เดิมของกองทุน
- กลุ่มที่ ก.พ. ระงับการให้ทุนเรียนต่อในต่างประเทศ แล้วให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทย กลุ่มนี้เรียนไม่จบตามปริมาณหน่วยกิตที่ ก.พ. กำหนด เช่น ปี ๑ กำหนดว่าเรียนผ่านไม่ต่ำกว่า ๕o % ของหน่วยกิตที่กำหนดไว้ ปี ๒ ไม่ถึง ๗o% ดังนั้น ก.พ. ก็จะดำเนินการให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทยแทน แต่ไม่ได้ระงับทุน

๒. กลุ่มที่เป็นไปตามเงื่อนไขใหม่ที่จะขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี กลุ่มนี้จะมาเข้าเงื่อนไขก็ต่อเมื่อทำผิดสัญญา เช่น เรียนไม่จบภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือว่าทำผิดเงื่อนไขอื่นๆ ต่อไปนี้จะใช้วิธีให้ทำสัญญาใหม่ กลุ่มที่เป็นความผิดของผู้รับทุนจะต้องมาทำเข้าเงื่อนไขใหม่ ซึ่งจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- ถ้าจบแล้วไม่กลับประเทศไทยจะทำอย่างไร
- ลาออกกลางคัน
- แม้กลับประเทศไทยแล้ว จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขอย่างไร เช่น เรียนใช้เวลานานเกินกว่าเหตุ ต้องมีภาระผูกพันที่กลับมาประเทศไทยแล้ว จะต้องทำงานในประเทศไทยอย่างน้อยกี่ปี เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไป

๓. เรียนจบแล้วตามเงื่อนไขแต่ขอไปเรียนต่อในต่างประเทศอีกระยะหนึ่ง เช่น เรียนจบปริญญาตรีแล้วขอเรียนต่อด้วยทุนตัวเองในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก กลุ่มนี้จะมีการปรับปรุงกำหนดเงื่อนไขอย่างไร

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า คณะทำงานจะไปหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะได้มีการพิจารณาเพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป.

ที่มา : http://www.moe-news.net