1อำเภอ1ทุนฟื้นตามหวยบนดิน เสมา1ชงเข้าครม.สัปดาห์หน้า

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้ กระทรวงศึกษาธิการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง และสำนักการต่างประเทศ สำหรับการดำเนินงานยังยึดตามนโยบายเดิม คือ ส่งนักเรียนไปศึกษาในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษด้วย เพื่อจะได้กลับมาเปิดทางกว้างให้ประเทศไทยในการค้าขายสัมพันธ์กับประเทศ นั้นๆ ได้สะดวก ที่เพิ่มเติมจากเดิม คือ ในจำนวนนักเรียน 928 คน ที่จะได้ทุน จะให้เป็นนักเรียนอาชีวศึกษาประมาณ 1 ใน 3 เริ่มมีการเดินทางไปศึกษาจริงในปีการศึกษาหน้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า โครงการนี้เริ่มต้นสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบาลต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ตนจำไม่ได้แล้ว มาถึงสมัยนี้จึงได้เปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อเดิมที่จำง่ายกว่า ที่ผ่านมาส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศแล้วกว่า 900 คน บางส่วนเรียนจบกลับมามีงานทำ ในวันนี้เป็นการเรียกประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นของ 8 หน่วยงาน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จะใช้งบประมาณจากรายได้การจำหน่ายสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ที่จะเริ่มต้นในเดือนก.ย.นี้

ด้าน นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา คาดว่าจะเริ่มประกาศรับสมัครในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2551 จากนั้นจะมีการสอบคัดเลือกในเดือนม.ค. 2552 และเริ่มการฝึกอบรมภาษา วัฒนธรรม คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาการต่าง ๆ เพื่อปูพื้นฐานเตรียมความพร้อม ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2552 โดยขยายเวลาการอบรมจากเดิม 4 เดือน เป็น 8 เดือน สำหรับเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าโครงการดังกล่าว เบื้องต้นต้องมีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 150,000 บาท/ปี และคัดเลือกภายในแต่ละอำเภอ โดยสายสามัญจะต้องมีผลการเรียนเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป ส่วนสายอาชีวศึกษาต้องมีผลการเรียนเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป


ที่มา : http://www.thairath.com

"สมชาย" ฟื้น 1 อ.1 แพทย์หลายพยาบาล

ผู้จัดการรายวัน - วานนี้(18 มิ.ย.) ที่ รร.รามาการ์เด้นส์ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวในการสัมมนาพยาบาลศาสตร์ ศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ว่า จะฟื้นโครงการทุนการศึกษาให้นักเรียนมัธยมที่ยากจนแต่เรียนดีในแต่ละอำเภอเรียนต่อแพทย์-พยาบาล หรือที่เรียกกันว่าโครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ 1 พยาบาลให้เร็วที่สุด เนื่องจากขณะนี้ไทยขาดแคลนพยาบาลจำนวนมาก ส่งผลให้ทุกวันนี้พยาบาลต้องรับภาระหนักด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องหนุนให้ผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้นเพื่อมาดูแลชีวิต สุขภาพของประชาชน

ส่วนชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลจะมีปัญหาขาดแคลนหมอและพยาบาลส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานในตัวเมืองมากกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด จึงเลือกเฉพาะผู้ที่มีอุดมการณ์แน่วแน่เท่านั้นที่อาสาไปอยู่ในท้องถิ่นที่ไม่เจริญ และการให้ทุนเด็กเรียนต่อหมอ พยาบาลจะต้องมีเงื่อนไขว่า หลังเรียนจบแล้วต้องกลับไปประจำในภูมิลำเนา วิธีนี้ก็จะมีหมอพยาบาลประจำท้องถิ่น

"ไม่ใช่ฟื้นแค่โครงการ 1 อำเภอ 1 หมอ 1 พยาบาลเท่านั้น อาจจะเป็น 20 พยาบาลก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น ชื่อโครงการอาจเปลี่ยน เป็น "ทุนพยาบาลรักถิ่น" ซึ่งมีเงื่อนไขว่า เรียนจบแล้วต้องกลับไปประจำในท้องถิ่นของตัวเอง จะทำให้ชนบททุกแห่งมีหมอ พยาบาล ซึ่งเป็นลูกหลานคอยดูชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยของคนในท้องถิ่น" นายสมชายกล่าวและว่า เรื่องนี้จะไปปรึกษากระทรวงการคลังเรื่องประมาณที่นำมาดำเนินการ ซึ่งเงินน่าจะมาจากการจำหน่ายหวยบนดิน


ที่มา : http://www.moe.go.th, หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

"สมชาย" ปัดฝุ่น 1ทุน 1 อำเภอ 1แพทย์ 20 พยาบาล

สมชาย“ ประกาศ เร่งผลักดันโครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ 20 พยาบาล ระบุรัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้ และต้องการดำเนินการให้เร็วที่สุดหากมีเงิน

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในการสัมมนาพยาบาลศาสตร์ศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 4 จัดโดยที่ประชุมคณบดีและหัวหน้าสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ของรัฐ โดยมีผู้บริหารสถาบันการศึกษาพยาบาลทุกสังกัด อาจารย์พยาบาล จากทั่วประเทศประมาณ 300 คน เข้าร่วม ว่า จะพยายามฟื้นโครงการทุนการศึกษาให้นักเรียนมัธยมที่ยากจนแต่เรียนดีในแต่ละอำเภอเรียนต่อแพทย์- พยาบาล หรือที่เรียกกันว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 แพทย์ 1 พยาบาล ให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยขาดแคลนพยาบาลอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับหลายประเทศที่ประสบปัญหานี้เช่นกัน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการปฏิบัติงานของพยาบาลที่มีอยู่ซึ่งต้องรับภาระงานหนักอย่างมาก เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องการสนับสนุนให้ผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อมาดูแลชีวิต สุขภาพของประชาชน

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลจะมีปัญหาขาดแคลนหมอและพยาบาลหนักกว่าในตัวเมือง เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานในตัวเมืองมากกว่าซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด มีแต่ผู้ที่มีอุดมการณ์แน่วแน่ เท่านั้นจึงอาสาไปประจำอยู่ในท้องถิ่นที่ไม่เจริญ เพราะฉะนั้น การให้ทุนเด็กในแต่ละอำเภอเรียนต่อหมอ พยาบาลโดยมีเงื่อนไขว่า หลังเรียนจบแล้วต้องกลับไปประในภูมิลำเนา จะทำให้ในพื้นที่ห่างไกลมีหมอ พยาบาลประจำท้องถิ่น

“ รัฐบาลพยายามฟื้นโครงการนี้ขึ้นมา แต่อาจไม่ใช่แค่ 1 อำเภอ 1 หมอ 1 พยาบาลเท่านั้น อาจจะเป็น 20 พยาบาล ก็ได้ ชื่อโครงการก็อาจจะเปลี่ยน เป็น ทุนพยาบาลรักถิ่น เพราะโครงการนี้มีเงื่อนไขว่า เมื่อจบแล้วต้องกลับไปประจำในท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อให้ในชนบททุกแห่งได้มีหมอ พยาบาล ประจำอยู่ คอยดูชีวิต ความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัยของคนในท้องถิ่น โครงการมีแต่ได้ทุกฝ่าย ตั้งแต่ได้พยาบาล เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการให้โอกาสเด็กยากจนในชนบทได้มีโอกาสเรียนต่อหมอ พยาบาล และสุดท้ายได้หมอ พยาบาลไปประจำในชนบท “ นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย ย้ำว่า ต้องการจะทำโครงการนี้ให้เร็วที่สุด โดยจะไปปรึกษากระทรวงการคลังเรื่องบประมาณที่นำมาดำเนินการ ซึ่งน่าจะนำเงินรายได้จากการจำหน่ายหวยบนดินมาดำเนินการ และจะให้สภาพยาบาลศาสตร์มาช่วยดำเนินการด้วย เช่น ช่วยคิดเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกผู้รับทุน


ที่มา : http://www.komchadluek.net

เสนอ‘สมชาย'ขยาย 1 อ. 1 ทุน

จากที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้เร่งดำเนินการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 โดยใช้เงินรายได้จากการจำหน่ายสลากเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ที่จะเริ่มจำหน่ายงวดแรกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นคาดว่าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์เดียวกันกับ 2รุ่นแรกที่ผ่านมา โดยจะคัดเลือกให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนอำเภอละ 1 ทุน และให้เลือกศึกษาได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และต้องเป็นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศไทย โดยในรุ่นที่ 3 นี้ จะขยายการให้ทุนครอบคลุมถึงกลุ่มนักเรียน นักศึกษาสายอาชีวศึกษาด้วย จังหวัดละ 1 คน ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการจัดเตรียมรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ส่วนทุนเรียงความนั้นคงไม่มี เพราะผลวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาชี้ชัดว่า การให้ทุนโดยพิจารณาจากการเขียนเรียงความเป็นการให้ทุนที่ไม่สามารถคัดเด็กยากจนได้อย่างแท้จริง

ด้าน ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุนการศึกษาเท่าที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้นั้น ค่อนข้างเป็นประเภทให้เฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่ถือว่าการให้ทุนเป็นเรื่องดี ควรมีระบบที่จะคัดเลือกให้ได้เด็กที่ยากจนอย่างจริงจัง โดยให้ทุนผ่านทางโรงเรียน ซึ่งสถานศึกษาต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันคัดเลือกเด็ก เพราะเชื่อว่า การให้โรงเรียนเป็นผู้คัดเลือกเด็กจะมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยกว่าให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมคัดเลือก โดยทุนการศึกษาควรให้กับเด็กนอกเมือง มากกว่าเด็กที่อยู่ในตัวเมือง

"การให้ทุนการศึกษาควรเป็นการให้อย่างต่อเนื่องจนถึงศึกษาจบปริญญาตรี ไม่ควรให้เงินก้อนเป็นครั้งคราว และรัฐบาลต้องวางแผนระยะยาว 5-10 ปีในโครงการทุนการศึกษาต่างๆ โดยให้ทุนแบบมีเงื่อนไขให้กลับไปทำงานในท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลหางานให้เด็กที่ได้รับทุนด้วย ควรเพิ่มจำนวนผู้รับทุนให้กับแต่ละอำเภอมากขึ้น ในสาขาที่ท้องถิ่นขาดแคลน เมื่อศึกษาจบเด็กกลุ่มนี้จะได้กลับไปทำงานร่วมกันในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง" ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว


ที่มา : http://www.moe.go.th - กรุงเทพฯ