เสนอทำประชาพิจารณ์"ทุน1อำเภอ" แนะเพิ่มกติกาคัดเด็ก"เข้ม!!"

"วิจิตร" เตือนเขยแม้ว ก่อนฟื้นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ควรแก้ปัญหาเดิมให้ได้ก่อน เผยแค่ 2 รุ่นยังใช้เงินมากถึง 6 พันล้าน รุ่นใหม่ยังไม่รู้จะเอาเงินจากไหน "นักวิชาการ" แนะทำประชาพิจารณ์ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ และปรับปรุงกติกาคัดเด็กให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสยุติธรรม เผย 2 รุ่นแรกพบลูกนักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนนบางพรรคการเมืองได้ทุนจำนวนมาก

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (อดีต รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เตรียมจะฟื้นโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนเดิม) รุ่นที่ 3 ว่าโครงการนี้ในรัฐบาลที่แล้วได้ให้ยุติชั่วคราวเนื่องจากติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมาใช้งบประมาณไป 6 พันล้าน แต่ก็ได้มีการนำกลับมาพิจารณากันอีกครั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์การให้ทุนรุ่น 3 เช่นจาก 1 อำเภอ 1 ทุน มาเป็นให้ตามเขตพื้นที่การศึกษาและนักศึกษาอาชีวะ

"หากรัฐบาลฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง มองว่าการให้โอกาสคนเป็นเรื่องดีแต่อยากให้แก้ปัญหาเดิมก่อน ตอนนี้ยังไม่กล้าวิจารณ์อะไรมากเพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ต้องรอดูผลงานก่อนถึงจะพูดได้และการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา เขาก็บอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ด้มีหน้าที่ใช้เงินอย่างเดียว แต่มีหน้าที่หาเงินเข้าประเทศด้วย" อดีต รมว.ศธ.กล่าวและปฏิเสธที่จะวิจารณ์ถึงหน้าตาของที่ปรึกษาและเลขานุการของ รมว.ศธ.ตอบเพียงว่าหล่อดี สวยดี

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ให้โอกาสคน แต่หากจะฟื้นกลับมาอีกครั้งอยากให้มีความโปร่งใสยุติธรรมและเกิดความเท่าเทียมในทางปฏิบัติด้วยเพราะรุ่นที่ผ่านมาพบว่ามีลูกนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นได้ทุนนี้จำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่น่าจะยาวกว่านี้รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ต้องเข้มข้นขึ้น เช่น ระบบการคัดเลือก ข้อสอบ ระบบการช่วยเหลือติดตามผล ที่สำคัญเมื่อจบและกลับมาแล้วมีงานรองรับไว้สำหรับเด็กกลุ่มนี้หรือไม่

"มีเด็กประมาณ 10-15% ของทุนนี้ที่เกิดปัญหา บางคนมองว่าทุนนี้มาจากเงินหวยและเป็นภาษีบาป ทำให้ผู้ได้ทุนขาดความเข้าใจและไม่ระมัดระวังเรื่องการใช้เงินแต่แท้จริงแล้วมันเป็นเงินจากภาษีของคนไทยทุกคน อยากให้มีการทบทวนถึงจุดอ่อนจุดแข็งเพราะหากจะว่ากันตามจริง ข้อดี-เสียของโครงการนี้ยังถือว่า 50-50" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว และว่า ก่อนดำเนินการต่อในรุ่นที่ 3 อยากให้เปิดประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน โดยให้เด็กที่จบจากโครงการนี้ในรุ่นที่ 1 มาบอกถึงอุปสรรคและข้อดี-เสีย นอกจากนั้นควรสอบถามไปยังสถานทูตในประเทศที่ส่งเด็กไป ว่าโครงการนี้มีปัญหาในเรื่องใดบ้าง คนกลุ่มนี้จะสามารถตอบคำถามได้มากที่สุดเพื่อจะได้เตรียมความพร้อมให้กับรุ่น 3 ได้อย่างเต็มที่ เพราะระยะหลังมองว่ากระบวนการดำเนินงานสานต่อโครงการในรุ่น 2 ยังหลวมๆ และไม่ค่อยมีการติดตามผล

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่พรรคพลังประชาชนใช้ในการหาเสียงไว้อย่างไรก็ตามคงต้องมีการสานต่ออย่างแน่นอน แต่ถ้าหากนำเงินไปใช้กับเด็ก 432 คนตามโครงการนี้ ไปให้กับเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า

แหล่งข่าวจากสำนักงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า เบื้องต้นการคัดเลือกเด็กยังคงยืนยันตามหลักการเดิม คือคัดเลือกเด็กที่มีความประพฤติดีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 รายได้ครอบครัวไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี และต้องไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนโรงเรียนก็ต้องตรวจสอบเด็กว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดจริง

โดยในรุ่นที่ 3 คาดว่าจะมีระยะเวลาในการเตรียมตัวเด็กประมาณ 1 ปี อบรมทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย ทักษะด้านภาษา ความคิด รวมถึงการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างเพื่อเด็กไปแล้วจะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ส่วนการสอบจะมีทั้งสอบสัมภาษณ์และสอบข้อเขียน โดยใช้ข้อสอบกลางจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เด็กจากรุ่นที่ 1 กำลังจะกลับประเทศไทยแต่ยังไม่มีงานรองรับเด็กกลุ่มนี้ สำหรับงบประมาณนั้นขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนต้องรอให้นายสมชายพิจารณาก่อน คาดว่าจะมีการพูดคุยเรื่องโครงการนี้อีกครั้งในการประชุมผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของ ศธ.ในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายของเด็กที่ได้รับทุนนี้จะไม่เท่ากัน โดยคิดตามค่าครองชีพแต่ละประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศสค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่ประมาณ 8 แสนบาทต่อปี

ที่มา : http://www.moe.go.th , หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ - 22 กุมภาพันธ์ 2551

“สมชาย” ลุยแจกคอมพ์-ทุน 1 อ.หนุนเรียนฟรีอนุบาล 2 ปี

“สมชาย” ยืนยันแจกโน้ตบุ๊กล้านเครื่อง เชื่อได้ประโยชน์ทั้งครอบครัวไม่เฉพาะตัวเด็กเท่านั้น ส่วน 1 อำเภอ 1 ทุน ยังยืนแนวทางเดิมให้ทุน ทุกอำเภอ เพราะทั่วถึงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษาตามที่ “วิจิตร” เคยสั่งทบทวน ระบุไม่ได้สั่งให้ทบทวนเรียนฟรี 12 ปี เพียงแต่จะแถมอนุบาลให้อีก 2 ปี “แซม” ชี้แนวทางให้ทุนจะชัดเจนได้ ต้องหาเงินให้ได้ก่อน

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ว่า โครงการให้ทุนการศึกษาดังกล่าวยังคงเป็น 1 อำเภอ 1 ทุนตามเดิม ส่วนที่ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.ศึกษาธิการ ได้มีการทบทวนว่าจะให้ทุนตามเขตพื้นที่การศึกษานั้น ตนเห็นว่า หากให้ทุนตามอำเภอเด็กจะได้รับทุนทั่วถึงกว่า เพราะระดับเขตพื้นที่การศึกษาฯ จะมีพื้นที่กว้างกว่าระดับอำเภอมาก เนื่องจากแต่ละเขตพื้นที่จะมีหลายอำเภอรวมอยู่ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ปฏิเสธที่จะรับฟังความคิดเห็นของอดีต รมว.ศึกษาธิการ และฝ่ายค้าน หากเรื่องไหนเป็นเรื่องที่ดีก็จะรับไปดำเนินการต่อ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนโครงการแจกคอมพิวเตอร์แบบพกพาให้กับเด็กนักเรียนนั้น ตนมีความตั้งใจที่จะดำเนินการเช่นนั้น เพราะขณะนี้ ศธ.พัฒนาคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ใช้ในโรงเรียนไปมาก จากเดิมคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อเด็ก 40 คน ปัจจุบันอยู่ในสัดส่วนคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อเด็ก 20 คน และในอนาคตก็จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก สำหรับความเป็นห่วงของฝ่ายค้านที่เกรงว่าพื้นที่ชนบทจะไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้นั้น ปัจจุบันระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ครอบคลุมไปมาก และในพื้นที่ไหนที่ยังไม่มีเครือข่ายตนก็จะเร่งขยายให้ทั่วถึง ซึ่งการแจกคอมพิวเตอร์พกพาให้เด็กนำกลับไปใช้ที่บ้าน ไม่เพียงแต่เด็กจะได้ประโยชน์เท่านั้น แต่คนในครอบครัวก็ยังสามารถใช้งานจากคอมพิวเตอร์ได้ด้วยเช่นกัน สำหรับนโยบายเรื่องการเรียนฟรี 12 ปี ตนไม่ได้สั่งให้ทบทวน แต่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาดูว่ามีการอุดหนุนและจัดการศึกษากันอย่างไร เพื่อจะแถมเรียนฟรีระดับอนุบาลให้อีก 2 ปี

ด้านนายยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าทุกคนอยากให้นโยบายด้านการศึกษาต่างๆ มีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง 1 อำเภอ 1 ทุน แต่สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้ คือ จะต้องหางบประมาณสำหรับนำมาเป็นทุนการศึกษาก่อน เนื่องจากในอดีตรัฐบาลใช้เงินจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 2 ตัว 3 ตัว แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาอยู่ว่าจะใช้เงินจากส่วนไหน เพราะหากไม่มีทุนการศึกษาให้กับเด็กอย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้อีก นอกจากนี้เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาของ ศธ.หน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งหากทราบว่าจะได้รับเงินจากไหนการกำหนดแนวทางต่างๆ ก็จะชัดเจนขึ้น

ที่มา : http://manager.co.th - 22 กุมภาพันธ์ 2551

นักวิชาการอัดประชานิยมการศึกษา ชี้หวังแค่หาเสียง-ห่วงคุณภาพ กรอ.

นักวิชาการ จวกผู้นำประเทศไม่ให้ความสำคัญด้านการศึกษา เน้นชูนโยบายประชานิยม ซึ่งชาติจะไม่ได้อะไรเลย โครงการ 1 อ.1 ทุน เป็นประโยชน์ส่วนบุคคล เด็กเรียนจบจะทำงานในเมืองไม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด ขณะที่ กรอ.แค่เพิ่มคนเรียนสูงขึ้นแต่ไร้คุณภาพ แนะผู้นำควรกำหนดทิศทางการศึกษาให้ชัดเจนว่าจะผลิตคนอย่างไร เสนอให้งบโรงเรียนชนบทมากกว่าโรงเรียน กทม.และในเมือง คาดว่า 5 ปีจะเห็นความก้าวหน้าของนักเรียนชนบท

ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้นำเสนอรายงานการวิจัย เรื่องแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยสู่สากล : จากการเปรียบเทียบ 6 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี ฟินแลนด์ เยอรมนี ว่า จากการวิจัยพบ 6 ประเทศมีระบบการจัดการศึกษาจะที่มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ผลที่ออกมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเน้นย้ำเป็นพลเมืองดีของสังคม ซื่อสัตย์ มีคุณธรรมสูง มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญรักชาติ ขณะที่การจัดการศึกษาของไทยไม่มีความชัดเจนยังแกว่งไปแกว่งมาไม่รู้ว่าจะไปทิศทางใด

ที่สำคัญ คือ ผู้นำประเทศไม่ได้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างเด่นชัด สังเกตได้จากคนที่มานั่งบริหารส่วนใหญ่เก่งการเมืองแต่ไม่ได้เน้นด้านการศึกษา มิหนำซ้ำระบบการผลิตครูก็มีการคัดเลือกคนเก่งมาเรียนครู

ส่วนนโยบายด้านการศึกษาขณะนี้เป็นนโยบายเชิงการเมืองมากกว่าต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่เน้นประชานิยม นำเอาโครงการเก่าสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น เรียนฟรี 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นต้น ในฐานะผู้นำรัฐบาล ควรจะต้องมาคิดภาพรวมว่าต้องการให้ประเทศชาติเดินไปอย่างไร แล้วค่อยเอาข้อสรุปตรงนี้มาสร้างนโยบายการศึกษา

“โครงการประชานิยม อย่างเช่น 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นประโยชน์ส่วนบุคคลแต่ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา แม้วัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการให้เด็กเรียนจบแล้วกลับไปพัฒนาท้องถิ่น แต่ความจริงคือเมื่อเด็กเรียนจบเด็กจะไม่กลับไปทำงานในท้องถิ่น หรือการฟื้นทุน กรอ. ทำให้มหาวิทยาลัยขยายกำลังมากแต่ขาดคุณภาพ แล้วผมถามว่าจะให้เด็กเรียนมากไปทำไม ถ้าการเรียนนั้นไม่มีคุณภาพ จบออกมาแล้วหางาทำไม่ได้ คนก็จะเรียนเพิ่มไปจนถึงปริญญาโทและปริญญาเอก”

ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ขยายการศึกษาให้ทั่วถึงและพัฒนาโรงเรียนในชนบทจัดการศึกษาให้มีคุณภาพในเมือง อย่างประเทศฟินแลนด์ คุณภาพในเมืองกับชนบทต่างกันไม่ถึง 5% จึงมองน่าจะทุมงบประมาณไปยังโรงเรียนต่างจังหวัดมากกว่าให้งบ กทม.และโรงเรียนในตัวเมือง อย่างจัดสรรงบให้โรงเรียน กทม.และตัวเมือง1 พันบาท ควรให้งบโรงเรียนชนบท 1 หมื่นบาท เพื่อให้โรงเรียนนำไปปรับปรุงอาคารสถานที่ ปรับปรุงการเรียนการสอน จัดซื้อสื่อที่มีคุณภาพ ทำเช่นนี้ มั่นใจว่าภายใน 5 ปีจะเห็นผลว่าโรงเรียนชนบทมีการพัฒนาขึ้น

ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ตนจะสรุปผลวิจัยแล้วเสนอที่ประชุม สกศ.คือ 1.หาคนเก่งมาสู่วิชาชีพครู 2. ควรจัดสรรงบประมาณไปยังต่างจังหวัดมากกว่าโรงเรียนในเมือง และ กทม. 3.ต้องปรับวิธีคิดในการสร้างบุคลากรคนใหม่ โดยจะนำวิธีการสร้างคนของ 6 ประเทศมาเป็นต้นแบบ 4.ต้องปลูกฝังให้คนมีความรับผิดชอบสูงขึ้น 5.สอนให้คนรู้สึกรับผิดชอบอย่างจริงจัง และมีความอดทน จากนั้นจะได้นำเสนอ รมว.ศธ.ต่อไป

ที่มา : http://manager.co.th - 21 กุมภาพันธ์ 2551