ครม.ไม่ง้อเงินหวย! อนุมัติงบกลาง 611 ล้านบาทเดินหน้าต่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

รัฐบาลปฏิเสธดัน พ.ร.บ.หวยเร่งหาเงินใช้หนี้ พม. เสนอตั้งองค์กรมหาชน เน้นโครงการ “ชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข” ด้าน ครม.ไม่ง้อเงินหวย อนุมัติงบกลาง 611 ล้านบาทเดินหน้าต่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนให้เงินเด็กกว่า 2,000 คนใช้หนี้ค้างค่าเล่าเรียน สั่ง ศธ.ปรับรูปแบบใหม่ไม่ใช้เงินหวย พร้อมชี้แจงเด็กมุสลิมที่ไม่ได้ร่วมโครงการ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องร่างแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่รัฐบาลจะนำเข้า สนช.ว่า รัฐบาลจะดำเนินการจัดการเรื่องไม่ถูกกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่าเราไม่ได้สนับสนุนเรื่องอบายมุขหรือการพนัน แต่ว่าในความจำเป็นที่จะป้องกันไม่ให้หวยบนดินกลับกลายเป็นหวยใต้ดินและก่อให้เกิดเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมา ซึ่งจะสร้างความเสียหายในแง่ของทุจริตคอร์รัปชันที่จะเกิดตามมา มีผู้เล่นหวยจำนวนถึง 30 ล้านคน ตรงนี้คงก่อให้เกิดผลกระทบพอสมควร สำหรับเรื่องนี้ นอกเหนือจากการดำเนินการจัดการด้านกรอบกฎหมายแล้ว และทำให้มีวินัยทางการคลัง การกฎหมายเกิดขึ้น ให้เงินเข้าสู่กระทรวงการคลังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะมีการดำเนินการในแง่ของจริยธรรมด้วยเหมือนกัน โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอในที่ประชุม ครม.เรื่องโครงการชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข เพื่อส่งเสริมชีวิตพอเพียง ได้ดำริว่าจะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนเพื่อให้ชัดเจน และมีองค์กรเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในส่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ได้รับความเห็นด้วยจาก ครม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป “รัฐบาลยังสนับสนุนให้ดำเนินการกับการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในอดีตที่ริเริ่มหวยบนดิน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และคณะรัฐมนตรีในอดีตที่สนับสนุนเห็นชอบในหลักที่ขัดต่อกฎหมาย และหลักนิติรัฐ อย่างไรก็ตาม ต้องปฏิเสธกรณีที่มีข้อครหาว่ารัฐบาลเร่งนำเข้าพิจารณาใน สนช. โดยจะนำรายได้จากหวยบนดินเข้าสู่คลังหรือนำไปใช้หนี้โครงการอื่นๆ เพราะรัฐบาลมีการหารายได้จากส่วนอื่นอยู่แล้ว ไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลสนใจ และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนให้นำเข้าพิจารณาใน สนช. เพราะจะมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมระดมความเห็นและตัดสินใจอยากจะให้รัฐบาลเดินหน้าหรือไม่” ด้าน นางเนตรปรียา ชุมไชยโย ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นซึ่งตั้งไว้ที่สำนักงบประมาณ ในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุ่ม จำนวน 611,981,664 บาท ที่เป็นค่าใช้จ่ายในปีการศึกษา 2549 เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังไม่ได้พิจารณาการขอเบิกจ่ายดังกล่าวจากเงินรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นอกจากนี้ยังเห็นชอบนโยบายในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน โดยจะใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในปีการศึกษา 2550 แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลเดิมมีมติให้ใช้เงินรายได้จากหวย 2 ตัว 3 ตัว ดำเนินโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการโดยเงินที่อนุมัติจะจัดให้นักเรียนในระดับมัธยมเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยในรุ่นที่ 1 (ปี 2547) มีนักเรียนทุนทั้งสิ้น 921 คน จำแนกเป็นศึกษาต่อในประเทศ 194 คน และในต่างประเทศ 727 คน ส่วนรุ่นที่ 2 (ปี 2548) มีนักเรียนทุนทั้งสิ้น 915 คน เรียนในประเทศ 176 คน ต่างประเทศ 734 คน โดยทั้ง 2 รุ่นใช้งบประมาณตลอดโครงการ 9,179,710,000 บาท และวันนี้ ครม.ก็เห็นชอบงบประมาณดังกล่าว โดยทั้งหมดรวมเป็นค่าใช้จ่ายนักศึกษา รุ่น 1 และรุ่น 2 ทั้งในเรื่องของค่าเล่าเรียนทั้งในและต่างประเทศ ค่าบริหารจัดการเฉพาะในส่วนของค่าจ้างบุคคล และค่าใช้จ่ายของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศและเอกอัคราชทูตประเทศนั้นๆ ด้วย “ครม.อนุมัติเงินก้อนนี้เพื่อให้เด็กได้มีค่าเล่าเรียนก่อนเพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากขณะนี้นักเรียนทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสบปัญหาเรื่องไม่มีเงินจ่ายและจะต้องเสียค่าปรับให้สถานศึกษาในต่างประเทศ เพราะต้องศึกษาต่ออีกหลายปี หากชำระเงินค่าเล่าเรียนไม่ตรงตามกำหนดทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประสานไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะนั้นแต่ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงไม่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งเมื่อดูงบประมาณในหน่วยงานนั้นๆ ก็ไม่สามารถนำมาเจียดจ่ายได้เช่นกัน” ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน กพ.พิจารณารับดำเนินการโครงการโดยใช้งบประมาณของแผ่นดินต่อไป ส่วนงบประมาณปี 2550 ในการดำเนินโครงการ โดยจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และตั้งงบรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไปสำหรับโครงการในแต่ละปี แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ต่อจากนี้ไปโครงการดังกล่าวจะไม่ใช่เงินจากหวย 2 ตัว 3 ตัวแล้ว และเด็กที่เรียนรวมทั้งรุ่นใหม่ก็จะเข้ามายังโครงการนี้ต่อไป โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเข้าไปหาวิธีจัดการคัดเด็ก และปรับเปลี่ยนคำนิยามของความยากจนใหม่ รวมทั้งปรับสาขาการเรียนของนักเรียนทุนที่เหมาะสมกับการพัฒนาท้องถิ่นของเด็กเพราะไม่เช่นนั้นนักเรียนทุนเมื่อกลับมาแล้วก็มีแนวโน้มที่จะเข้ามากระจุกตัวในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ๆดังนั้นเงินก้อนนี้จึงถือเป็นเงินจากงบกลางก้อนแรกที่จะไม่ใช้เงินจากหวย 2 ตัว 3 ตัวแล้ว แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังนำกรณีที่นักเรียนในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะเด็กมุสลิมที่ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากผิดหลักศาสนามาหารือ โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำโครงการนี้โดยเฉพาะให้ชี้แจกว่าเป็นงบประมาณของรัฐบาล ไม่ใช่งบจากหวยเหมือนในอดีตไปชี้แจงให้นักเรียนมุสลิมรับทราบ โดยเชื่อว่าในปีการศึกษาหน้าเด็กมุสลิมจะได้โอกาสร่วมโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนด้วย

โครงการเสียงสะท้อนจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

ประกาศสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ในพระบรมราชูปถัมภ์ฉบับที่ 3
เรื่อง โครงการเสียงสะท้อนจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2549ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สัปดาห์หน้า จะเสนอของบประมาณ เพื่อจัดสรรให้กับนักเรียนตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เนื่องจาก เดิมเคยใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ขณะนี้ให้เลิกใช้ก็ต้องของบประมาณ แต่ยืนยันว่า เด็กโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จะไม่ถูกลอยแพ แต่โครงการนี้จะไม่มีอีกแล้วในรัฐบาลนี้ รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ที่ใช้คำว่า “1” ทั้งหลายจะมาพิจารณาว่า จะยังมีต่อไปอีกหรือไม่

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2549
เมื่อถามว่า จะมีการพิจารณา นักเรียนทุนรุ่นที่ 3 หรือไม่ ศ.ดร.วิจิตร ตอบว่าตอนนี้ขอแก้ปัญหาและเยียวยา นักเรียนทุน 2 รุ่นนี้ก่อน ส่วนจะมีรุ่นต่อไปรึเปล่า คงต้องมาพิจารณา ข้อดีข้อเสียซะก่อน และถ้ามีการพิจารณาเด็กทุนรุ่นที่ 3 กระทรวงคงต้องขอเงินจากงบกลางมาสนับสนุน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2549
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยืนยันกับตนว่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินรุ่นที่ 3 ด้วย แต่ตนกำลังดูว่าจะยังคงเป็นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือจะเป็นลักษณะอื่น ดังนั้น เมื่อมีคำยืนยันว่าจะมีรุ่นที่ 3 ตนก็จะไปคิดต่อว่าจะเป็นรูปแบบใด เพราะตนเห็นด้วยกับการให้โอกาสเด็กในชนบทได้โอกาส และถ้าตนมีเงินงบประมาณมาก อาจจะเป็นโครงการ 1 โรงเรียน 1 ทุนได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี รวมถึงต้องคิดว่าจะให้นักเรียนในสังกัดอื่นด้วยหรือไม่ หรือจะยังยึดอำเภอเป็นตัวตั้ง หรือเปลี่ยนเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

ตามข่าวข้างต้น ทางสมาคมฯ คิดว่านักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสทุกคน สามารถที่จะมีส่วนรวมในการเสนอความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ดังนั้นสมาคมฯจึงจัดโครงการ “โครงการเสียงสะท้อน จากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน” โดยทางสมาคมฯ จะเป็นตัวกลาง เพื่อรับความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสียและข้อเสนอแนะต่างๆ ของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส และรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ส่งให้กับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
ทางสมาคมฯ ขอเชิญชวนทุกคนที่สนใจโดยเฉพาะนักเรียนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทั้ง 2 รุ่นช่วยกันแสดงความคิดเห็น, ข้อเสนอแนะต่างๆ, ปัญหาที่พบจากการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงการนี้ให้ดียิ่งขึ้นในรุ่นต่อไป โดยสามารถนำเสนอความเห็นผ่านทางเว็ปไซท์ของสมาคมฯ www.aetf-online.com ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม ศกนี้

.........................................................

หัวข้อโครงการ : เสียงสะท้อนจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุงโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน

ผู้ดำเนินการ : สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่มาของโครงการ :
หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับเสนอข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน คณะกรรมการสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสจึงจัดโครงการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อประมวลข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุนต่อไป

จุดประสงค์ในการดำเนินการ :
สมาคมวางตัวเป็นกลางเพื่อเปิดรับความคิดเห็นโดยตรงจากนักเรียนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข่าว และจากบุคคลทั่วไป แล้วสะท้อนความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ มากยิ่งขึ้น

วิธีการดำเนินการ :
๑. ประชาสัมพันธ์โครงการ ผ่านเว็บไซท์สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส
๒. เปิดรับความคิดเห็นจากนักเรียนทุนโอดอส และจากบุคคลทั่วไป โดยตั้งกระทู้ (ปิดรับความคิดเห็นวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๙)
๓. สรุปรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
๑. ความเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาตอบโต้จากนักเรียนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน และนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่มีต่อข่าวนี้
๒. ข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน รุ่นต่อๆไป

ด้วยจิตคาระวะ
Webmaster AETF

จ่อล้มโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จบแค่รุ่น 2 ยันไม่ลอยแพรุ่นก่อน

ศธ.จ่อล้มโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน “วิจิตร” ยันจบแค่รุ่น 2 ไม่ลอยแพนักเรียนทุน รุ่น 1-2 แต่ในรัฐบาลนี้จะไม่มีโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนอีกแล้ว พร้อมทบทวนโรงเรียนตามโครงการ “1” ทั้งหมด ส่วน สพฐ.แถลงผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ระบุ มี 836 โรงเรียนผ่านการรับรองเป็นโรงเรียนในฝัน ด้าน “คุณหญิงกษมา” ยันยังมีโครงการโรงเรียนในฝันต่อไป ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเสนอของบประมาณเพื่อจัดสรรให้กับนักเรียนตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เนื่องจากเดิมเคยใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ขณะนี้ให้เลิกใช้ก็ต้องของบประมาณ แต่ยืนยันว่า เด็กโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จะไม่ถูกลอยแพ แต่โครงการนี้จะไม่มีอีกแล้วในรัฐบาลนี้ รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ที่ใช้คำว่า “1” ทั้งหลายจะมาพิจารณาว่าจะยังมีต่อไปอีกหรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดแถลงผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน โดย ดร.อรทัย มูลคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในฐานะผู้จัดการโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ช่วงปีงบประมาณ 2547-2549 จำนวน 921 โรง พบว่า มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินเพื่อรับรองให้เป็นต้นแบบของโรงเรียนในฝันแล้ ว 836 โรง ที่เหลืออีก 85 โรง อยู่ในช่วงการประเมิน คาดว่า จะสามารถประเมินได้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.2549 และจากการประเมินกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนในฝันที่ผ่านการประเมินแล้ว 809 โรง พบว่า มีการพัฒนาครูด้านไอซีทีมากที่สุด 97.30% และเมื่อสำรวจผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของโรงเรียนที่ผ่านการประเมินเป็นโร งเรียนในฝัน พบว่า ในปีการศึกษา 2547 มีนักเรียนสอบเข้าได้ 9,256 คน ปีการศึกษา 2548 มีนักเรียนสอบเข้าได้ 15,821 คน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักเรียนที่สนใจเข้าเรียนในโรงเรียนจำนวน 497 โรง ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนในฝัน มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการถึง 134,581 คน ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝันจะยังมีต่อไปแน่นอน เพราะเป็นนโยบายของ ศ.ดร.วิจิตร แต่ต่อไปจะไม่เน้นที่ความอลังการ เพราะที่ผ่านมา หลายโรงเรียนเข้าใจผิดว่าโรงเรียนในฝันต้องเน้นเรื่องไอที ทั้งที่ในแต่ละโรงเรียนมีอีกหลายเรื่องที่ควรจะนำมาเป็นจุดเด่น และที่สำคัญควรที่จะเน้นความเชื่อมโยงต่อชุมชนด้วย