ศธ.เตรียมหางานให้เด็กทุนหวยหลังเรียนจบจากต่างประเทศ

ปลัด ศธ.ประสานภาครัฐและเอกชนหาตำแหน่งให้เด็กทุนหวย เผยเด็กทุนรุ่น 3 คาดจะเลือกเด็กอาชีวะ เน้นติวเข้มภาษาอังกฤษ วิชาพื้นฐาน ก่อนส่งเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในเมืองไทยหรือเมืองนอก ระบุพบเด็กทุน 2 รุ่นขอกลับบ้าน 20 คน นางจรวยพร ธรนินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ สำนักงาน ก.พ. กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 รวมถึงการทบทวนการดำเนินงานต่อในรุ่นที่ 3 ซึ่งโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 (พ.ศ.2547-2553) รุ่นที่ 2 พ.ศ.2549-2555 โดยมีนักเรียนรับทุนจำนวนทั้งสิ้น 1,836 คน ต้องใช้งบประมาณตลอดหลักสูตร ประมาณ 9,1790.71 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 830,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะนี้ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 2,087.26 ล้านบาท คงเหลือกเบิกจ่ายอีก 7,092.45 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้เบิกจ่ายงบกลางเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 596,698,600 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2549 ส่วนใช้ปี 2550 จะต้องเบิกจ่ายอีกโดยเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงาน ก.พ. จำนวน 1,120 ล้านบาท สกอ. 40.7 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศ 13.92 ล้านบาท รวม 1,174.62 ล้านบาท ซึ่งจะต้องขอแปรญัตติเพื่อของบประมาณเพิ่มเติมจากงบปกติ “นักเรียนทุน 2 รุ่น เราพบว่ามีนักเรียนประมาณ 20 คนขอกลับมาเรียนต่อกับมหาวิทยาลัยในเมืองไทย เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคประจำตัว และมีปัญหาการปรับตัว แต่ยังเคยพบว่าเด็กมีปัญหาด้านการเรียน” นางจรวยพร กล่าวต่อว่า เพื่อให้นักเรียนทุนเหล่านี้เรียนจบแล้วนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ จึงมีโครงการจัดหางานเพื่อรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยจะประสานไปยังหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยให้เด็กได้ทำงานตรงกับสาขาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากนี้ ยังมีแผนนำข้อมูลความต้องการตลาดแรงงานของประเทศและจังหวัดมากำหนดสาขาวิชาชีพที่จะให้ศึกษาต่อ โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน สาขาที่มีลักษณะจำเพาะที่ทำได้ยากในประเทศไทย และการเลือกประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ ส่วนนักเรียนทุน รุ่นที่ 3 จะนำข้อมูลให้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศธ. ดูรายละเอียด ซึ่งแนวโน้มเด็กทุนรุ่นที่ 3 น่าจะเป็นเด็กอาชีวศึกษา โดยจะให้เด็กทุนเรียนในไทยเพื่อปูพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ และวิชาหลักๆ ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศหรือเรียนกับมหาวิทยาลัยในประเทศ

ผู้จัดการออนไลน์ 4 ธันวาคม 2549

ครม.ไฟเขียวทุ่มงบฯกลางต่อท่อเด็กทุนหวย

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้ ครม.วินิจฉัยกรณีปัญหาค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งผู้บริหารและครูระดับชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ หรือ ระดับ 8-9 เดิมได้รับค่าตอบแทนตามที่ได้รับอยู่เดิม จึงขอให้ ครม.วินิจฉัยว่า วิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นตำแหน่งที่ควรได้รับเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนเป็น 2 เท่าเหมือนกับข้าราชการอื่น ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยใช้งบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปี
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ครม.ยังได้อนุมัติให้จัดสรรเงินงบกลาง จำนวน 9,000 กว่าล้านบาท สนับสนุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ให้กับนักเรียนทุนในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จำนวนกว่า 1,800 คน ที่เรียนต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศจนจบการศึกษา ซึ่งหลังมีการวินิจฉัยว่าการออกสลากบนดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานสลากฯจึงไม่จัดเงินให้ ส่วนจะมีการจัดทุนให้กับนักเรียนในรุ่นที่ 3 หรือไม่นั้น ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพไปหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยให้พิจารณาข้อสังเกตต่างๆ อาทิ ทุนระดับปริญญาตรีควรจะเป็นทุนภายในประเทศ หากจะไปศึกษาต่อต่างประเทศควรมีการเตรียมความพร้อมเด็กให้ดี มีการกำหนดสาขา ที่จะเรียน มีข้อผูกพันว่ากลับมาแล้วควรจะไปทำงานในถิ่นกำเนิด และเสนอกลับเข้า ครม.ต่อไป.

“วิจิตร” ล้มกระดานโครงการประชานิยม ศธ. ส่วน 1 อ.1 ทุนยังอยู่

“วิจิตร” ล้มกระดานโครงการประชาชนนิยมยุคทักษิณเพียบ “คอมพ์ 2.5 แสนเครื่อง-แล็ปท็อป-ทุนเรียงความ-ทุนวิกฤตเศรษฐกิจ” จวกแนวคิดใช้คอมพ์แทนครูเป็นพวกไม่รู้จริง เผยเหลือเฉพาะ 1 อ.1 ทุน ส่วนโรงเรียนในฝันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้คงไม่สานต่อนโยบายประชาสังคมของรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น ทุนวิกฤตเศรษฐกิจ ทุนเรียงความ โครงการคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (คอมพิวเตอร์ 2.5 แสนเครื่อง) แล็ปท็อป ฯลฯ โครงการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสายตา เราไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่เราไม่ทำ “โครงการนกขมิ้นเหล่านี้คงไม่ใช่นโยบายรัฐบาล เราจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาในเชิงรูปธรรม เช่น เงินอุดหนุนรายหัว แก้ปัญหาหนี้สินครู ตอนนี้ ครม.อนุมัติเพิ่มทุนอุดหนุนรายหัวนักเรียน ผมคิดว่าหากเราให้เงินอุดหนุนเด็กเรียนฟรี 12 ปีแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องมีทุนอื่นๆ สำหรับแก้ปัญหาหนี้ครู กระทรวงการคลังเสนอระดมเงินจากสถาบันการเงินมากกว่าธนาคารออมสิน แต่ก่อนอื่นต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ครูใหม่ เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยอยู่ในลักษณะที่ครูรับได้” ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีเวลาบริหารแค่ปีเดียว ขอแก้ปัญหาการศึกษาที่สั่งสมมานาน คงไม่โลดโผนไปหาเทคโนโลยีแพงๆ มาใช้ แล้วในที่สุดแก้ปัญหาพื้นฐานการศึกษาไม่ได้ “มีคนบอกว่าคอมพ์แก้ปัญหาขาดแคลนครู มันใช่ที่ไหน และใครที่คิดเอาเทคโนโลยีมากดปุ่มแทนครู คนนั้นคิดผิด ผมคิดว่าคนคนนั้นไม่รู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง คอมพ์ช่วยเสริมได้แต่ไม่ใช่แทนครู ผมเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อย่างนั้นที่นั่นก็ไม่ต้องมีครูมาคอยสั่งสอนลูกศิษย์ บทบาทของครูต้องมีอยู่ จะต้องเป็นคนผลิตสื่อ ออกรายการทีวี มาบรรยายทางวิทยุ ทีวี เทคโนโลยีแพงๆ ทำได้แค่สอนเสริมเท่านั้น” ส่วนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักเรียน จึงสานต่อรุ่นที่ 3 เพียงแต่มาทบทวนพิจารณาหลักเกณฑ์การให้ทุนว่าจะให้ทุนตามหลักเกณฑ์เดิมหรือมีการปรับเพิ่มเพื่อความเหมาะสม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อนักเรียน เป็นการให้โอกาสเด็กยากจนได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น สำหรับโรงเรียนในฝันอยู่ระหว่างการศึกษาว่าควรมีอยู่รึไม่ เนื่องจากโรงเรียนในฝันวัดกันที่วัตถุ กำหนดจำนวนเทคโนโลยีเชื่อมอินเทอร์เน็ต แต่โรงเรียนในฝันของตนคือ ทำอย่างไรถึงจะมีครูเก่ง ดี เด็กได้รับการศึกษาที่ดี เด็กเก่ง มีคุณภาพ มีคุณธรรมนำความรู้ “โรงเรียนในฝันของผมกับของรัฐบาลชุดก่อน มองกันคนละอย่าง การที่มีคอมพ์จำนวนมากแต่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องวิ่งหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าไฟ คงไม่ใช่โรงเรียนในฝัน และคอมพ์มีอายุการใช้งาน ไม่กี่ปีก็ล้าสมัย ตกรุ่น เสื่อมคุณภาพและเสียในที่สุด ผู้บริหารก็ต้องไปหาระดมเงินเพื่อมาซื้อคอมพ์รุ่นใหม่ ไม่รู้จักจบจักสิ้น อย่างนี้เรียกว่าโรงเรียนในฝันหรือ”

ครม.ไม่ง้อเงินหวย! อนุมัติงบกลาง 611 ล้านบาทเดินหน้าต่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

รัฐบาลปฏิเสธดัน พ.ร.บ.หวยเร่งหาเงินใช้หนี้ พม. เสนอตั้งองค์กรมหาชน เน้นโครงการ “ชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข” ด้าน ครม.ไม่ง้อเงินหวย อนุมัติงบกลาง 611 ล้านบาทเดินหน้าต่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนให้เงินเด็กกว่า 2,000 คนใช้หนี้ค้างค่าเล่าเรียน สั่ง ศธ.ปรับรูปแบบใหม่ไม่ใช้เงินหวย พร้อมชี้แจงเด็กมุสลิมที่ไม่ได้ร่วมโครงการ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องร่างแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่รัฐบาลจะนำเข้า สนช.ว่า รัฐบาลจะดำเนินการจัดการเรื่องไม่ถูกกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่าเราไม่ได้สนับสนุนเรื่องอบายมุขหรือการพนัน แต่ว่าในความจำเป็นที่จะป้องกันไม่ให้หวยบนดินกลับกลายเป็นหวยใต้ดินและก่อให้เกิดเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมา ซึ่งจะสร้างความเสียหายในแง่ของทุจริตคอร์รัปชันที่จะเกิดตามมา มีผู้เล่นหวยจำนวนถึง 30 ล้านคน ตรงนี้คงก่อให้เกิดผลกระทบพอสมควร สำหรับเรื่องนี้ นอกเหนือจากการดำเนินการจัดการด้านกรอบกฎหมายแล้ว และทำให้มีวินัยทางการคลัง การกฎหมายเกิดขึ้น ให้เงินเข้าสู่กระทรวงการคลังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จะมีการดำเนินการในแง่ของจริยธรรมด้วยเหมือนกัน โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เสนอในที่ประชุม ครม.เรื่องโครงการชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข เพื่อส่งเสริมชีวิตพอเพียง ได้ดำริว่าจะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนเพื่อให้ชัดเจน และมีองค์กรเพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในส่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ได้รับความเห็นด้วยจาก ครม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป “รัฐบาลยังสนับสนุนให้ดำเนินการกับการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในอดีตที่ริเริ่มหวยบนดิน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และคณะรัฐมนตรีในอดีตที่สนับสนุนเห็นชอบในหลักที่ขัดต่อกฎหมาย และหลักนิติรัฐ อย่างไรก็ตาม ต้องปฏิเสธกรณีที่มีข้อครหาว่ารัฐบาลเร่งนำเข้าพิจารณาใน สนช. โดยจะนำรายได้จากหวยบนดินเข้าสู่คลังหรือนำไปใช้หนี้โครงการอื่นๆ เพราะรัฐบาลมีการหารายได้จากส่วนอื่นอยู่แล้ว ไม่ใช่ประเด็นที่รัฐบาลสนใจ และเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนให้นำเข้าพิจารณาใน สนช. เพราะจะมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมระดมความเห็นและตัดสินใจอยากจะให้รัฐบาลเดินหน้าหรือไม่” ด้าน นางเนตรปรียา ชุมไชยโย ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นซึ่งตั้งไว้ที่สำนักงบประมาณ ในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุ่ม จำนวน 611,981,664 บาท ที่เป็นค่าใช้จ่ายในปีการศึกษา 2549 เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังไม่ได้พิจารณาการขอเบิกจ่ายดังกล่าวจากเงินรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นอกจากนี้ยังเห็นชอบนโยบายในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน โดยจะใช้งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในปีการศึกษา 2550 แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลเดิมมีมติให้ใช้เงินรายได้จากหวย 2 ตัว 3 ตัว ดำเนินโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการโดยเงินที่อนุมัติจะจัดให้นักเรียนในระดับมัธยมเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยในรุ่นที่ 1 (ปี 2547) มีนักเรียนทุนทั้งสิ้น 921 คน จำแนกเป็นศึกษาต่อในประเทศ 194 คน และในต่างประเทศ 727 คน ส่วนรุ่นที่ 2 (ปี 2548) มีนักเรียนทุนทั้งสิ้น 915 คน เรียนในประเทศ 176 คน ต่างประเทศ 734 คน โดยทั้ง 2 รุ่นใช้งบประมาณตลอดโครงการ 9,179,710,000 บาท และวันนี้ ครม.ก็เห็นชอบงบประมาณดังกล่าว โดยทั้งหมดรวมเป็นค่าใช้จ่ายนักศึกษา รุ่น 1 และรุ่น 2 ทั้งในเรื่องของค่าเล่าเรียนทั้งในและต่างประเทศ ค่าบริหารจัดการเฉพาะในส่วนของค่าจ้างบุคคล และค่าใช้จ่ายของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศและเอกอัคราชทูตประเทศนั้นๆ ด้วย “ครม.อนุมัติเงินก้อนนี้เพื่อให้เด็กได้มีค่าเล่าเรียนก่อนเพื่อแก้ปัญหา เนื่องจากขณะนี้นักเรียนทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสบปัญหาเรื่องไม่มีเงินจ่ายและจะต้องเสียค่าปรับให้สถานศึกษาในต่างประเทศ เพราะต้องศึกษาต่ออีกหลายปี หากชำระเงินค่าเล่าเรียนไม่ตรงตามกำหนดทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประสานไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะนั้นแต่ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจึงไม่สามารถเบิกจ่ายได้ รวมทั้งเมื่อดูงบประมาณในหน่วยงานนั้นๆ ก็ไม่สามารถนำมาเจียดจ่ายได้เช่นกัน” ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงาน กพ.พิจารณารับดำเนินการโครงการโดยใช้งบประมาณของแผ่นดินต่อไป ส่วนงบประมาณปี 2550 ในการดำเนินโครงการ โดยจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และตั้งงบรายจ่ายประจำปีต่อๆ ไปสำหรับโครงการในแต่ละปี แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ต่อจากนี้ไปโครงการดังกล่าวจะไม่ใช่เงินจากหวย 2 ตัว 3 ตัวแล้ว และเด็กที่เรียนรวมทั้งรุ่นใหม่ก็จะเข้ามายังโครงการนี้ต่อไป โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเข้าไปหาวิธีจัดการคัดเด็ก และปรับเปลี่ยนคำนิยามของความยากจนใหม่ รวมทั้งปรับสาขาการเรียนของนักเรียนทุนที่เหมาะสมกับการพัฒนาท้องถิ่นของเด็กเพราะไม่เช่นนั้นนักเรียนทุนเมื่อกลับมาแล้วก็มีแนวโน้มที่จะเข้ามากระจุกตัวในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ๆดังนั้นเงินก้อนนี้จึงถือเป็นเงินจากงบกลางก้อนแรกที่จะไม่ใช้เงินจากหวย 2 ตัว 3 ตัวแล้ว แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังนำกรณีที่นักเรียนในจังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะเด็กมุสลิมที่ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากผิดหลักศาสนามาหารือ โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการนำโครงการนี้โดยเฉพาะให้ชี้แจกว่าเป็นงบประมาณของรัฐบาล ไม่ใช่งบจากหวยเหมือนในอดีตไปชี้แจงให้นักเรียนมุสลิมรับทราบ โดยเชื่อว่าในปีการศึกษาหน้าเด็กมุสลิมจะได้โอกาสร่วมโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนด้วย

โครงการเสียงสะท้อนจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

ประกาศสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ในพระบรมราชูปถัมภ์ฉบับที่ 3
เรื่อง โครงการเสียงสะท้อนจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุงโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2549ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สัปดาห์หน้า จะเสนอของบประมาณ เพื่อจัดสรรให้กับนักเรียนตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เนื่องจาก เดิมเคยใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ขณะนี้ให้เลิกใช้ก็ต้องของบประมาณ แต่ยืนยันว่า เด็กโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จะไม่ถูกลอยแพ แต่โครงการนี้จะไม่มีอีกแล้วในรัฐบาลนี้ รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ที่ใช้คำว่า “1” ทั้งหลายจะมาพิจารณาว่า จะยังมีต่อไปอีกหรือไม่

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2549
เมื่อถามว่า จะมีการพิจารณา นักเรียนทุนรุ่นที่ 3 หรือไม่ ศ.ดร.วิจิตร ตอบว่าตอนนี้ขอแก้ปัญหาและเยียวยา นักเรียนทุน 2 รุ่นนี้ก่อน ส่วนจะมีรุ่นต่อไปรึเปล่า คงต้องมาพิจารณา ข้อดีข้อเสียซะก่อน และถ้ามีการพิจารณาเด็กทุนรุ่นที่ 3 กระทรวงคงต้องขอเงินจากงบกลางมาสนับสนุน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2549
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยืนยันกับตนว่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินรุ่นที่ 3 ด้วย แต่ตนกำลังดูว่าจะยังคงเป็นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือจะเป็นลักษณะอื่น ดังนั้น เมื่อมีคำยืนยันว่าจะมีรุ่นที่ 3 ตนก็จะไปคิดต่อว่าจะเป็นรูปแบบใด เพราะตนเห็นด้วยกับการให้โอกาสเด็กในชนบทได้โอกาส และถ้าตนมีเงินงบประมาณมาก อาจจะเป็นโครงการ 1 โรงเรียน 1 ทุนได้หรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี รวมถึงต้องคิดว่าจะให้นักเรียนในสังกัดอื่นด้วยหรือไม่ หรือจะยังยึดอำเภอเป็นตัวตั้ง หรือเปลี่ยนเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)

ตามข่าวข้างต้น ทางสมาคมฯ คิดว่านักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสทุกคน สามารถที่จะมีส่วนรวมในการเสนอความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ดังนั้นสมาคมฯจึงจัดโครงการ “โครงการเสียงสะท้อน จากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน” โดยทางสมาคมฯ จะเป็นตัวกลาง เพื่อรับความคิดเห็น ข้อดี ข้อเสียและข้อเสนอแนะต่างๆ ของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส และรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ส่งให้กับทางกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
ทางสมาคมฯ ขอเชิญชวนทุกคนที่สนใจโดยเฉพาะนักเรียนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทั้ง 2 รุ่นช่วยกันแสดงความคิดเห็น, ข้อเสนอแนะต่างๆ, ปัญหาที่พบจากการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงโครงการนี้ให้ดียิ่งขึ้นในรุ่นต่อไป โดยสามารถนำเสนอความเห็นผ่านทางเว็ปไซท์ของสมาคมฯ www.aetf-online.com ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม ศกนี้

.........................................................

หัวข้อโครงการ : เสียงสะท้อนจากนักเรียนไทยในฝรั่งเศสต่อการปรับปรุงโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน

ผู้ดำเนินการ : สมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่มาของโครงการ :
หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับเสนอข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน คณะกรรมการสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสจึงจัดโครงการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อประมวลข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุนต่อไป

จุดประสงค์ในการดำเนินการ :
สมาคมวางตัวเป็นกลางเพื่อเปิดรับความคิดเห็นโดยตรงจากนักเรียนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข่าว และจากบุคคลทั่วไป แล้วสะท้อนความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ มากยิ่งขึ้น

วิธีการดำเนินการ :
๑. ประชาสัมพันธ์โครงการ ผ่านเว็บไซท์สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส
๒. เปิดรับความคิดเห็นจากนักเรียนทุนโอดอส และจากบุคคลทั่วไป โดยตั้งกระทู้ (ปิดรับความคิดเห็นวันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๙)
๓. สรุปรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ แล้วส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ :
๑. ความเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาตอบโต้จากนักเรียนโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน และนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่มีต่อข่าวนี้
๒. ข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน รุ่นต่อๆไป

ด้วยจิตคาระวะ
Webmaster AETF

จ่อล้มโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จบแค่รุ่น 2 ยันไม่ลอยแพรุ่นก่อน

ศธ.จ่อล้มโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน “วิจิตร” ยันจบแค่รุ่น 2 ไม่ลอยแพนักเรียนทุน รุ่น 1-2 แต่ในรัฐบาลนี้จะไม่มีโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนอีกแล้ว พร้อมทบทวนโรงเรียนตามโครงการ “1” ทั้งหมด ส่วน สพฐ.แถลงผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ระบุ มี 836 โรงเรียนผ่านการรับรองเป็นโรงเรียนในฝัน ด้าน “คุณหญิงกษมา” ยันยังมีโครงการโรงเรียนในฝันต่อไป ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะเสนอของบประมาณเพื่อจัดสรรให้กับนักเรียนตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เนื่องจากเดิมเคยใช้เงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ขณะนี้ให้เลิกใช้ก็ต้องของบประมาณ แต่ยืนยันว่า เด็กโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จะไม่ถูกลอยแพ แต่โครงการนี้จะไม่มีอีกแล้วในรัฐบาลนี้ รวมทั้งโรงเรียนต่างๆ ที่ใช้คำว่า “1” ทั้งหลายจะมาพิจารณาว่าจะยังมีต่อไปอีกหรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดแถลงผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน โดย ดร.อรทัย มูลคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในฐานะผู้จัดการโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน กล่าวถึงผลการดำเนินงานโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน ช่วงปีงบประมาณ 2547-2549 จำนวน 921 โรง พบว่า มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินเพื่อรับรองให้เป็นต้นแบบของโรงเรียนในฝันแล้ ว 836 โรง ที่เหลืออีก 85 โรง อยู่ในช่วงการประเมิน คาดว่า จะสามารถประเมินได้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.2549 และจากการประเมินกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนในฝันที่ผ่านการประเมินแล้ว 809 โรง พบว่า มีการพัฒนาครูด้านไอซีทีมากที่สุด 97.30% และเมื่อสำรวจผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของโรงเรียนที่ผ่านการประเมินเป็นโร งเรียนในฝัน พบว่า ในปีการศึกษา 2547 มีนักเรียนสอบเข้าได้ 9,256 คน ปีการศึกษา 2548 มีนักเรียนสอบเข้าได้ 15,821 คน นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนนักเรียนที่สนใจเข้าเรียนในโรงเรียนจำนวน 497 โรง ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อโรงเรียนกลุ่มดังกล่าวผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนในฝัน มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการถึง 134,581 คน ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝันจะยังมีต่อไปแน่นอน เพราะเป็นนโยบายของ ศ.ดร.วิจิตร แต่ต่อไปจะไม่เน้นที่ความอลังการ เพราะที่ผ่านมา หลายโรงเรียนเข้าใจผิดว่าโรงเรียนในฝันต้องเน้นเรื่องไอที ทั้งที่ในแต่ละโรงเรียนมีอีกหลายเรื่องที่ควรจะนำมาเป็นจุดเด่น และที่สำคัญควรที่จะเน้นความเชื่อมโยงต่อชุมชนด้วย

จดหมายเปิดผนึก เรื่องโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน

๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เรื่อง ขอให้ทบทวนการตัดทุนการศึกษาต่อต่างประเทศสำหรับเด็กที่ด้อยโอกาส เรียน ฯพณฯ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามที่ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวว่าจะไม่มีการโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน อีกแล้วในรัฐบาลนี้ ก่อให้เกิดความเข้าใจที่สับสนกันหลายฝ่ายว่าเกิดมาจากปัญหาใด เช่น ปัญหาทางการเงินภายในประเทศ, รัฐบาลคิดว่าโครงการนี้ไม่ดีไม่ควรได้รับการสนับสนุนต่อไป, หรือทางรัฐบาลมีโครงการอื่นทดแทน เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากผู้ที่มาแสดงความเห็นตามเว็ปไซด์ต่างๆในอินเตอร์เน็ตมีควา มคิดเห็นแตกต่างกันไป ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความแตกแยกอันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจเหตุผลอย่างแท้ จริง กระผม นายปิติณัตต์ ตรีวงศ์ นายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความห่วงใยกับข่าวที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อนักเรียน ๑ อำเภอ ๑ ทุน โดยเกรงว่าเด็กกลุ่มนี้จะเกิดความกดดันและอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากหลายฝ่ายเกิดความเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่เอารัดเอาเปร ียบเงินทุนสนับสนุนส่วนอื่นๆและเป็นการใช้งบประมาณของประเทศเพื่อผลประโยช น์ทางการเมือง โดยความเห็นส่วนตัวของกระผมคิดว่าการให้โอกาสสำหรับเด็กนักเรียนที่ด้อยโอ กาสเพื่อที่จะศึกษาต่อในต่างประเทศควรจะมีอยู่ต่อไป ถึงแม้จะไม่ใช่โครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน หรือจะลดปริมาณนักเรียนที่รับทุนนี้ แต่ก็ไม่ควรที่ทางรัฐบาลจะตัดทุนสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือด้อยโอกาสในกา รศึกษาต่อยังต่างประเทศ เนื่องจากว่าเด็กกลุ่มนี้คงจะมีโอกาสน้อยถ้าจะให้สอบชิงทุนปกติของรัฐบาล (ทุน กพ.) เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่ามาตรฐานการศึกษาในประเทศไทยยังไม่เท่าเทียมก ัน โดยเฉพาะเด็กที่ครอบครัวมีรายได้สูงก็มีโอกาสที่จะได้เรียนพิเศษ มีโอกาสที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐบาลรวมถึงการสอบชิงทุนต่างๆของรัฐบา ลได้มากว่าเด็กที่ครอบครัวมีรายได้ต่ำ ดังนั้นจากที่กระผมกล่าวในข้างต้น กระผมจึงใคร่ขอความกรุณาจาก ฯพณฯ ให้ช่วยแจ้งเหตุผลในการยุติโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกฝ่ายและจะไม่เป็นปัญหากับเด็กโครงการนี้ท ั้ง ๒ รุ่นในภายหลัง รวมทั้งขอความกรุณา ฯพณฯ ช่วยทบทวนเรื่องการให้ทุนสำหรับนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนให้สามารถมีโอก าสศึกษาต่อในต่างประเทศ เพราะการศึกษาต่อในต่างประเทศนอกจากเด็กจะได้ความรู้จากการศึกษาเล่าเรียน แล้ว ยังจะได้วิสัยทัศน์ใหม่ๆเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตอีกด้วย จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง (นายปิติณัตต์ ตรีวงศ์) นายกสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ในพระบรมราชูปถัมภ์

1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2 รับโอวาทจากนายกรัฐมนตรี


เมื่อวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2549 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักความสัมพันธ์ ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยประสานงานโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) หรือ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้จัดโครงการประชุมชี้แจงการรับทุนและเข้ารับโอวาทจากนายกรัฐมนตรีของ นักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2 โดยมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2549 นักเรียนทุนจำนวน 915 คน ซึ่งเลือกศึกษาต่อในประเทศ จำนวน 175 คน และต่างประเทศ จำนวน 740 คน ใน 17 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมอันประกอบด้วย กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การอภิปรายกลุ่มในหัวข้อ "การดูแลตัวเองเมื่อเป็น ODOS" จากวิทยากร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลนักเรียนทุนในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 ได้แก่ ดร.เสาวนิตย์ ชัยมุสิก นางปราณี บุญไทย ผศ. เพ็ญจันทร์ กู้ประเสริฐ และนางสาวรรณดี พรหมสุรินทร์ มาให้ความรู้ ประสบการณ์ และคำแนะนำที่นักเรียนสามารถนำไปใช้เตรียมตัวเองก่อนเดินทางไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ โดยมีคุณอรอุมา เกษตรพืชผล เป็นผู้ดำเนิน รายการ นอกจากนี้ นักเรียนทุนยังได้รับฟังข้อคิดเห็นและประสบการณ์จากการอภิปรายกลุ่มของพี่นักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 ซึ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยในช่วงปิดภาคเรียน และที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้น้องๆ นักเรียนทุน รุ่นที่ 2 ได้รับรู้ข้อมูลจาก ประสบการณ์จริงและข้อคิดที่เป็นประโยชน์ในการเตรียมตัวเองให้พร้อมในฐานะนักเรียนทุน ต่อไป ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2549 เวลา 09.30 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2 เข้าคารวะและรับโอวาทจากพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเกียรติประวัติแก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้เล่าประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ก.พ. เพื่อนักเรียนทุนได้เก็บเกี่ยวประเด็นและนำข้อคิดไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เหมาะ พร้อมทั้งขอให้นักเรียนทุนทุกคนขยันศึกษาเล่าเรียน เก็บเกี่ยวความรู้ ทั้งภาษา และวิทยาการที่โดดเด่นในแต่ละประเทศ ให้รู้จักแบ่งเวลาให้เหมาะสม ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน หมั่นค้นคว้าหาความรู้โดยการเข้าห้องสมุด ฝึกตนเองให้เป็นคนกล้าคิด กล้าพูด กล้าถาม และแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นๆ ให้รู้จักสังเกตุ รู้จักคิดเชิงวิเคราะห์ เพื่อจะได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพราะนักเรียนทุนทุกคนคือ กำลังสำคัญที่จะต้องกลับมาร่วมกันพัฒนาประเทศไทยในฐานะเจ้าของประเทศต่อไป นอกจากนี้ ยังขอให้ทุกคนมีความ อดทน รู้จักจัดสรรการใช้เงินให้เหมาะสม ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือย และอาจส่งเงินบางส่วนกลับมาให้พ่อแม่ใช้บ้าง แต่ทั้งนี้ขอให้อยู่บนพื้นฐานของความพอดี ที่ไม่ทำให้ตนเองต้องเดือดร้อน หรือเป็นอุปสรรคต่อการเรียน และท้ายที่สุด ขอให้ทุกคนตระหนักในความเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่จะต้องกลับมาตอบแทนประเทศไทย และท้องถิ่นของตน

ข่าวประชาสัมพันธ์สำนักงาน ก.พ.

การปฐมนิเทศผู้ได้รับทุน ODOS ระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี)
หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1013.8.4/ 685 -859 เรื่อง นักเรียนทุนตามโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2549
หนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1013.8.4/ พิเศษ ถึง ผู้ได้รับทุนตามโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2549 ทุกท่าน
กำหนดการอบรมปฐมนิเทศผู้ได้รับทุนฯ ภาคกลาง
กำหนดการอบรมปฐมนิเทศผู้ได้รับทุนฯ ภาคเหนือ
กำหนดการอบรมปฐมนิเทศผู้ได้รับทุนฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กำหนดการอบรมปฐมนิเทศผู้ได้รับทุนฯ ภาคใต้
คู่มือการเตรียมตัวก่อนเดินทางไปศึกษา ณ ต่างประเทศ และ ภาคผนวกคู่มือ
สัญญารับทุนรัฐบาล

ที่มา สำนักงาน ก.พ. www.ocsc.go.th

ประกาศผลผู้ได้รับทุน 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 2

ประกาศคณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี)
เรื่อง ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้รับทุนโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2549)

ตามที่ คณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) (โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน) ได้ประกาศรับสมัครผู้รับทุนโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) (โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน) โดยกำหนดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 - 16 มกราคม 2549 กำหนดสอบข้อเขียนในวันที่ 29 มกราคม 2549 และกำหนดสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 4 มีนาคม 2549 นั้น บัดนี้ การสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จึงขอประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับทุน ดังต่อไปนี้

รายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกทุนการศึกษาโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุนฯ
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ

ประกาศเกณฑ์การรับสมัคร 1 อำเภอ 1 ทุน (รุ่นที่ 2)

ประกาศคณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี)เรื่อง การคัดเลือกผู้รับทุนรัฐบาลตามโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2549)
ด้วยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับสำนักงาน ก.พ. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ดำเนินโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) (โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน) และคณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) จึงมีมติในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จึงให้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้รับทุน ดังนี้
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับทุน
1.1 เป็นนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2547 หรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2548 สายสามัญหรือสายอาชีพ โดยพิจารณาจากอำเภอ/กิ่งอำเภอที่สถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าตั้งอยู่เป็นเกณฑ์ในการสมัคร และต้องศึกษาอยู่ในสถานศึกษานั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร
1.2 กรณีผู้จบการศึกษานอกโรงเรียนจะต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร และมีระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน การที่ผู้สมัครจะใช้สิทธิสมัครของอำเภอใด ให้พิจารณาที่ตั้งของสถานศึกษาที่ตนศึกษาอยู่ และให้มีหนังสือรับรองจากผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ศึกษาอยู่ด้วย
1.3 ผู้สมัครจะต้องมีผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 กรณีนักเรียนที่จบการศึกษาในปี 2547 ให้ใช้ผลการเรียนเฉลี่ย 6 ภาคการศึกษา ส่วนนักเรียนที่กำลังจะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2548 นักเรียนสายสามัญให้ใช้ผลการเรียนเฉลี่ย 5 ภาคการศึกษา สำหรับผู้เรียนการศึกษานอกโรงเรียนที่คาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2548 ให้ใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมทุกภาคเรียนที่ผ่านมาก่อนภาคเรียนสุดท้ายที่จะจบการศึกษา ส่วนผู้เรียนการศึกษานอกโรงเรียนที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2547 ให้ใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมทุกภาคเรียน
1.4 เป็นผู้มีฐานะยากจน โดยครอบครัว ซึ่งหมายถึง บิดามารดารวมกัน หรือ ผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะ ในกรณีที่บิดามารดาไม่ใช่ผู้ปกครอง (ไม่นับรวมญาติพี่น้อง) มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี (นับช่วงเวลาระหว่าง 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2547) ทั้งนี้จะต้องมีหลักฐานแสดงรายได้ ดังนี้
1.4.1 กรณีบิดามารดาหรือผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะมีเงินเดือนและรายได้ที่แน่นอน ให้ใช้ใบรับรองเงินเดือนเป็นหลักฐาน
1.4.2 กรณีที่บิดามารดาหรือผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะมีรายได้ไม่แน่นอน ต้องมีผู้รับรองรายได้เป็นลายลักษณ์อักษร จำนวน 3 คน ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของผู้รับรองที่ต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ประกอบด้วย
1.4.2.1 สรรพากรอำเภอ หรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (กรณีอยู่นอกเขตเทศบาล) หรือ นายกเทศมนตรี (กรณีอยู่ในเขตเมือง) หรือผู้อำนวยการเขต กทม. (กรณีอยู่ในกรุงเทพมหานคร) โดยให้ยึดภูมิลำเนาของบิดามารดาหรือผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะเป็นเกณฑ์
1.4.2.2 ผู้บริหารสถานศึกษา
1.4.2.3 ครูประจำชั้น
1.4.3 กรณีบิดามารดาหย่าร้างหรือเสียชีวิต ให้พิจารณาจากรายได้ของผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะ หรือของตนเองในกรณีที่ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะ
1.5 ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย มีความประพฤติดี และมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เงื่อนไขสำหรับผู้รับทุน
2.1 ทุนการศึกษาที่ให้เป็นทุนศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยผู้ได้รับทุนจะต้องศึกษาตามหลักสูตร และระยะเวลาที่ทางสถานศึกษากำหนด ทั้งนี้ผู้รับทุนที่เลือกศึกษาในประเทศจะอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ส่วนผู้รับทุนที่เลือกศึกษาต่างประเทศจะอยู่ในความดูแลของสำนักงาน ก.พ. และกระทรวงการต่างประเทศ
2.2 กรณีที่ผู้รับทุนเลือกศึกษาต่อในประเทศให้ใช้ผลสอบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษาตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนด
2.3 หากผู้รับทุนที่เลือกศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่สามารถสอบเข้าสถานศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ สามารถเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาเป็นระดับอาชีวศึกษาตามความเหมาะสมและความสมัครใจของผู้รับทุน หรือเปลี่ยนมาศึกษาต่อในประเทศไทย โดยให้ติดต่อกับสำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
2.4 สำหรับผู้รับทุนที่เลือกศึกษาต่อในประเทศ หากประสงค์จะเปลี่ยนสาขาวิชา หรือเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา ให้เป็นไปตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนกำหนด
2.5 ผู้รับทุนที่ศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะต้องเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 20 วัน และจะต้องประกอบอาชีพในประเทศไทย ซึ่งผู้รับทุนสามารถเลือกปฏิบัติงานได้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามความต้องการของตนเอง
2.6 ในกรณีที่ผู้รับทุนที่เลือกศึกษาต่อต่างประเทศแต่ไม่กลับประเทศไทยหลังจบการศึกษา จะพิจารณาใช้มาตรการที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล การรับสมัคร
3.1 ผู้สมัครสามารถขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่สถานศึกษาตั้งอยู่
3.2 หลักฐานในการสมัครได้แก่ - ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าโดยเฉลี่ย ตามรายละเอียดข้อ 1.3 - หลักฐานการรับรองรายได้ ตามข้อ 1.4 - ใบรับรองความประพฤติจากสถานศึกษา - สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน - รูปถ่ายขนาด 1 X 1.5 นิ้ว จำนวน 3 ใบ - เอกสารสำคัญในการเปลี่ยนชื่อและชื่อสกุล (ถ้ามี) - เอกสารสำคัญแสดงในกรณีบิดามารดาหย่าร้างหรือเสียชีวิต และหลักฐานอื่นๆ ที่แสดงถึงที่มาของผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะ การสอบคัดเลือก
4.1 การสอบข้อเขียน ให้สอบพร้อมกันทุกจังหวัด โดยใช้ข้อสอบกลาง ซึ่งประกอบด้วย ข้อสอบ วัดความรู้พื้นฐาน (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ รวม 3 ชม.) และข้อสอบภาษาอังกฤษ (2 ชม.) สำหรับสถานที่สอบสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 ของแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้กำหนด
4.2 ให้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำรายชื่อผู้สอบผ่านข้อเขียนที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละอำเภอ (โดยจะต้องมีคะแนนผ่านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60) เพื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ กรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันให้นับรวมเป็นอันดับเดียวกัน
4.3 การสอบสัมภาษณ์ ให้แต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดสถานที่สอบและดำเนินการสอบสัมภาษณ์ โดยให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ เกณฑ์การตัดสินจะกำหนดสัดส่วนคะแนน ดังนี้ คะแนนสอบข้อเขียนคิดเป็นร้อยละ 90 และคะแนนสอบสัมภาษณ์คิดเป็นร้อยละ 10 โดยผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ได้รับทุนของอำเภอ/กิ่งอำเภอ นั้นๆ
4.4 การประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับทุน กระทรวงศึกษาธิการจะประกาศตามสื่อต่างๆ การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการรับสมัคร สอบคัดเลือก และตรวจข้อสอบ
5.1 คณะกรรมการรับสมัครให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 175 เขต แต่งตั้งคณะกรรมการรับสมัครโดยให้เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เปิดเผย และตรวจสอบได้
5.2 คณะกรรมการสอบข้อเขียนให้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการออกข้อสอบข้อเขียนรับ-ส่งข้อสอบ สรรหาคณะกรรมการคุมสอบโดยประสานงานกับเขตพื้นที่การศึกษาตรวจข้อสอบ ประมวลผลข้อสอบ และส่งผลคะแนนสอบของผู้สอบได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งส่งรายชื่อผู้สอบได้ดังกล่าวให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อจัดสอบสัมภาษณ์
5.3 คณะกรรมการสอบสัมภาษณ์
5.3.1 สอบสัมภาษณ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวคำถามสำหรับสอบสัมภาษณ์
5.3.2 ให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาของแต่ละเขตเป็นประธานคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ โดยพิจารณาสรรหากรรมการสอบสัมภาษณ์จากสถาบันการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม
5.4 คณะกรรมการจากส่วนกลางเพื่อรับเรื่องร้องเรียน ให้กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หรือให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับทุน ระยะเวลาดำเนินงานในการรับสมัครและสอบคัดเลือก
6.1 ประชาสัมพันธ์โครงการ 1 กันยายน - 31 ตุลาคม 2548
6.2 ดำเนินการรับสมัคร และตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร 1 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม 2548
6.3 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบ ธันวาคม 2548
6.4 สอบข้อเขียน มกราคม 2549
6.5 ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านข้อเขียน มกราคม 2549
6.6 สอบสัมภาษณ์ กุมภาพันธ์ 2549
6.7 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุน มีนาคม 2549
6.8 ตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อจัดกลุ่มก่อนเข้ารับการปฐมนิเทศ มีนาคม 2549
6.9 จัดให้นักเรียนทุนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อรับโอวาท กลางเดือนมิถุนายน 2549
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
แก้ไขเพิ่มเติมประกาศเกณฑ์การรับสมัคร 1 อำเภอ 1 ทุน (รุ่นที่ 2)
ตามที่ คณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) (โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน) ได้มีประกาศคณะกรรมการฯ ลงวันที่ 20 กันยายน 2548 เรื่อง การคัดเลือกผู้รับทุนรัฐบาลตามโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2549) นั้น
1. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 1.1 ของคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับทุน และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
1.1 เป็นนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2547 หรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษา 2548 สายสามัญหรือสายอาชีพ โดยพิจารณาจากอำเภอ/กิ่งอำเภอที่สถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าตั้งอยู่เป็นเกณฑ์ในการสมัคร หรือต้องศึกษาอยู่ในสถานศึกษาในอำเภอ/กิ่งอำเภอนั้นๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร
กรณีที่อำเภอ/กิ่งอำเภอใดไม่มีสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า หรือมีสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าแต่ไม่มีนักเรียนศึกษาอยู่ ให้ผู้ที่มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์อยู่ในอำเภอ/กิ่งอำเภอนั้นๆ มาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีสิทธิสมัครรับทุนในอำเภอ/กิ่งอำเภอนั้นได้ โดยให้ใช้สิทธิสมัครรับทุนในอำเภอ/กิ่งอำเภอเดียวเท่านั้น
2. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 1.2 ของคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับทุน และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 1.2 กรณีผู้จบการศึกษานอกโรงเรียนจะต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี นับถึงวันปิดรับสมัคร และมีระยะเวลาศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน การที่ผู้สมัครจะใช้สิทธิสมัครของอำเภอใด ให้พิจารณาที่ตั้งของสถานศึกษาที่ตนศึกษาอยู่ และให้มีหนังสือรับรองจากผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ศึกษาอยู่ด้วย อนึ่ง สำหรับผู้สมัครที่ใช้วุฒิการศึกษานอกโรงเรียนสมัคร จะต้องไม่เคยจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่ามาก่อน
3. ให้คงข้อความในข้อ 3.2 ของการรับสมัคร และเพิ่มเติมหลักฐานในการสมัคร ดังนี้ - สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครองที่ให้การอุปการะ
4. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 4.2 ของการสอบคัดเลือก และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 4.2 ให้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำรายชื่อผู้สอบผ่านข้อเขียน ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละอำเภอ เพื่อเข้าสอบสัมภาษณ์ กรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันให้นับรวมเป็นอันดับเดียวกัน
5. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 4.3 ของการสอบคัดเลือก และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 4.3 การสอบสัมภาษณ์ ให้แต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดสถานที่สอบและดำเนินการสอบสัมภาษณ์ โดยให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสัมภาษณ์ เกณฑ์การตัดสินจะกำหนดสัดส่วนคะแนน ดังนี้ คะแนนสอบข้อเขียนคิดเป็นร้อยละ 90 และคะแนนสอบสัมภาษณ์คิดเป็นร้อยละ 10 โดยผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ได้รับทุนของอำเภอ/กิ่งอำเภอ นั้นๆ กรณีที่ผู้สมัครได้คะแนนรวมเท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนนสอบสัมภาษณ์สูงกว่ามีสิทธิได้รับทุนก่อน ถ้าคะแนนสอบสัมภาษณ์เท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษสูงกว่ามีสิทธิได้รับทุนก่อน ถ้าคะแนนสอบภาษาอังกฤษเท่ากันอีก ให้สัมภาษณ์ (เฉพาะผู้ได้คะแนนรวมเท่ากัน) เป็นภาษาอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง และผู้ได้คะแนนสัมภาษณ์สูงกว่ามีสิทธิได้รับทุนก่อน
6. ให้เพิ่มเติมประกาศ ข้อ 4.5 ดังนี้ 4.5 ถ้าผู้มีสิทธิได้รับทุนสละสิทธิการรับทุน หรือถูกเพิกถอนการให้ทุน หรือไม่สามารถรับทุนได้ หรือปรากฏภายหลังว่าขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ จะพิจารณาให้ผู้ที่สอบแข่งขันได้ที่อยู่ในลำดับถัดไป และยังมิได้รับทุนใดในการสอบครั้งเดียวกันนี้ เป็นผู้มีสิทธิได้รับทุนแทน
7. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 5.2 ของการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการรับสมัคร สอบคัดเลือก และตรวจข้อสอบ และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 5.2 คณะกรรมการสอบข้อเขียน ให้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการออกข้อสอบข้อเขียนรับ-ส่งข้อสอบ สรรหาคณะกรรมการคุมสอบโดยประสานงานกับเขตพื้นที่การศึกษาตรวจข้อสอบ ประมวลผลข้อสอบ และส่งผลคะแนนสอบของผู้สอบได้คะแนนสูงสุด สามอันดับแรกของแต่ละอำเภอ/กิ่งอำเภอ พร้อมทั้งส่งรายชื่อผู้สอบได้ดังกล่าวให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อจัดสอบสัมภาษณ์
8. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 5.4 ของการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการรับสมัคร สอบคัดเลือก และตรวจข้อสอบและใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 5.4 คณะกรรมการจากส่วนกลางเพื่อรับเรื่องร้องเรียนให้กระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หรือให้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้รับทุน กรณีมีข้อปัญหาใดๆ ให้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) เพื่อพิจารณา และถือมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ เป็นที่สิ้นสุด
9. ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 6.8 ของระยะเวลาดำเนินงานในการรับสมัครและสอบคัดเลือก และใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 6.8 ผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับทุนรายงานตัว วันที่ 13 - 17 มีนาคม 2549

ขยายเวลาการรับสมัครผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน

ขยายเวลาการรับสมัครผู้รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
ตามที่ คณะกรรมการโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) ได้มีประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง การคัดเลือกผู้รับทุนรัฐบาลตามโครงการทุนศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2549) ลงวันที่ 20 กันยายน 2548 และ เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศการคัดเลือกผู้รับทุนรัฐบาลตามโครงการทุกศึกษาต่อของนักเรียนจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) รุ่นที่ 2 (ปีการศึกษา 2549) ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2548 นั้น
เพื่อเป็นการกระจายโอกาสให้นักเรียนได้สมัครรับทุนอย่างทั่วถึง จึงเห็นสมควรขยายเวลาการรับสมัครทุนไปจนถึงวันที่ 16 มกราคม 2549 และแก้ไขกำหนดระยะเวลาการดำเนินการในกระบวนการคัดเลือกผู้รับทุน ดังนี้
1. รับสมัคร 1 พ.ย. 48 - 16 ม.ค. 49
2. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบข้อเขียน 23 ม.ค. 49
3. สอบข้อเขียนพร้อมกันทุกจังหวัด 29 ม.ค. 49
4. ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านข้อเขียน 14 ก.พ. 49
5. สอบสัมภาษณ์ 25 ก.พ. 49
6. สพท.ส่งคะแนนสอบสัมภาษณ์ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ 3 มี.ค. 49
7. ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุนอย่างเป็นทางการ 17 มี.ค. 49
8. ผู้ได้รับทุนรายงานตัว 20 - 24 มี.ค. 49
นอกจากข้อความเพิ่มเติมข้างต้น ให้เป็นไปตามประกาศเดิม
ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2548

*** เลื่อนวันสอบสัมภาษณ์เป็นวันที่ 4 มีนาคม 2549
เนื่องจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันสอบสัมภาษณ์ผู้สมัครโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ตรงกับวันสอบ O-NET สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงขอเลื่อนวันสัมภาษณ์ออกไปเป็นวันที่ 4 มีนาคม 2549จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
24 มกราคม 2549