รมว.ศธ.เร่ง คกก.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน พิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของ นศ.ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

รมว.ศธ.เร่ง คกก.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน พิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของ นศ.ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน พิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของนักศึกษาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ มากที่สุด หลังรัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ได้รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าวมานำเสนอที่ประชุม เพิ่มเติม อาทิ ปัญหานักเรียนในโครงการไปเรียนในต่างประเทศ โดยไม่ทราบว่าประเทศที่เดินทางไปศึกษาต่อไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี ในขณะที่ระเบียบของโครงการกำหนดให้นักศึกษาต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี นอกจากนี้มีบางประเทศมีเงื่อนไขบังคับว่า ก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจะต้องเรียนภาษาอย่างน้อย 2 ปี และต้องเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยอีก 1 ปี จึงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เคยเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความเร่งรีบในการดำเนินโครงการจึงเกิดเป็นปัญหาที่ค้างมา จนถึงปัจจุบัน ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาในการขอ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากข้อตกลงเดิม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด รวมทั้งขอให้คณะกรรมการไปพิจารณาด้วยว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะนำไปสู่การขอทบทวนมติ คณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันว่า นักเรียนในโครงการจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่มีการยกเลิกกลางคัน แน่นอนเพราะจะทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก แต่ในส่วนของการดำเนินการในรุ่นที่ 3 นั้น จะต้องชะลอไปก่อน

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

"จุรินทร์"เล็งให้ผู้รับทุน1อำเภอ1ทุนต้องทำงานใช้ทุน

"จุรินทร์"เล็งให้ผู้ได้รับทุน 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรับทุน ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนเมื่อชาติต้องการ คนเรียนเกิน 7 ปี ออกเงินค่าใช้จ่ายในปีที่เหลือเอง ตั้งกรรมการศึกษารายละเอียด
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2552 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ครั้งที่ 3 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การประชุมนัดนี้ก็ยังมีการเสนอปัญหาต่าง ๆ ให้บอร์ดพิจารณาแก้ไขอยู่หลายกรณี หลังจากที่การประชุมนัดที่แล้ว ก.พ.รายงานปัญหานักเรียนทุนที่เลือกเรียนต่างประเทศจำนวนมากเรียนไม่ไหว ต้องขอกลับมาเรียนต่อในประเทศไทยจำนวน 227 ราย จากจำนวนนักเรียนทุน 2 รุ่นที่เลือกเรียนต่างประเทศจำนวน 1,478 ราย และมีจำนวน 29 ถูก ก.พ.ตัดสินให้ออกจากทุน

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า การประชุมนัดนี้ ก.พ. ได้รายงานปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น กรณีเด็กไปถึงประเทศนั้นๆ แล้ว เช่น สเปน ออสเตรีย เพิ่งรู้ว่า ประเทศนั้นไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี มีแต่ระดับอนุปริญญาแล้วข้ามไปเป็นปริญญาโทเลย ซึ่งขัดเงื่อนไขของทุนที่ระบุให้ทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรีเท่านั้น หรือบางประเทศกำหนดตายตัวให้เรียนภาษาก่อน 1 ปี และเตรียมตัวก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอีก 2 ปี จึงจะสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ทำให้เด็กมีแนวโน้มเรียนจบไม่ทันภายใน 7 ปี ตามเงื่อนไขของโครงการ

“เมื่อพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นได้ชัดว่า เกิดขึ้นจากการเร่งดำเนินโครงการจนขาดความรอบครอบและเตรียมความพร้อมรองรับ ไว้เพียงพอ ตลอดเวลาที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2549 จึงเกิดปัญหาค้างคามาหลายเรื่อง บอร์ดโครงการต้องคอยมาตามแก้ไขปัญหาให้ทีละรายโดยเฉพาะปัญหานักเรียนทุน เรียนไม่ไหวต้องขอกลับมาเรียนในประเทศแทน ซึ่งหลายรายเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัยเอกชน และเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ยาก ค่าใช้จ่ายสูงมาก อย่างเช่น คณะทันตแพทย์ที่มีค่าเทอมปีละหลายแสน เพราะฉะนั้น บอร์ดโครงการฯ จึงมีมติตั้งกรรมการ 1 ชุด มอบรองผอ.สำนักงปบระมาณเป็นประธาน ไปพิจารณาว่า กรณีนักเรียนทุนที่มีขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรับทุนทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องตอบแทนอะไรกลับมาบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสวนร่วมมากขึ้น เพราะเงื่อนไขรับทุนเดิม ไม่ได้กำหนดให้นักเรียนทุนเหล่านี้ ต้องตอบแทนอะไรเลย ขอแค่ให้กลับมาประเทศไทยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง หลายรายเรียนจบแล้วก็ไม่ยอมกลับประเทศไทย “ รมว.ศธ. กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า โครงการฯนี้ ควรจะมีการทบทวนเงื่อนไขการให้ทุนให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากกว่านี้ เพราะเป็นโครงการที่ยังต้องใช้งบประมาณอุดหนุนอีกกว่า 5 พันล้านบาท แต่สำหรับนักเรียนทุนที่เรียนได้ดี ไม่เคยมาขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับทุน เช่น ขอกลับมาเรียนในไทยนั้น คงไม่สามารถไปดำเนินการใด ๆ กับเด็กที่ได้รับทุน อย่างไรก็ตาม กรณีเด็กที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการรับทุนนั้น อาจจะมีการแก้ไขเงื่อนไขใหม่ให้พวกเขาต้องกลับมาทำงานชดใช้ หากว่าหน่วยราชการ หรือท้องถิ่นมีความต้องการกำลังคนด้านนั้นพอดี หรือ กรณีที่เด็กเรียนเกิน 7 ปี นั้น อาจกำหนดให้เด็กต้องออกค่าใช้จ่ายในปีที่เกินไปเอง แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมา จะเสนอทบทวนเงื่อนไขการให้ทุนอย่างไรมา แต่ตนให้เวลาไปศึกษาประมาณ 3 สัปดาห์ แล้วจะเรียกประชุมบอร์ดอีกครั้ง ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องมีการขอเปลี่ยนแปลงมติครม.เดิม ก็จะต้องดำเนินการ เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้โครงการนี้เกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมมากขึ้น

อนึ่ง โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 1 มีจำนวน 921 คน รุ่น 2 จำนวน 915 คน รวม 1,836 คน จำนวนนี้เลือกเรียนต่างประเทศจำนวน 1,478 คน สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 80 คน ออกจากทุน 29 คน ถูกให้กลับมาเรียนในไทย 227 คน ปัจจุบัน เหลือนักเรียนทุนในต่างประเทศ จำนวน 1,142 คน ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนในประเทศไทยนั้น รวม 2 รุ่น 358 คน ข้อมูล ณ 31 ก.ค. สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 157 คน พ้นสภาพ 15 คน เพราะเกรดไม่ดี ความประพฤติไม่ดี ไม่มารายงานตัว 3 คน

ที่มา : http://www.komchadluek.net

แฉ 1 อำเภอ 1 ทุนปัญหาอื้อ! เตรียมหาช่องเด็กผิดเงื่อนไขรับใช้สังคม

“จุรินทร์” แฉโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ปัญหาอื้อ พบเด็กเลือกประเทศไม่รู้ว่าไม่มีการสอนระดับปริญญาตรี ส่วนเดนมาร์ก สวีเดน มีเงื่อนไขเด็กต้องเรียนภาษา 2 ปี เตรียมมหาวิทยาลัย 1 ปี ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย เจอ นร.บางคนขอเรียนต่อ 8-9 ปีส่วนเด็กขอกลับเมืองไทย เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน คณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง สั่งคณะทำงานหาช่องปรับ ครม.ให้เด็กผิดเงื่อนไขรับใช้สังคม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการ 1 อำเภอ 1 ทุน โดยคณะทำงานได้รวบรวมปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบ เช่น เด็กไปเรียนต่างประเทศโดยไม่ทราบว่าประเทศที่ไปเรียนนั้น ไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี แต่เริ่มต้นสอนระดับปริญญาโท เช่น สเปน ออสเตรีย เป็นต้น ซึ่งขัดกับระเบียบของกองทุนที่กำหนดให้ไปเรียนระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศเดนมาร์ก สวีเดน เขามีเงื่อนไขว่าก่อนที่จะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะต้องเรียนภาษาอย่างน้อย 2 ปี เรียนเตรียมมหาวิทยาลัย 1 ปี รวมเป็น 3 ปี ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย

นายจุรินทร์ระบุว่า คณะทำงานต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความเร่งรีบในการดำเนินโครงการ ขาดการตรวจสอบและเตรียมการให้มีความพร้อมก่อน ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งเรียนต่อไม่ได้ ต้องขอกลับมาเรียนในประเทศไทย เด็กบางคนเลือกมหาวิทยาลัยเอกชน คณะทันตแพทย์ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก

นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน (ก.พ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาว่าเด็กที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากข้อตกลงเดิม จะมีการปรับหลักเกณฑ์อย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และท้องถิ่น โดยให้เวลา 1 เดือนในการปรับเงื่อนไข เพราะเดิมแทบไม่มีเงื่อนไขเลย ขอแค่ให้เด็กกลับเมืองไทย ซึ่งมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่กลับเมืองไทย

“ให้คณะทำงานไปดู 2 ประเด็น ว่ามีความจำเป็นที่จะนำไปสู่ขอทบทวนมติ ครม.ที่เคยระบุให้ไปเรียน 7 ปี โดยไม่ต้องใช้ทุน เพื่อให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่น กับประเด็นอะไรที่ต้องทบทวนหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่คณะกรรมการได้มีมติ ไปแล้ว โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่นมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นภาระของรัฐบาลอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท จึงชะลอรุ่นที่ 3 ไว้ก่อน เพราะขณะนี้มีปัญหายุ่บยั่บให้แก้ไข” รมว.ศธ.กล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลมีทุนให้มากมาย แต่เป็นทุนที่มีความรอบคอบและเหมาะสม เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เรามีทุนให้ 1 หมื่นทุน ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะมีการขบวนการคัดเลือกการให้ทุนที่ชัดเจน ไม่เหมือน 1 อำเภอ 1 ทุน

นาย จุรินทร์กล่าวว่า หากแก้เงื่อนไขสำหรับเด็กที่ขอเปลี่ยนเงื่อนไข ส่วนตัวคิดว่าสังคมต้องได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่เด็กได้ฝ่ายเดียว เช่น เด็กบางคนจะขอเรียนต่อ 8 ปี 9 ปี หรือกรณีต้องเรียนในสาขาที่ขอไปเรียนในประเทศนั้นให้จบ แต่ว่าเรียนไม่จบแล้วกลับมาเรียนในเมืองไทย ตรงนี้ถือว่าไม่ตรงตามเงื่อนไข คณะกรรมการสามารถปรับปรุงเงื่อนไขได้ เช่น ภาครัฐหรือท้องถิ่นต้องการให้เด็กมาทำงาน หรือเด็กที่เรียนเกินเวลาที่กำหนด เช่นเรียนเกิน 7 ปี เด็กจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองหรือไม่ในส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอการพิจารณาจากคณะทำงานเสียก่อน ส่วนเด็กที่ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขก็ใช้เงื่อนไขเดิม

ที่มา : http://manager.co.th