เด็กทุนหนึ่งอำเภอเรียนเอเชียไร้ปัญหายุโรป-อเมริการ่อแร่

ก่อนที่ตัดสินใจให้คำตอบแก่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่ารัฐบาลสมควรควักกระเป๋าอย่างหนัก สานต่อ โครงการ 1 ทุน1 อำเภอ(โอดอส) รุ่นที่3 หรือไม่ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการชั่งน้ำหนักก่อนว่า ทุนโอดอสแลกเปลี่ยนประโยชน์คืนให้ประเทศคุ้มค่าหรือไม่ โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ตามหาคำตอบนี้

ก่อนที่ศธ.จะเสนอเรื่องเข้าครม.ของบประมาณสานต่อทุนโครงการ 1 อำเภอ1 ทุนรุ่น 3 ที่เปลี่ยนชื่อเป็นทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นศ.ดร.วิจิตรศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการได้มอบให้ ก.พ.ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลในต่างแดนสำรวจความสำเร็จของนักเรียนทุนรุ่นที่ 1 จำนวน628 คนที่กระจายเลือกเรียนใน 16 ประเทศโดยต้องการข้อมูลชี้วัด 2 เรื่องคือระดับผลการเรียนของนักเรียนทุนแต่ละราย และระดับสถาบันอุดมศึกษาที่พวกเขาสามารถเข้าศึกษาได้ ทั้งนี้ เพราะถ้าจะให้สมราคา ทุนราคาแพงเป็นพันล้านบาทนี้แล้ว นอกจากที่พวกเขาควรเรียนจบมาด้วยผลการเรียนระดับดีแล้ว ควรต้องจบจากสาขาเด่นของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เชี่ยวชาญในสาขานั้นด้วย

ผลการสำรวจระดับผลการเรียนปรากฏว่านักเรียนทุนโอดอส รุ่น 1 ส่วนใหญ่321 รายมีผลการเรียนระดับ ปานกลาง และ 131 รายมีผลการเรียนดีเด่น และ 89 รายผลการเรียนมีปัญหา คือ ร่อแร่อาจเรียนไม่จบ ที่น่าสังเกต คือในประเทศแถบตะวันตกจะมีสัดส่วนนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนมากกว่าประเทศแถบตะวันออก โดยเฉพาะประเทศออสเตรียซึ่งมีนักเรียนทุนโอดอส 10 รายและประเทศสเปน มีนักเรียนทุน 11 รายพบว่าทุกคนทั้ง 21 รายอยู่ในกลุ่มร่อแร่ รวมทั้งอียิปต์ มีนักเรียนทุนรายเดียวก็อยู่ในกลุ่มร่อแร่เช่นกัน

หรืออย่างเนเธอร์แลนด์ส่งไป73 รายมีปัญหา 21 รายปานกลาง 41 รายผลการเรียนดีเด่น 11 รายขณะที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีนักเรียนทุนโอดอสมากที่สุด จำนวน 137 รายและเป็นภาษาที่มีการเรียนการสอนในไทยอย่างกว้าง ขวาง กลับมีเพียง 16 รายที่มีผลการเรียนดีเด่นส่วนใหญ่ 91 รายมีผลการเรียนปานกลางและมี 20 รายอยู่ในกลุ่มร่อแร่ที่น่าสนใจ คือ นักเรียนทุนในฝรั่งเศลทั้ง 137 รายเข้าสถาบันอุดมศึกษาที่ติดอันดับได้แค่ 7 รายอีก 130 รายเข้าเรียนในสถาบันที่ไม่ติดอันดับ

เด็กที่เลือกเรียนในซีกโลกตะวันออกพบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ ในประเทศจีน นักเรียนทุน 96 รายมีปัญหาแค่ 1 รายและ 9 รายมีผลการเรียนปานกลางที่เหลือ 46 รายมีผลการเรียนดีเด่น เช่นเดียวกับญี่ปุ่นซึ่งมีนักเรียนทุนจำนวน 119 รายมีปัญหา 14 รายปานกลาง 82 รายและดีเด่น 18 รายแต่นักเรียนทุนในญี่ปุ่นสามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 112 รายขณะที่จีนเข้ามหาวิทยาลัยติดอันดับได้ถึง 60 รายคิดเป็น 2 ใน3 ของนักเรียนทุนทั้งหมดในจีน

ผศ.อัคราอัครนิธิ สถาบันภาษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าสาเหตุที่ประเทศแถบยุโรปมีสัดส่วนนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนมาก นอกจากเป็นเพราะความยากของภาษาประจำแต่ละประเทศ ซึ่งต้องย้ำว่ายากมากๆ แล้ว สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของประเทศมีผลต่อการปรับตัวของเด็ก ผู้คนในประเทศดังกล่าวอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน นิสัยเย็นชา และที่สำคัญเขาจะไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษด้วย

เพราะฉะนั้นในสภาพที่เด็กต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเหล่านี้โดยที่ยังพูดภาษาเขาไม่ได้จึงลำบากมาก ทั้งในการใช้ชีวิตและในการเรียน ต่างกับประเทศตะวันออกที่ค่อนข้างเป็นวัฒนธรรม ที่มีความอบอุ่น อีกทั้งยังใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทย เด็กจึงปรับตัวได้ง่าย ผลการเรียนของนักเรียนทุนในประเทศแถบยุโรปจึงมีปัญหามากกว่าประเทศแถบตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ผศ.อัคราย้ำว่าการเรียนภาษาให้เข้าใจแตกฉานเพียงพอสำหรับการเรียนต่อระดับอุดมศึกษานั้น เป็นเรื่องที่ยากอย่างมาก การเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นต้องใช้ Text Book ซึ่งใช้ภาษาที่ยากยิ่งเพิ่มความลำบากทางการเรียนให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีพื้นฐานการเรียนสายภาษามาก่อน เพราะฉะนั้นการส่งเด็กไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเพื่อหวังให้ไปเรียนรู้วิทยาการของเขาจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดี

"แม้เด็กจบมัธยมสายศิลป์ภาษามา ยังถือว่ายาก ถ้าเป็นเด็กที่จบสายวิทยาศาสตร์ ตายสถานเดียว ตามธรรมชาติแล้ว สมองซีกซ้าย-ขวาของคนจะไม่เท่ากัน ถ้าเขาเก่งคำนวณ จะไม่เก่งภาษา ถ้าเก่งภาษา จะไม่เก่งคำนวณ การส่งเด็กที่จบสายวิทย์ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านภาษาไปเรียนต่อต่างประเทศนั้น จริงอยู่เด็กอาจจะเรียนได้ แต่เขาจะ suffer มากเครียดมาก โดยเฉพาะทุนรุ่น 3 ที่จะส่งเด็กสายอาชีวะไปด้วยยิ่งน่าเป็นห่วงเด็กกลุ่มนี้มาก"

ผศ.อัครา ทิ้งท้ายว่า หาก ศธ.จะจัดทุนรุ่น3 ต่อโดยเพิ่มการให้ทุนสายอาชีวะด้วยแล้ว ควรเตรียมตัวทางภาษาให้ดีก่อนไป และเตรียมการใช้ชีวิตในต่างแดนด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่วัฒนธรรมต่างจากเรามาก เพื่อไม่ให้เด็กเกิดสภาพ Culture Chock และควรจะส่งเด็กไปเป็นคู่ในลักษณะBuddy อาจเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยเดียวกันหรือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองเดียวกันสามารถพักอยู่ด้วยกันได้ เด็กทั้งคู่จะได้คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ถ้าชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าของทุนราคาแพงนี้แล้วถือว่าไม่สูญเปล่า นักเรียนทุนหลายรายสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำและมีผลการเรียนที่ดี แต่เพราะปัญหาเรื่องภาษาและการปรับตัว ทำให้นักเรียนทุนหลายคนไปได้ไม่ราบรื่น อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถที่จะโทษเด็กฝ่ายเดียวได้ เพราะโครงการนี้ตอบโจทย์หลายข้อมากเกินไป ทั้งการให้โอกาสแก่เด็กยากจนและต้องการให้เด็กไปเรียนรู้วิทยาการในประเทศที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ผลจึงออกมาครึ่งๆ กลางๆ เช่นกัน


สุพินดาณ มหาไชย
http://www.komchadluek.net