สกัดเหลือบสูบโอกาสคนจน

สกัดเหลือบสูบโอกาสคนจนหวยบนดิน
หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่คนหาเช้ากินค่ำ ยอมเจียดเงิน ในกระเป๋าเพื่อหวัง ต่อทุน หรือบางรายก็ถึงขั้นวาดฝัน ถูกรางวัลแจ็กพอต เป็นเศรษฐีในพริบตา จากการเสี่ยงดวงเดือนละ 2 ครั้ง
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อที่กำไร ที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับในแต่ละงวดจากการออกสลากเลขท้าย เป็นเงินก้อนโต และพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ถึงหลักร้อยล้าน พันล้านบาท
และเงินก้อนนี้เองที่เป็นแหล่งสนับสนุนงบประมาณ สำหรับสารพัดโครงการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการความคล่องตัวในการบริหารงาน และต้องการคืนกำไรให้กับชาวบ้าน
โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ทุนหวยก็เป็นหนึ่งในโครงการที่นำเงินรายได้ส่วนเกิน ของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวก้อนนี้ ที่แบ่งมาเพื่อให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนยากจนแต่เรียนดี ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จนถึงวันนี้เรียกได้ว่า นักเรียนทุนหวยรุ่นแรก ได้ผ่านการเรียนในและ ต่างประเทศมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว ทั้งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ก็กำลังเปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อรับทุน หวยรุ่นที่สองอยู่ การสำรวจโครงการว่ามีความประสบ ผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด รวมถึงจุดอ่อนเพื่อเร่งแก้ไข และให้การส่งเด็กทุน ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่าที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม
ผศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการติดตามประเมินผล โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนจาก เงินรายได้ส่วนเกินของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว
ทีมการศึกษาขอย้อนรอยถึงที่มาของทุนหวยก้อนนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้โอกาสกับเด็กยากจนเรียนดี อำเภอละ 1 คน ทั่วประเทศ ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยให้เด็กเป็นผู้เลือกเองว่า จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 และคัดเลือกนักเรียนทุนรุ่นแรกได้จำนวน 921 คน มีนักเรียนเลือกเรียนต่อต่างประเทศ 739 คน กระจายไปใน 16 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน รัสเซีย อียิปต์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สวีเดน อิตาลี เดนมาร์ก จีน มาเลเซีย อินเดีย ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนต่อในประเทศ 182 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ
จากงานวิจัยระบุว่า นักเรียนโครงการ หนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ หรือ One District One Scholarship หรือ ODOS ซึ่งเด็กๆที่ได้รับทุน จะเรียกตัวเองว่า กลุ่มเด็กโอดอสนี้ พบว่า เด็ก 404 คน หรือ ร้อยละ 53 มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 21 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และร้อยละ 13 มีอาชีพค้าขายหรืองานอิสระ มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ย 5002,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 90.53 ไม่เคยมีประวัติการรับทุนอื่นๆมาก่อน แสดงให้เห็นว่า ทุนนี้ได้ให้โอกาสกับเด็ก ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
หันมามองเรื่องการปรับตัวของนักเรียนทุนในประเทศ ส่วนใหญ่สามารถปรับตัว ได้ดี ตั้งใจเรียนดี ผลการเรียนในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี
ส่วนการปรับตัวของนักเรียนทุนต่างประเทศ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย มุ่งมั่นตั้งใจเรียน มีความรักกันในหมู่พวกพ้องมาก มีพัฒนาทางภาษาดีมาก กระตือรือร้นในการเรียน ไม่เคยขาดเรียนโดยไม่จำเป็น นักเรียนที่อยู่ในประเทศที่มีการแข่งขันสูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เช่น ญี่ปุ่น จะพบว่า นักเรียนมีความกดดันมากที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
ผลดีที่พบก็คือ เกิดการตื่นตัว ในกลุ่มนักเรียน ม. ปลาย โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกล และผลการเรียนของ เด็กก็ดีขึ้นผิดหูผิดตา เพราะต้องการสอบชิงทุนนี้
แต่จุดอ่อนที่งานวิจัยนี้ค้นพบก็คือ
ข้อสอบที่ให้ในการคัดเลือกไม่ได้ มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ไม่มีการประเมินจิตสำนึกต่อ การกลับมาทำงานในประเทศ การเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ต้องใช้เวลาเตรียมตัวให้มากขึ้น
ทุนไม่มีข้อผูกมัดซึ่งน่าเป็นห่วงว่า จะมีเด็กส่วนหนึ่งกลับมาทำงาน ไม่ตรงตามสาขาที่เรียน หรือไม่กลับมา ทำให้เกิดความสูญเปล่า ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วยว่า สาขาที่เรียนต้องเป็นสาขาที่ประเทศต้องการจริงๆ เพราะบางสาขาประเทศไทยก็มีความเข้มแข็งไม่แพ้ชาติอื่น
เมื่อทราบจุดบอดจากการ ดำเนินการในรุ่นแรกแล้ว ในส่วนของรุ่นสองนั้น จึงต้องมีการแก้ไข โดยการส่งเด็กเรียนต่อต่างประเทศ ควรยึดความต้องการและ ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ เป็นหลักในการกำหนด สาขาการเรียนของเด็ก ไม่ยึดความต้องการ ของเด็กมากเกินไป ควรเพิ่มทุนระดับอาชีวศึกษาด้วย
ที่สำคัญข้อสอบและระบบการคัดเลือกเด็กต้องมีมาตรฐาน ให้ได้เด็กตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ และต้องป้องกันปัญหา เด็กฝากโดยเฉพาะการตรวจสอบเงินรายได้ของผู้ปกครอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อย่างเคร่งครัด ซึ่งเรื่องนี้มีเสียงห่วงใยจากที่ปรึกษางานวิจัย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า
มีการวางตัวเด็กที่จะรับทุนไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นลูกของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้น
ส่วนเด็กทุนในประเทศ จะต้องให้มหาวิทยาลัยรัฐภายในประเทศ ให้ความสำคัญกับ เด็กกลุ่มดังกล่าว และเปิดช่องทางอีกช่องหรือโควตาให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าเรียน
การให้ทุนต้องมีสัญญาผูกมัดชัดเจน ว่าเด็กจะต้องกลับมาทำงานรับใช้ชาติ มีตำแหน่งงานรองรับ เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจว่า เรียนจบแล้วมีงานทำ จะส่งผลให้เด็กมุ่งมั่นในการเรียนมากขึ้น ในระหว่างนี้ยังมีเวลาอีกหลายปี ที่จะทำการปลูกจิตสำนึก ให้เด็กทุนกลับมาทำงานรับใช้ ประเทศชาติ ผ่านทางพ่อแม่ ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารกับลูก หลานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
และสิ่งสำคัญที่สุด ทีมการศึกษาขอฝากเยาวชนทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้า โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เมื่อได้รับโอกาสแล้ว นอกจากจะต้องกอบโกยความรู้จากนานาอารยประเทศแล้ว ยังต้องมีความสำนึกรักบ้านเกิด และรู้จักที่จะหยิบยื่นโอกาสที่เคย ได้รับนี้ส่งต่อให้กับผู้ด้อยโอกาสคนอื่นในสังคม
รู้จักคืนทุนให้แผ่นดินด้วยการเป็น ผู้ให้”.

เห็นมาอย่างไรเขียนไปอย่างนั้น : เงินจากหวย

รอมานานถึง 10 ปี กว่าที่ การจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวด้วยเครื่องจำหน่ายสลาก หรือที่เราเรียกจนเคยปากว่า “หวยออนไลน์” เป็นจริงขึ้นมาได้ในบ้านเราเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาลได้ลงนามอย่างเป็นทางการในสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากกับผู้แทนของบริษัทล็อกซเล่ย์จีเท็คเทคโนโลยี จำกัด เพื่อดำเนินการจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวด้วยเครื่องจำหน่ายสลากเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วโดยที่บริษัทล็อกซเล่ย์จีเท็คฯ จะต้องดำเนินการติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากเพื่อจำหน่ายสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว จำนวน 3,000 เครื่อง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จภายใน 7 เดือนแรก และติดตั้งเดือนละ 1,000 เครื่อง จนครบ 12,000 เครื่อง ทั่วประเทศแสดงว่า อีกไม่ช้าไม่นาน คนไทยจะมีโอกาสได้ซื้อ “หวยออนไลน์” เหมือนเช่น หลาย ๆ ประเทศในโลกนี้ซึ่งคนของเขาสัมผัส “หวยออนไลน์” มานานแล้วในวันลงนามสัญญา พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ได้กล่าวว่า“ตราบใด ที่ผมยังเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯ อยู่ ผมจะนำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงิน 3 ตัว และ 2 ตัว หลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและจ่ายเงินรางวัลแล้ว คืนสู่สังคมเงินดังกล่าวจะนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน/คนยากจน ซึ่งกิจกรรมที่จะดำเนินการคือการให้ทุนการศึกษากับ นักเรียนนักศึกษาที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งการให้ทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศด้วย”ที่จริงแล้วสลากแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว มีมาตั้งแต่งวด 1 สิงหาคม 2546 แต่เป็น การเขียนธรรมดา ๆ ยังไม่ได้นำ ระบบออนไลน์ มาใช้ และคณะรัฐมนตรีได้ให้มีการจัดตั้ง กองทุนเงิน 3 ตัว และ 2 ตัว ขึ้นมาโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2546 ให้นำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงิน 3 ตัว และ 2 ตัว หลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและจ่ายเงินรางวัลแล้วคืนสู่สังคมโดยใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน/คนยากจน โดยกิจกรรมที่ควรดำเนินการคือการให้ทุนการศึกษากับนักเรียนนักศึกษาที่ยากจนและด้อยโอกาส รวมทั้งการให้ทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศด้วย และแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์สำหรับแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ขึ้นมาเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อโครงการที่หน่วยงานต่าง ๆ ขอมาก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติแล้วส่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อเบิกจ่ายเงินต่อไปตั้งแต่งวด 1 ส.ค. 2546 จนถึงขณะนี้ ปรากฏว่าได้นำรายได้ไปใช้จ่ายในโครงการที่ให้โอกาสด้านการศึกษาแก่เด็กโดยตรงเป็นเงินกว่า 7,800 ล้านบาทเช่น โครงการเขียนเรียงความเพื่อขอรับทุนการศึกษา (ประจำปี 2547) 928.1 ล้านบาท (ประจำปี 2548) 798.5 ล้านบาทเช่น โครงการทุนการศึกษาสำหรับลูกผู้มีรายได้น้อย 2,923.5 ล้านบาทเช่น โครงการทุนการศึกษาสำหรับลูกผู้ทำประโยชน์แก่สังคมและราชการ 843.6 ล้านบาทเช่น โครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน ซึ่งคัดเลือกเด็กนักเรียนอำเภอละ 1 คน ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ ประจำปีการศึกษา 2547 เป็นเงิน 682.9 ล้านบาท ประจำปีการศึกษา 2548 เป็นเงิน 773.9 ล้านบาท และให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนด้อยโอกาส รวมทั้งเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก โรคเอดส์ และ เด็กพิการ กว่าแปดแสนคนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษาอีกมากมาย หลายโครงการเมื่อ “หวยออนไลน์” เริ่มดำเนินการแน่นอนที่สุดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลย่อมมีรายได้เพิ่มขึ้นคำกล่าวของ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ที่ว่า จะนำรายได้ซึ่งได้จากการจำหน่ายสลาก กลับไปสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยผู้คนที่ยากจนและด้อยโอกาสจึง มีความสำคัญเป็นที่สุดทำให้ผู้ที่จะนำเงินไปซื้อสลากกินแบ่งหรือหวยไม่ว่าจะเห็นด้วยวิธีธรรมดาหรือวิธีออน ไลน์ เชื่อมั่นได้ว่า เงินที่นำไปเสี่ยงโชคนั้น มิได้สูญเสียไปไหน เพราะสำนักงานสลากฯ นำไปใช้ประโยชน์เพื่อคืนสู่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้การช่วยเหลือผู้ที่ยากจนและผู้ที่ด้อยโอกาสหลาย ๆ ครั้งเรามักจะมองว่าหวยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ถ้าเรามองให้เป็นกลางและมองอีกด้านหนึ่งของเหรียญหวยมีประโยชน์อยู่ไม่ น้อย นอกจากจะเป็นความหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเหล่าผู้ซื้อแล้ว หวยยังมีส่วนช่วยให้เกิดแสงสว่างแก่ผู้ที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เช่นกันเราได้เห็น สลากขายไม่เกินราคา ในสมัยที่ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเราได้เห็น สลากออนไลน์ เกิดขึ้นในสมัยที่ พล.ต.ต.สุรสิทธิ์เป็นผู้อำนวยการฯและเราได้เห็นรายได้จากหวยถูกนำไปใช้ประโยชน์ อย่างเป็นระบบ ก็สมัยที่ พล.ต.ต. สุรสิทธิ์เป็นผู้อำนวยการฯ อีกเช่นกันจึงกล่าวได้ว่า พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ คือบุคคลที่น่าจับตามองที่สุด ณ เวลานี้ เพราะเป็น คนจริง และ นักพัฒนา ที่หาตัวจับได้ยากมากเชียร์กันตรง ๆ อย่างนี้แหละใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเถอะ.

บ่วงบาป "เด็กไทย"

เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของนโยบายเอื้ออาทรที่รัฐบาลชุดนี้ให้ แก่คนไทย เมื่อนักเรียนทุนหวยบนดินในโครงการ "หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน" ที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่เยอรมันและได้กระโดดตึกจนเสียชีวิต
มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริงๆ
น.ส.ณัฐชนน เมฆี อายุ 17 ปี ได้กระโดดตึกโรงพยาบาลในเยอรมัน ถึงแก่ความตาย หลังจากพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาแก้ปวดถึง 40 เม็ด แต่ไม่ตาย จึงถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุนั้นมาจากมีแรงกดดันรอบด้าน เนื่องจากอายุยังน้อยแต่ต้องจากบ้านไปอยู่เยอรมัน จึงคิดถึงบ้าน และต้องเรียนภาษาเยอรมันซึ่งไม่เคยเรียนมาก่อนและยาก ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง แม้จะเคยเป็นเด็กเรียนดี มาก่อนก็ตาม
เจอปัญหาแบบนี้ ด้วยวัยเพียงแค่ 17 ปี และอยู่ต่างบ้านต่างเมืองใครก็ต้องคิดมาก อีกด้านหนึ่งคงจะคิดมาก หากเรียนไม่ไหวถูกส่งกลับอนาคตที่วาดฝันไว้ก็อาจพังทลาย พ่อแม่ก็คงจะผิดหวัง อายเพื่อน อายใครต่อใคร
เมื่อไม่มีทางเลือก ไม่มีทางออก จึงต้องตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง
นี่คือ 1 ในจำนวน 923 คน ที่ได้รับทุนหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน ที่รัฐบาลชุดนี้มีความปรารถนาดีที่จะทำให้เด็กไทยมีโอกาสได้ศึกษาต่อ ในระดับที่สูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการได้แนะนำรัฐบาลว่าไม่ควรรีบร้อนส่งนักเรียนไปต่างประเทศ แต่ให้มีการเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน เพราะเกรงว่าเด็กจะมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติ
แต่ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครให้ความสนใจในประเด็นนี้
แน่นอนว่าโครงการนี้เป็นเรื่องที่ดี เท่ากับเป็นการ "ต่อยอด" ให้กับเด็กไทยที่ด้อยโอกาสได้มีวาสนาเรียนต่อในระดับที่สูงกว่า และจะกลับมาช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลคิดแต่จะเดินหน้าลูกเดียว โดยไม่ได้พิจารณาในรายละเอียด
พูดง่ายๆ เรื่องนี้ "หาเสียง" ได้ และข้าราชการก็รีบสนองนโยบายทันอกทันใจ เพื่อให้นายกฯชื่นชอบ รัฐมนตรีชื่นชม
ว่าที่จริงแล้ว หากรัฐบาลไม่เร่งรีบจนเกินไป มีการเตรียมความพร้อม มีการเช็กความพร้อมในตัวเด็กอย่างละเอียด โดยเฉพาะหากได้เรียนภาษาต่างประเทศก่อนที่จะเดินทางไป ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นมาได้
ขณะเดียวกันก็ต้องมีทีมงานที่คอยติดตามดูแลสภาพความเป็นอยู่ ของเด็กที่ได้รับทุน ว่าอยู่กันอย่างไร มีปัญหาหรือแรงกดดันมากน้อยแค่ไหน
อยู่ๆก็ส่งไปเรียนแล้วปล่อย "ลอยแพ" ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ไม่มีใครดูแลให้คำปรึกษาหรือหาทางออกให้ กรณีนี้หากทราบเรื่องกันมาก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น ก็คงจะหาทางแก้ไขด้วยการปลอบโยน ให้กำลังใจ หรือเห็นท่าไม่ไหวจริงๆจะได้ส่งกลับ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีนักเรียนทุนอีกจำนวนมากที่ยังถูกปล่อยเกาะมีทางเดียวกระทรวงศึกษาฯ ต้องเร่งตรวจสอบและดูแลให้ใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าในจำนวนนี้ คงมีนักเรียนที่เจอสภาพกดดันไม่ต่างกัน แต่ยังมีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน แต่ไม่รู้ว่าจะทนกันไปได้สักแค่ไหน
ยิ่งฟังเสียงผู้รับผิดชอบของกระทรวงศึกษาฯยิ่งเศร้าใจเข้าไปอีกที่บอกว่า นักเรียนคนนี้มีปัญหาเรื่องการปรับตัว เพราะออกจากพื้นที่เป็นครั้งแรก แล้วทำไมถึงไม่เตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะส่งไป
คิดไว ทำไว จ่ายไว ว่ากันเฉพาะหน้า ซึ่งมันก็สะท้อนการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ออกนโยบายต่างๆเป็นรายวัน โดยเฉพาะโครงการเอื้ออาทรทั้งหลาย แต่ไม่ได้มีการติดตามและประเมินผลที่ออกมา เอาแต่ "เงิน" เป็นหลักเท่านั้น
อย่างกองทุนหมู่บ้านที่ให้กู้ยืมกันนั้นกำลังจะทำให้รัฐเสียเงินฟรี ประชาชีมีหนี้เพิ่ม
เป็นความปรารถนาดีที่อยู่ใน "บ่วงบาป".

กรณีศึกษาเงินกำไรจากหวย

กรณีศึกษาเงินกำไรจากหวย
คืนสู่สังคมหรือเอื้อประโยชน์การเมืองแน่ ?
สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช)
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สสส.)
วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2548 เวลา 13.00 น.
ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ตรงข้าม รพ. วชิระ
วิทยากร
รศ. ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษา ฯ ผู้ทำวิจัยเรื่องเงินนอกระบบและธุรกิจการพนัน
ผู้แทนกระทรวงการคลัง
ผศ. ดร. ศิรินันท์ กิติสุขสถิตสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณวราฤทธิ์ พาณิชกิจโกศลกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คุณธีรชาติ ปางวิรุฬรักษ์ส.ส. จังหวัดชุมพร เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์
สังศิต"จี้ปฏิรูป"กม." เปิดข้อมูลใช้เงินหวย
"สังศิต"ชี้กองสลากฯมีปัญหาธรรมาภิบาล ผอ.ใกล้ชิดการเมือง มีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ จี้ปฏิรูป กม.ให้เปิดเผยข้อมูลการใช้เงินที่ได้จากการขายหวย
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดให้มีการเสวนาเรื่อง "กรณีศึกษาเงินกำไรจากหวย คืนสู่สังคมหรือเอื้อประโยชน์การเมืองแน่?" ขึ้นที่สมาคม ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯได้เชิญตัวแทนจากกระทรวงการคลังเข้าร่วมเสวนาครั้งนี้ด้วย แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมแต่อย่างใด
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ อดีตรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ส่วนของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล(กองสลากฯ) ขณะนี้มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เนื่องจากผู้อำนวยการกองสลากมีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง และส่วนของพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ซึ่งใช้บังคับมานาน ก็เอื้อประโยชน์ให้กองสลากฯไม่ต้องนำส่งเงินกำไรให้รัฐ ทั้งนี้ รายได้ของกองสลากฯปัจจุบัน คาดว่ามีประมาณ 33,624-38,324 ล้านบาทต่อปี โดยมาจากสลากบำรุงการกุศลที่คาดว่าจะมีกำไรประมาณ 4,224 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินกำไรจากหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัว ที่เริ่มตั้งแต่งวดวันที่ 16 สิงหาคม 2546 เป็นต้นมา เฉลี่ยแล้วมีกำไรงวดละ 700-800 ล้านบาท จนถึงขณะนี้มีกำไรรวมประมาณ 29,400-33,600 ล้านบาท ซึ่งเงินที่นำมาไว้ที่กองสลากฯจะมีประมาณ 384 ล้านบาทต่อปี โดยผู้อำนวยการกองสลากฯสามารถเซ็นเช็คเบิกจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 3 แสนบาท และปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการหรือประธานบอร์ดกองสลากฯ มีอำนาจในการเซ็นครั้งละไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งอาจจะมีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้
"การแต่งตั้งผู้อำนวยการกองสลากฯ มีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เพราะเป็นเพื่อนตำรวจรุ่นเดียวกับผู้มีอำนาจ ซึ่งช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการใช้ทรัพยากรของกองสลากฯให้กับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองพรรคเดียวหรือไม่ การเปิดเผยข้อมูลตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ" นายสังศิตกล่าว
นายสังศิตกล่าวว่า นอกจากนี้นโยบายของกองสลากฯเน้นด้านการเมืองและธุรกิจมากขึ้น โดยขณะนี้จะมีการนำเครื่องออกสลากออนไลน์มาใช้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้าสลากเดิม ซึ่งเป็นคนพิการและคนยากจน การที่กองสลากฯมาแทรกแซงจะส่งผลกระทบต่อผู้ค้าสลากจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อสังคมได้ จึงอยากให้มีการพิจารณาปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองสลากฯให้มีการเปิดเผยข้อมูลในการใช้เงินที่ได้จากการขายหวยให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
ขณะที่นายธีรชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า จากการเข้าไปตรวจสอบการนำเงินจากกองสลากฯไปบริจาคให้กับวัดจังหวัดต่างๆ พบว่า มีการรั่วไหลมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการฉ้อโกง เข้าข่ายกฎหมายมาตรา 123 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคอีสาน ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จึงอยากให้สื่อมวลชนและประชาชนแสดงความจำนงเป็นผู้เสียหายร้องเรียนให้มีการดำเนินการกับนักการเมืองที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้เงินของกองสลากฯมิฉะนั้นอาจเกิดเหตุการณ์วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
นายธีรชาติกล่าวว่า ทางกองสลากฯควรแก้ระเบียบในการให้ ส.ส.เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขอเงินของวัด ซึ่งในส่วนของการจ่ายเช็คให้วัดหรือสถานศึกษาควรให้หน่วยงานที่ดูแล เช่น กรมการศาสนา หรือกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามารับทราบด้วยว่าจำนวนเงินบริจาคเป็นเท่าใด เพื่อสะดวกในการตรวจสอบ รวมทั้งอยากให้ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน สื่อมวลชนและภาคประชาชนเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ได้รับการร้องเรียนว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวในอดีตหลายจังหวัด เช่น ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ซึ่งที่จ.สุรินทร์ มีโรงเรียนบางแห่งโดนหักค่าหัวคิวในการนำเงินกองสลากฯมาบริจาคถึง 35%
นายวราฤทธิ์ พานิชกิจโกศลกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการคำนวณทางสถิติพบว่า ผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว จะประสบกับการขาดทุน หากซื้อสลาก 1 บาท จะขาดทุนในส่วนของสลากกินแบ่งประมาณ 40 สตางค์ เลขท้าย 2 ตัว ขาดทุน 35 สตางค์ เลขท้าย 3 ตัว ขาดทุนประมาณ 50 สตางค์ ซึ่งผู้ได้ผลประโยชน์ก็คือกองสลากฯ
นางศิรินันท์ กิตติสุขสถิต นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งวิจัยโครงการติดตามประเมินผลโครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน จากรายได้ส่วนเกินของการออกสลากเลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ให้สัมภาษณ์ระบุไปในแนวทางเดียวกันว่านโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ดี เป็นการนำเงินของคนจนไปให้คนจน สร้างชีวิตใหม่ และขณะนี้ยังไม่พบว่ามีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องของการคัดเลือก แต่ในอนาคตต้องดูว่าการกระจายเงินไปสู่เด็กในแต่ละอำเภอจะมีความทั่วถึงมากน้อยเพียงใด และจะมีการใช้ประโยชน์จากเด็กนักเรียนที่ได้รับทุนจากโครงการมากน้อยเพียงใด
หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 พฤษภาคม 2548