ศธ.เตรียมหางานให้เด็กทุนหวยหลังเรียนจบจากต่างประเทศ

ปลัด ศธ.ประสานภาครัฐและเอกชนหาตำแหน่งให้เด็กทุนหวย เผยเด็กทุนรุ่น 3 คาดจะเลือกเด็กอาชีวะ เน้นติวเข้มภาษาอังกฤษ วิชาพื้นฐาน ก่อนส่งเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในเมืองไทยหรือเมืองนอก ระบุพบเด็กทุน 2 รุ่นขอกลับบ้าน 20 คน นางจรวยพร ธรนินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ สำนักงาน ก.พ. กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 รวมถึงการทบทวนการดำเนินงานต่อในรุ่นที่ 3 ซึ่งโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 1 (พ.ศ.2547-2553) รุ่นที่ 2 พ.ศ.2549-2555 โดยมีนักเรียนรับทุนจำนวนทั้งสิ้น 1,836 คน ต้องใช้งบประมาณตลอดหลักสูตร ประมาณ 9,1790.71 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 830,000 บาทต่อคนต่อปี ขณะนี้ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 2,087.26 ล้านบาท คงเหลือกเบิกจ่ายอีก 7,092.45 ล้านบาท ได้รับอนุมัติให้เบิกจ่ายงบกลางเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 596,698,600 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2549 ส่วนใช้ปี 2550 จะต้องเบิกจ่ายอีกโดยเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงาน ก.พ. จำนวน 1,120 ล้านบาท สกอ. 40.7 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศ 13.92 ล้านบาท รวม 1,174.62 ล้านบาท ซึ่งจะต้องขอแปรญัตติเพื่อของบประมาณเพิ่มเติมจากงบปกติ “นักเรียนทุน 2 รุ่น เราพบว่ามีนักเรียนประมาณ 20 คนขอกลับมาเรียนต่อกับมหาวิทยาลัยในเมืองไทย เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ มีโรคประจำตัว และมีปัญหาการปรับตัว แต่ยังเคยพบว่าเด็กมีปัญหาด้านการเรียน” นางจรวยพร กล่าวต่อว่า เพื่อให้นักเรียนทุนเหล่านี้เรียนจบแล้วนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ จึงมีโครงการจัดหางานเพื่อรองรับผู้ที่สำเร็จการศึกษา โดยจะประสานไปยังหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยให้เด็กได้ทำงานตรงกับสาขาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากนี้ ยังมีแผนนำข้อมูลความต้องการตลาดแรงงานของประเทศและจังหวัดมากำหนดสาขาวิชาชีพที่จะให้ศึกษาต่อ โดยเฉพาะสาขาขาดแคลน สาขาที่มีลักษณะจำเพาะที่ทำได้ยากในประเทศไทย และการเลือกประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ ส่วนนักเรียนทุน รุ่นที่ 3 จะนำข้อมูลให้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศธ. ดูรายละเอียด ซึ่งแนวโน้มเด็กทุนรุ่นที่ 3 น่าจะเป็นเด็กอาชีวศึกษา โดยจะให้เด็กทุนเรียนในไทยเพื่อปูพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษ และวิชาหลักๆ ก่อนที่จะเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศหรือเรียนกับมหาวิทยาลัยในประเทศ

ผู้จัดการออนไลน์ 4 ธันวาคม 2549

ครม.ไฟเขียวทุ่มงบฯกลางต่อท่อเด็กทุนหวย

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้ ครม.วินิจฉัยกรณีปัญหาค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งผู้บริหารและครูระดับชำนาญการพิเศษ และเชี่ยวชาญ หรือ ระดับ 8-9 เดิมได้รับค่าตอบแทนตามที่ได้รับอยู่เดิม จึงขอให้ ครม.วินิจฉัยว่า วิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นตำแหน่งที่ควรได้รับเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนเป็น 2 เท่าเหมือนกับข้าราชการอื่น ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยใช้งบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาทต่อปี
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ครม.ยังได้อนุมัติให้จัดสรรเงินงบกลาง จำนวน 9,000 กว่าล้านบาท สนับสนุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ให้กับนักเรียนทุนในรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 จำนวนกว่า 1,800 คน ที่เรียนต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศจนจบการศึกษา ซึ่งหลังมีการวินิจฉัยว่าการออกสลากบนดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานสลากฯจึงไม่จัดเงินให้ ส่วนจะมีการจัดทุนให้กับนักเรียนในรุ่นที่ 3 หรือไม่นั้น ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพไปหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยให้พิจารณาข้อสังเกตต่างๆ อาทิ ทุนระดับปริญญาตรีควรจะเป็นทุนภายในประเทศ หากจะไปศึกษาต่อต่างประเทศควรมีการเตรียมความพร้อมเด็กให้ดี มีการกำหนดสาขา ที่จะเรียน มีข้อผูกพันว่ากลับมาแล้วควรจะไปทำงานในถิ่นกำเนิด และเสนอกลับเข้า ครม.ต่อไป.

“วิจิตร” ล้มกระดานโครงการประชานิยม ศธ. ส่วน 1 อ.1 ทุนยังอยู่

“วิจิตร” ล้มกระดานโครงการประชาชนนิยมยุคทักษิณเพียบ “คอมพ์ 2.5 แสนเครื่อง-แล็ปท็อป-ทุนเรียงความ-ทุนวิกฤตเศรษฐกิจ” จวกแนวคิดใช้คอมพ์แทนครูเป็นพวกไม่รู้จริง เผยเหลือเฉพาะ 1 อ.1 ทุน ส่วนโรงเรียนในฝันอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้คงไม่สานต่อนโยบายประชาสังคมของรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น ทุนวิกฤตเศรษฐกิจ ทุนเรียงความ โครงการคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (คอมพิวเตอร์ 2.5 แสนเครื่อง) แล็ปท็อป ฯลฯ โครงการเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสายตา เราไม่ได้ยกเลิก เพียงแต่เราไม่ทำ “โครงการนกขมิ้นเหล่านี้คงไม่ใช่นโยบายรัฐบาล เราจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาในเชิงรูปธรรม เช่น เงินอุดหนุนรายหัว แก้ปัญหาหนี้สินครู ตอนนี้ ครม.อนุมัติเพิ่มทุนอุดหนุนรายหัวนักเรียน ผมคิดว่าหากเราให้เงินอุดหนุนเด็กเรียนฟรี 12 ปีแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องมีทุนอื่นๆ สำหรับแก้ปัญหาหนี้ครู กระทรวงการคลังเสนอระดมเงินจากสถาบันการเงินมากกว่าธนาคารออมสิน แต่ก่อนอื่นต้องมาปรับโครงสร้างหนี้ครูใหม่ เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยอยู่ในลักษณะที่ครูรับได้” ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า รัฐบาลมีเวลาบริหารแค่ปีเดียว ขอแก้ปัญหาการศึกษาที่สั่งสมมานาน คงไม่โลดโผนไปหาเทคโนโลยีแพงๆ มาใช้ แล้วในที่สุดแก้ปัญหาพื้นฐานการศึกษาไม่ได้ “มีคนบอกว่าคอมพ์แก้ปัญหาขาดแคลนครู มันใช่ที่ไหน และใครที่คิดเอาเทคโนโลยีมากดปุ่มแทนครู คนนั้นคิดผิด ผมคิดว่าคนคนนั้นไม่รู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง คอมพ์ช่วยเสริมได้แต่ไม่ใช่แทนครู ผมเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อย่างนั้นที่นั่นก็ไม่ต้องมีครูมาคอยสั่งสอนลูกศิษย์ บทบาทของครูต้องมีอยู่ จะต้องเป็นคนผลิตสื่อ ออกรายการทีวี มาบรรยายทางวิทยุ ทีวี เทคโนโลยีแพงๆ ทำได้แค่สอนเสริมเท่านั้น” ส่วนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รัฐบาลเห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักเรียน จึงสานต่อรุ่นที่ 3 เพียงแต่มาทบทวนพิจารณาหลักเกณฑ์การให้ทุนว่าจะให้ทุนตามหลักเกณฑ์เดิมหรือมีการปรับเพิ่มเพื่อความเหมาะสม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อนักเรียน เป็นการให้โอกาสเด็กยากจนได้เรียนต่อในระดับสูงขึ้น สำหรับโรงเรียนในฝันอยู่ระหว่างการศึกษาว่าควรมีอยู่รึไม่ เนื่องจากโรงเรียนในฝันวัดกันที่วัตถุ กำหนดจำนวนเทคโนโลยีเชื่อมอินเทอร์เน็ต แต่โรงเรียนในฝันของตนคือ ทำอย่างไรถึงจะมีครูเก่ง ดี เด็กได้รับการศึกษาที่ดี เด็กเก่ง มีคุณภาพ มีคุณธรรมนำความรู้ “โรงเรียนในฝันของผมกับของรัฐบาลชุดก่อน มองกันคนละอย่าง การที่มีคอมพ์จำนวนมากแต่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องวิ่งหาเงินเพื่อมาจ่ายค่าไฟ คงไม่ใช่โรงเรียนในฝัน และคอมพ์มีอายุการใช้งาน ไม่กี่ปีก็ล้าสมัย ตกรุ่น เสื่อมคุณภาพและเสียในที่สุด ผู้บริหารก็ต้องไปหาระดมเงินเพื่อมาซื้อคอมพ์รุ่นใหม่ ไม่รู้จักจบจักสิ้น อย่างนี้เรียกว่าโรงเรียนในฝันหรือ”