ครม. พิจารณา ควรจะดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ ๓ หรือไม่

นายวิจิตร ศรีสอ้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ครั้งที่ ๖/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่ห้องประชุมอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ


รมว.ศธ.เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ เป็นการเตรียมข้อมูลสำหรับเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่า ควรจะดำเนินการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ ๓ หรือไม่ โดยที่ประชุมได้เสนอหลักการในประเด็นต่างๆ ดังนี้
>จะให้ทุนแก่นักเรียนเรียนดี แต่ยากจน ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยยึดเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๘ เขตๆ ละ ๒ คน รวม ๓๕๖ คน และทุนสายอาชีวศึกษาจังหวัดละ ๑ คน รวม ๗๖ คน รวมทั้งสิ้น ๔๓๒ คน
>ต้องไปเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของท้องถิ่น และไปเรียนในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กเก่งไปเรียนในประเทศที่เก่ง และได้วิชาการ รวมทั้งภาษามาด้วย
>เป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัด แต่มีเงื่อนไขว่าจบแล้ว จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย
>จะไม่มีทุนเพื่อให้ศึกษาในประเทศเหมือน ๒ รุ่นที่ผ่านมา เนื่องจากประเมินผลแล้วพบว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทุนในลักษณะนี้ให้เรียนในประเทศ เพราะมีทุนอื่น รวมทั้งมีเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นการประกันโอกาสบุคคลเหล่านี้อยู่แล้ว

รมว.ศธ. ได้กล่าวถึงกรณีรับทุนไปศึกษาแล้ว หากมีเหตุให้เรียนไม่ได้ ก็จะยุติการให้ทุน เพราะถือว่าเมื่อได้รับทุน ก็มีสิทธิ์เลือกประเทศและสาขาที่ต้องการจะศึกษาด้วยตนเอง หากเรียนไม่จบหรือขอยุติการศึกษา ก็ถือว่าเป็นการยุติทุน ส่วนการเลือกมหาวิทยาลัยนั้น ก็จะอนุญาตให้ไปเรียนในสถาบันที่เป็นที่รับรอง และมีชื่อเสียงในสาขานั้นๆ โดยจะเขียนเงื่อนไขไว้ รวมทั้งใช้กระบวนการแนะนำเมื่อสมัคร

ศธ.จะนำเสนอต่อ ครม.ว่า หากจะมีทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ ๓ ก็ให้เริ่มในปีงบประมาณ ๒๕๕๑ เพื่อให้มีการเตรียมการไปศึกษาได้ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๑ โดยจะมีค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนการเดินทางไปต่างประเทศ จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอุดหนุน ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนเงิน แต่จะไม่มากเท่าเดิมเพราะจำนวนทุนลดลง

รมว.ศธ.กล่าวสรุปว่า ได้มีการประเมินผลการศึกษาของนักเรียนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ ๑ จำนวน ๖๒๘ คน ที่ไปเรียนใน ๑๕ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ออสเตรีย สเปน เดนมาร์ก อินเดีย สวีเดน มาเลเซีย อียิปต์ และอิตาลี ผลปรากฏว่า เรียนได้ดีเด่น ๒๐% ของจำนวนเด็ก ปานกลาง ๕๐% ซึ่งเป็นที่น่าพอใจสำหรับการส่งนักเรียนไปเรียนในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนอีก ๓๐% อาจเรียนไม่จบ หรือมีปัญหา และต้องกลับมาเรียนในประเทศ เพราะทุนรุ่นนี้ยังกลับมาเรียนในประเทศได้ ดังนั้น หากมีการเตรียมตัวด้านภาษาให้มากพอก่อนการเดินทาง ก็อาจจะทำให้จำนวนผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงกว่านี้ และคุ้มค่าที่จะลงทุน

สำหรับนักเรียนทุนในรุ่นที่ ๒ จำนวน ๗๗๓ คน ใน ๑๖ ประเทศ (รวมแคนาดา) ขณะนี้กำลังเรียนภาษาเป็นส่วนใหญ่ และมหาวิทยาลัยได้ตอบรับให้เข้าศึกษาแล้วจำนวน ๑๘๗ คน.


ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี - 17 ต.ค.2550
http://www.moe.go.th

ศธ.เดินหน้า 1 อ.1 ทุน ขีดวงให้เฉพาะต่อ ตปท.ลั่นเรียนห่วยยุติ

“วิจิตร” ชงเรื่อง ครม.ขอทุนพัฒนาท้องถิ่น รุ่น 3 ตั้งเงื่อนไขให้ทุนไปเรียนประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ และสาขาขาดแคลน ย้ำเด็กเรียนไม่ไหวขอกลับมาเรียนในประเทศ “ยุติการให้ทุน” เพราะผิดวัตถุประสงค์สร้างเด็กเด็กมาพัฒนาท้องถิ่น

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน นั้น ในที่ประชุมได้เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า โดยที่ประชุมเห็นว่า ควรมีต่อในรุ่นที่ 3 ทั้งนี้ ยังคงยึดหลักการเดิมที่เคยเสนอไปคือ ให้ทุนแก่นักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เรียนดีแต่ยากจน โดยจะให้โควตาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 178 เขตทั่วประเทศ เขตละ 2 คน และนักศึกษาอาชีวศึกษา ทั้ง 75 จังหวัดๆ ละ 1 คน รวมทุนทั้งสิ้น 432 ทุน โดยกำหนดเงื่อนไขนักเรียนทุน ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทเอกชนก็ได้ เพราะไม่ได้กำหนดว่าจะต้องทำงานใช้ทุนรัฐบาล

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ผลการประเมินผลโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนเลือกเรียน 16 ประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สวิส จีน เนเธอร์แลนด์ แคนาดา รัสเซีย ออสเตรีย สเปน เดนมาร์ก อินเดีย สวีเดน มาเลเซีย อียิปต์ และอิตาลี โดยนักเรียนรุ่นที่ 1 มีผู้เข้าเรียนจำนวน 628 คน พบว่า นักเรียนมีผลการเรียนดีเด่น 20% เรียนปานกลาง 50% เท่ากับว่าที่ส่งไปมีถึง 70% ส่วนที่เหลือ 30% อาจจะไม่จบหรือมีปัญหาต้องกลับมาเรียนในประเทศได้

อย่างไรก็ตาม นักเรียนทุน 2 รุ่นแรก ยังเปิดโอกาสให้กลับมาเรียนในประเทศได้ สำหรับรุ่นที่ 2 เพิ่งเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ไม่กี่คน ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเตรียมภาษา ดังนั้น จึงยังประเมินไม่ได้ หากดูผลจากรุ่น 1 ซึ่งผลการเรียนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า เมื่อประเมินผลคร่าวจากนักเรียนทุน 2 รุ่น นั้น ผลอยู่ในขั้นพอใจ จึงจะเสนอรัฐบาลให้จัดทุนรุ่นที่ 3 แต่จะไม่มีทุนในประเทศเหมือน 2 รุ่นที่ผ่านมา และจะไม่ให้ทุนไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ ดูจากข้อมูลพบว่าคนไทยที่จบระดับ ม.ปลาย หรือระดับปริญญาตรี ที่ได้รับทุนรัฐบาล หรือใช้ทุนตัวเองไปเรียนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีคนไทยไปเรียนถึง 10,000 คน อังกฤษ 50,000 คน จึงสมควรแล้วที่จะสนับสนุนให้คนไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากคนไทยมีโอกาสไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมากพออยู่แล้ว

ทั้งนี้ เด็กทุนรุ่น 3 ศธ.จะให้สิทธิเด็กเลือกสาขาและประเทศที่จะไปศึกษาต่อ แต่ต้องเป็นสาขา และสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ถ้าหากนักเรียนไปศึกษาต่อแล้วและรู้ตัวเองว่าเรียนไม่ไหว หรือไม่สามารถเรียนต่อจนจบหลักสูตรได้ ทางคณะกรรมการเสนอว่าให้มีการยุติการให้ทุนทันทีแม้จะกลับมาเรียนในประเทศไทย

“เหตุผลที่คณะกรรมการยุติการให้ทุนในประเทศ เพราะหากลงทุนควรคุ้มค่า เพราะนี่ไม่ใช่ทุนสวัสดิการเป็นทุนจัดสร้างผู้นำทางวิชา และเน้นสะท้อนความต้องการท้องถิ่น อีกอย่างปัจจุบันเรามีทุนอื่นๆ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมทางการศึกษา ที่ช่วยประกันโอกาสทางการศึกษาได้อยู่แล้ว จึงกำหนดเงื่อนไขให้เรียนเฉพาะต่างประเทศ และประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ถ้าเรายังยืดหยุ่นให้เลือกเรียนต่างประเทศแล้วเรียนไม่ไหว แล้วขอกลับมาเรียนในไทย ก็ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ที่ต้องการให้เด็กเรียนในประเทศที่เก่ง เรียนสาขาเฉพาะทาง เพื่อนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่น”

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวด้วยว่า ตนจะเสนอ ครม.ว่า รุ่นที่ 3 ขอเริ่มตั้งแต่ปี 2551 เพื่อให้เด็กได้เตรียมตัวไปศึกษาต่อในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งระหว่างนั้นจะมีค่าใช้จ่ายแต่ยังไม่ทราบว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เชื่อว่าเป็นเงินไม่มากเพราะทุนรุ่น 3 กว่า 2 รุ่นที่ผ่านมา จึงขอให้รัฐบาลหางบมาช่วยด้วย


ผู้จัดการออนไลน์ 17 ตุลาคม 2550
http://manager.co.th

นร.ทุนแค่คนเรียนม.ดัง ที่เหลือกว่าเรียนม.ปานกลาง

เว็บไซต์คมชัดลึก - ก.พ.สำรวจพบนักเรียนทุน1 อำเภอ 1 ทุน หรือ เด็กโอดอสรุ่นแรก ส่วนใหญ่เข้าเรียนได้ในมหาวิทยาลัยระดับปานกลาง มีเพียงแค่ 100 กว่าคนจาก 628 คนที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ เตรียมชงข้อมูลเข้าที่ประชุมบอร์ดโครงการ 1 ทุน1 อำเภอ12 ต.ค. ศกนี้เพื่อผ่าตัดโครงการ 1 ทุน1 อำเภอรุ่น 3 ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ตุลาคม2550 นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่เปลี่ยนชื่อมาจากโครงการ 1 อำเภอ1 ทุนเพื่อนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ ศ.ดร.วิจิตรศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบให้หน่วยงานไปสำรวจมาเพื่อนำมาปรับปรุงเงื่อนไขการให้ทุน 1 อำเภอ1 ทุนรุ่นที่ 3 ให้มีความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นและตอบคำถามของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้ให้ข้อสังเกตไว้ในเมื่อครั้งที่ศธ.เสนอโครงการนี้ขอความเห็นชอบจากครม.

ปลัดศธ. กล่าวต่อว่าข้อมูลหลักที่ รมว.ศธ.ต้องการนั้นได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปสำรวจว่านักเรียนโครงการ 1 อำเภอ1 ทุนรุ่นที่ 1 ซึ่งเลือกเรียนต่อต่างประเทศรวม628 รายนั้นสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอันดับใดของแต่ละประเทศ เพราะ รมว.ศธ. ต้องการให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เก่งในแต่ละสาขาได้จริงๆเพื่อคุ้มกับทุนนี้ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ทาง ก.พ.ได้ไปสำรวจและส่งข้อมูลดังกล่าวมาให้ศธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า นักเรียน 1 อำเภอ1 ทุนรุ่นแรก ที่ไปเรียนต่อใน 18 ประเทศส่วนใหญ่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับกลาง มีประมาณ 100 กว่ารายที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับดีซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับต้นๆของประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศมีสัดส่วนนักเรียนทุน 1 อำเภอ ที่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่อันดับดีแตกต่างกัน อย่างนักเรียน 1 อำเภอ1 ทุนของประเทศญี่ปุ่นจำนวนทั้งหมด 119 คนสามารถเข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ได้ถึง 112 คน

ทั้งนี้เมื่อแต่ละหน่วยงานนำเสนอข้อมูลที่ รมว.ศธ.มอบหมายให้ไปสำรวจมาแล้วก็จะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงเงื่อนไขและเกณฑ์การรับทุนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ศธ.จะสรุปเรื่องโครงการ1 อำเภอ1 ทนรุ่น 3 ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)

รายงานข่าวแจ้งว่าศ.ดร.วิจิตร มีนโยบายให้นักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ในรุ่นต่อไป เน้นเรียนสาขาที่ประเทศชาติต้องการนำมาใช้พัฒนาประเทศ ไม่ใช้เงินทุนสูญเปล่า หรือเรียนในสาขาที่ประเทศชาติไม่ต้องการหรือมีคนล้นงานอยู่แล้ว คาดว่าในการประชุมวันที่ 12 ตุลาคมนี้ จะมีความชัดเจนมากขึ้น


http://www.komchadluek.net

เผยเด็ก 1 อำเภอ 1 ทุนรุ่น 1 ไม่เจ๋งจริง

ผู้จัดการรายวัน - สำรวจพบเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอรุ่น 1 ไม่เจ๋งจริง เข้าเรียนได้แค่มหาวิทยาลัยระดับกลางมีเพียง 100 กว่าคนจาก 628 คนที่เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ เตรียมชงข้อมูลนี้ในที่ประชุมบอร์ด 12 ต.ค.นี้ เพื่อปรับเงื่อนไขรุ่น 3
นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันที่ 12 ต.ค. นี้จะประชุมคณะกรรมการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เดิมชื่อโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาเสนอศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนำมาปรับปรุงเงื่อนไขเด็กรุ่นที่ 3 ให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น
ทั้งนี้ จากการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปสำรวจนักเรียนต่อต่างประเทศรวม 628 รายนั้นพบว่า นักเรียน 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นแรกที่ไปเรียนต่อใน 18 ประเทศ ส่วนใหญ่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับกลาง มีเพียง 100 คนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในระดับต้นๆของประเทศนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีสัดส่วนนักเรียนทุนเข้ามหาวิทยาลัยที่อันดับดีแตกต่างกัน อย่างนักเรียนทุนที่ไปเรียนประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 119 คน เข้ามหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ได้ถึง 112 คน

http://manager.co.th