“วิจิตร” เผยเด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน ถอดใจกลับไทยเกือบ 100 ไม่ใช่ความล้มเหลว

“วิจิตร” ยันเด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน เฉียด 100 คน ถอดใจกลับมาเรียนเมืองไทย “ไม่ใช่ความล้มเหลว” ชี้รุ่นแรกเด็กมีเวลาเตรียมตัวน้อย เผย 10 สิงหานี้จะสร้างเงื่อนไขเด็กทุนรุ่น 3 ที่ ครม.ให้โจทย์ เด็กทุนต้องกลับพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่ทุนให้เปล่า

สืบมาจากนักเรียนทุน โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทั้ง 2 รุ่น ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (รุ่นที่ 3 ) ปรากฏว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไปเรียนต่างประเทศได้ขอย้ายกลับมาเรียนในประเทศไทยประมาณ 100 คน

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รุ่นที่ 1 นั้นมีผู้รับทุนจำนวน 921 คน แบ่งเป็นศึกษาต่อในประเทศ 181 คน ต่างประเทศ 740 คน รุ่นแรกมีเวลาเตรียมการน้อย จึงค่อนข้างมีปัญหาค่อนข้างมากในภายหลัง เช่น มีนักเรียน 93 คน หรือร้อยละ 10 ขอกลับมาเรียนต่อในประเทศ เพราะไปเรียนภาษาแล้วแต่ไม่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของประเทศนั้นๆ ได้ และบางคนเปลี่ยนใจอยากกลับมาศึกษาต่อในประเทศเพราะคิดถึงบ้าน

ส่วนรุ่น 2 มีผู้รับทุน 915 คน แบ่งเป็นศึกษาต่อในประเทศ 176 คน และต่างประเทศ 719 คน ซึ่งรุ่นนี้มีนักเรียนขอย้ายกลับมาเรียนในประเทศเพียง 6 คนเท่านั้น เนื่องจากเรามีประสบการณ์จากรุ่นแรก เราก็พยายามแก้ไขให้ดีขึ้น โดยการเตรียมความพร้อมนักเรียนก่อนให้เด็กเดินทางไปเรียนต่างประเทศ

“นักเรียนที่เลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศเปลี่ยนใจกลับมาเรียนไทยเป็นสิทธิ์ของเขา เด็กส่วนใหญ่จะเลือกมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะหากเลือกเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐเด็กจะต้องสอบตรงกับมหาวิทยาลัยแห่งนั้น อย่างไรก็ดี การที่เด็กไปเรียนต่างประเทศแล้วขอกลับมาเรียนเมืองไทยนั้น ไม่ใช่ความล้มเหลว”

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า 10 ส.ค.นี้ ตนจะหารือร่วมกับคณะทำงานโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 3 เพื่อนำข้อเสนอจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่น ทุนนี้ควรมีการผูกพันให้เด็กเรียนจบแล้วกลับมาพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่ทุนให้เปล่า เป็นต้น เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ต่อไป

http://manager.co.th/

“วิจิตร” ระบุเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอไม่ผูกพันใช้ทุนเพราะรัฐไม่มีงานรองรับ

“วิจิตร” เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 3 ยันการส่งเด็กไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องจำเป็น เพราะวิทยาการสมัยใหม่ไม่ได้อยู่เฉพาะในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ระบุรัฐไม่สามารถผูกพันนักเรียน 1 ทุน 1 อำเภอ ให้กลับมาใช้ทุนทำงานในท้องถิ่นได้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีงานรองรับ และเด็กทุนฯ เป็นเด็กเก่งไม่หยุดแค่ ป.ตรี ส่วนใหญ่ได้ทุนต่อ ป.โท-เอก จึงต้องรักษาหลักการเดิมให้ทุนไม่ผูกพัน หรือหากอยากให้กลับมาใช้ทุน รัฐควรสรรทุนให้ ป.โท-เอกด้วย

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าแนวทางการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้นำแนวทางในการจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม. ซึ่งได้มีการตั้งข้อสังเกต อาทิ เมื่อนักเรียนกลับมาแล้วจะต้องมาทำงานใช้ทุนหรือไม่ การจัดส่งนักเรียนไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก เป็นต้น ซึ่ง ครม.ได้มอบให้ ศธ. กลับไปพิจารณา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพิ่มเติม คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ เนื่องจากมีประเด็นที่จะต้องหารือไม่มาก เพื่อจะได้นำเสนอต่อ ครม. และประกาศจัดสรรทุนรุ่นที่ 3 ต่อจากเดิมโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอที่ส่งนักศึกษาไปเรียนในรุ่นที่ 1-2 ได้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักการที่ให้ส่งเด็กไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษคงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากไทยต้องมีมิตรทั่วโลก และเวลานี้ทั้งวิทยาการและภาษา ก็ไม่ได้อยู่กับประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น เช่น ระบบเศรษฐกิจโลกที่ใหญ่โตที่สุดในขณะนี้ก็คือประเทศจีน เมื่อเราส่งเด็กไปเรียนวิทยาการที่หาที่อื่นไม่ได้ เช่น แพทย์แผนโบราณ ยาสมุนไพร ถ้าไม่รู้ภาษาจีนก็จะเข้าไม่ถึง และในการจะติดต่อคบหากับคนจีนก็ต้องพูดจีนได้ด้วย เพราะฉะนั้นการให้ไปเรียนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษก็เป็นเหตุผลทางวิชาการด้วยเช่นกัน อีกทั้งในการทำมาค้าขายกับประเทศใดก็ตามเราต้องรู้เขารู้เราแล้วด้วย ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำได้คือ ต้องรู้ภาษาของเขา

“ที่ผ่านมาเราส่งคนไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษมามากแล้ว แต่เราก็ถดถอยมากในการส่งคนไปประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้น การให้คนไทยไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอื่นจึงเป็นหลักการสำคัญของการให้ทุนนี้”

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ว่าควรเปิดให้เด้กเลือกไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษด้วยก็สามารถทำได้ เพราะยังถือว่าเป็นการดำรงวัตถุประสงค์ของการไปเรียนวิทยาการในประเทศที่เราต้องคบหาอยู่ นอกจากนี้ในประเด็นที่มีผู้เสนอว่าควรมีข้อผูกพันว่าจะต้องใช้ทุนคืนหากเด็กไปเรียนแล้วไม่กลับมาทำงานในท้องถิ่นของตนเอง เรื่องนี้มีประเด็นว่าหากเราจะผูกพันเด็กแล้วเรามีงานรองรับเขาหรือไม่ หากต้องประกันงานให้ด้วย เมื่อเด็กกลับมา 1 ปีหากไม่มีงานรองรับก็ต้องปล่อยเขาไป

“ผมมีความรู้สึกว่าเราให้ทุนเด็กไปเรียนแค่ปริญญาตรี และต้องการให้กลับมาทำงานในท้องถิ่น แต่ในทางปฏิบัติเด็กเหล่านี้เป็นเด็กเก่งก็จะไม่หยุดแค่ปริญญาตรี ซึ่งกว่าครึ่งก็ได้ทุนเรียนต่อปริญญาโท-เอก โดยขณะนี้มีการแจ้งมาแล้วว่าได้ทุนเรียนต่อในประเทศนั้นๆ ซึ่งเราก็อนุญาตทุกราย ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าจะผูกพันเด็กต้องให้ทุนถึงปริญญาโท-เอก แต่วันนี้เราให้เพียงปริญญาตรี ดังนั้นผมเห็นว่าควรรักษาหลักการเดิมไว้”

http://manager.co.th/

นักเรียน 1 อำเภอ 1 ทุน อ้อนเรียนไม่ไหวขอกลับไทยกว่าร้อย

ศธ.เผยนักเรียน "1 อำเภอ 1 ทุน" กว่า 100 คน ทยอยกลับไทย เผยเรียนไม่ไหวส่วนใหญ่เป็นญาตินักการเมือง "วิจิตร" เรียกถกรายงานข่าวจากสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า ขณะนี้มีนักเรียนในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน หรือโอดอส รุ่นแรกที่เลือกเรียนในต่างประเทศ 739 คน จากนักเรียนทั้งหมด 921 คน เดินทางกลับประเทศไทยกว่า 100 คน เพราะเรียนไม่ไหว เนื่องจากผู้ที่ผ่านการคัดเลือกบางส่วนเป็นลูกหลานของนักการเมืองและหัวคะแนน ระยะการคัดเลือกกระชั้นชิด เตรียมความพร้อมด้านภาษาน้อยก่อนเดินทางไปศึกษาต่อ ทำให้คุณภาพผู้ที่ผ่านการคัดเลือกไม่ได้มาตรฐาน เป็นอุปสรรคต่อการเรียนต่อ โดยได้รายงานปัญหาดังกล่าวให้ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียบร้อย ซึ่งจะมีการเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในวันที่ 9 สิงหาคมนี้

ส่วนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มี 2 รุ่น รุ่นแรกเลือกเรียนในต่างประเทศ 739 คน และรุ่น 2 จำนวน 728 คน เรียนในต่างประเทศ เพิ่งเดินทางไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่เหลือเรียนต่อในประเทศไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางปี 2550 จำนวน 1,108 ล้านบาท ให้ใช้สำหรับเดือนมกราคม-กันยายน 2550 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว และอนุมัติให้ผูกพันงบประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อดูแลให้นักเรียนทุนทั้ง 2 รุ่นเรียนต่อจนจบ ซึ่งปีงบประมาณ 2551 สำนักงบประมาณได้อนุมัติวงเงินให้แล้ว 1,200 ล้านบาท

ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกรทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า มีนักเรียนทุนรุ่น 1 ที่ส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่ปี 2546 สำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับ ประเทศแล้วประมาณ 5 คน โดยสำเร็จการศึกษาจากประเทศอินเดีย และมีนักเรียนทุนบางส่วนขอเปลี่ยนมาเรียนต่อในประเทศไทย เพราะรู้ตัวเองว่าศักยภาพไม่เหมาะสมสำหรับการเรียนต่อในต่างประเทศ แต่ยืนยันว่าไม่มีการส่งตัวกลับไปเรียนต่อในประเทศเพราะไม่มีงบประมาณอย่างแน่นอน

ส่วนนักเรียนรุ่น 3 จะลดจำนวนทุนเหลือประมาณ 400 กว่าทุน แยกเป็นทุนเรียนต่อต่างประเทศจัดสรรให้เขตพื้นที่การศึกษาละ 2 คน รวมเป็น 356 ทุน (178 เขตพื้นที่การศึกษา) ทุนเรียนต่อทางด้านอาชีวศึกษาและทุนเรียนต่อในประเทศ ซึ่งสาเหตุที่ลดจำนวนทุนและจำกัดจำนวนทุนเรียนต่อต่างประเทศ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่รัฐบาลต้องการการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในชนบทที่เรียนดีแต่ฐานะยากจนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ซึ่งจะปรับให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกข้อสอบคัดเลือกแทน เพื่อคัดเลือกให้ได้นักเรียนที่เรียนเก่งอย่างแท้จริง

ผู้รับทุนจะต้องเลือกเรียนในสาขาที่ประเทศ หรือท้องถิ่นขาดแคลน เรียนต่อในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ จะได้ประโยชน์ทั้งวิชาการและส่งเสริมบทบาทไทยในประชาคมโลกด้วย และเตรียมความพร้อมด้านภาษาของเด็กตั้งแต่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 3-6 เดือน และทดสอบหลังเตรียมตัวด้วยว่าเด็กสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีไปแล้วเรียนต่อไม่ไหวเหมือนกับนักเรียนทุนใน 2 รุ่นที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างที่เตรียมความพร้อมอยู่ในประเทศไทยให้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยไปในเวลาเดียวกัน เมื่อเดินทางไปถึงสามารถเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนภาษาอีกเป็นปี หากใครไม่ผ่านการเตรียมตัวทางด้านภาษาจะไม่ให้เดินทางไป

ทั้งนี้นักเรียนทุน 1 อำเภอ 1 ทุน ทั้ง 2 ทุน รวมทั้งหมด 1,836 คน เป็นนักเรียนที่เลือกเรียนต่างประเทศประมาณ 1,400 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องสำรวจด้วยว่านักเรียนทุน 2 รุ่น มีโอกาสที่จะมีงานทำในท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดสาขาเรียนต่อของผู้รับทุน โดยจะมีการหารือสรุปแนวทางการดำเนินการในวันที่ 9 สิงหาคมด้วย

น.ส.การ์ตินี มะเหาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาตะวันออกกลาง American University (AUC) นักศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นแรก ซึ่งไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ประเทศอียิปต์ กล่าวว่า นักเรียนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศในเบื้องต้นจะต้องไปเรียนภาษาเสียก่อนประมาณ 2 ปี จากนั้นถึงจะไปเรียนต่อด้านสาขาที่เลือกอีก 4 ปี และต้องเรียนให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับทุนการศึกษาก็ต้องเดินทางกลับ หากเรียนไม่จบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็ต้องใช้ทุนของตัวเองเรียนต่อ

ส่วนการเตรียมความพร้อมที่จะเรียนสาขาตะวันออกกลาง American University ของ น.ส.การ์ตินี บอกว่า ต้องเรียนภาษาอังกฤษ 3 ปี เรียนวันละ 2 ชั่วโมง 30 นาที ประมาณ 2-3 วันต่อสัปดาห์ พร้อมทั้งเรียนภาษาอาหรับใน 2 เดือนแรก เพราะต้องใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน ขณะนี้สอบภาษาอังกฤษผ่านแล้ว โดยจะเริ่มเรียนวิชาปี 1 ในวันที่ 5 กันยายนที่จะถึงนี้ และจากนี้ไปอีก 4 ปี จะต้องเก็บหน่วยกิตให้ครบทั้งหมด 120 หน่วยกิต คาดว่าจะเรียนภาคฤดูร้อนเสริมด้วย

น.ส.การ์ตินี กล่าวว่า ได้รับทุนค่าครองชีพเดือนละ 900 ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งออกเป็นค่าหอพักประมาณเดือนละ 363 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าอาหารประมาณเดือนละ 150 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายเวลาที่จำเป็น และเก็บไว้เป็นทุนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งนักเรียนไทยที่เรียนในไคโรได้รับการดูแลจากสถานทูตไทยประจำกรุงไคโรเป็นอย่างดี


http://www.moe.go.th/
http://www.komchadluek.net/

เปิดม่าน (บทความใน)

00 นักเรียนทุน 1 อำเภอรุ่นแรก แห่กลับไทย เกือบ คน ตามที่ "คมชัดลึก" ได้นำเสนอ นั่นเป็นความจริง งานนี้"ปู่วิจิตร ศรีสอ้าน เจ้ากระทรวงศึกษาธิการแอ่นอกรับแบบชายชาตรี พร้อมเตรียมล้อมคอกนักเรียนทุนรุ่นที่ 3 ในวันนี้(10ส.ค.) รู้มาบอกต่อ ๆ

00นัยว่า หลักสูตร "แพทย์แผนจีน"วิทยาลัยการแพทย์ทางเลือกของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม(มจษ.)กำลังกลายเป็นที่สนใจชองชาวอุดมศึกษามากๆ เพราะนอกจากจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่เปิดสอนแล้ว ยังมีนักษาศึกษาจาก "แดนมังกร"มาเรียนที่มจษ.ถึง 70 ชีวิต

0 งานนี้ทั้ง "รศ.มานพพราหมณโชติ "อธิการบดีมจษ.รศ.พรผจงเลาหวิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการแพทย์ทางเลือกมจษ.และผศ.นุชรินทร์ศศิพิบูลย์ ต่างยิ้มแก้มปริไปตามๆ เพื่อคอยให้การต้อนแขกที่มาเยี่ยมชม เพราะต่างก็ "ทึ่ง" แพทย์จีนจันทรเกษมทำได้ไงเนีย! โดยเฉพาะผศ.พิทักษ์อาจคุ้มวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงถึงกับออกปากชม เลยนะขอบอก!

00มรภ.ธนบุรี จัดโครงการสืบสานภูมิปัญญาไทยครั้งที่ 1 อบรมเชิงปฏิบัติการสาธิตและการสอน ประดิษฐ์หัวโขน ให้กับอาจารย์ เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผู้สนใจติดต่อสอบถาม โทร.02-890-1801 ต่อ 2141ในวันที่ 9-10 ,16-17 ส.ค.50 นี้

http://www.komchadluek.net