เสนอทำประชาพิจารณ์"ทุน1อำเภอ" แนะเพิ่มกติกาคัดเด็ก"เข้ม!!"

"วิจิตร" เตือนเขยแม้ว ก่อนฟื้นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ควรแก้ปัญหาเดิมให้ได้ก่อน เผยแค่ 2 รุ่นยังใช้เงินมากถึง 6 พันล้าน รุ่นใหม่ยังไม่รู้จะเอาเงินจากไหน "นักวิชาการ" แนะทำประชาพิจารณ์ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ และปรับปรุงกติกาคัดเด็กให้เข้มข้นกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสยุติธรรม เผย 2 รุ่นแรกพบลูกนักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนนบางพรรคการเมืองได้ทุนจำนวนมาก

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (อดีต รมว.ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เตรียมจะฟื้นโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนเดิม) รุ่นที่ 3 ว่าโครงการนี้ในรัฐบาลที่แล้วได้ให้ยุติชั่วคราวเนื่องจากติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมาใช้งบประมาณไป 6 พันล้าน แต่ก็ได้มีการนำกลับมาพิจารณากันอีกครั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์การให้ทุนรุ่น 3 เช่นจาก 1 อำเภอ 1 ทุน มาเป็นให้ตามเขตพื้นที่การศึกษาและนักศึกษาอาชีวะ

"หากรัฐบาลฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง มองว่าการให้โอกาสคนเป็นเรื่องดีแต่อยากให้แก้ปัญหาเดิมก่อน ตอนนี้ยังไม่กล้าวิจารณ์อะไรมากเพราะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ต้องรอดูผลงานก่อนถึงจะพูดได้และการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา เขาก็บอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ด้มีหน้าที่ใช้เงินอย่างเดียว แต่มีหน้าที่หาเงินเข้าประเทศด้วย" อดีต รมว.ศธ.กล่าวและปฏิเสธที่จะวิจารณ์ถึงหน้าตาของที่ปรึกษาและเลขานุการของ รมว.ศธ.ตอบเพียงว่าหล่อดี สวยดี

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ให้โอกาสคน แต่หากจะฟื้นกลับมาอีกครั้งอยากให้มีความโปร่งใสยุติธรรมและเกิดความเท่าเทียมในทางปฏิบัติด้วยเพราะรุ่นที่ผ่านมาพบว่ามีลูกนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นได้ทุนนี้จำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กที่น่าจะยาวกว่านี้รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ต้องเข้มข้นขึ้น เช่น ระบบการคัดเลือก ข้อสอบ ระบบการช่วยเหลือติดตามผล ที่สำคัญเมื่อจบและกลับมาแล้วมีงานรองรับไว้สำหรับเด็กกลุ่มนี้หรือไม่

"มีเด็กประมาณ 10-15% ของทุนนี้ที่เกิดปัญหา บางคนมองว่าทุนนี้มาจากเงินหวยและเป็นภาษีบาป ทำให้ผู้ได้ทุนขาดความเข้าใจและไม่ระมัดระวังเรื่องการใช้เงินแต่แท้จริงแล้วมันเป็นเงินจากภาษีของคนไทยทุกคน อยากให้มีการทบทวนถึงจุดอ่อนจุดแข็งเพราะหากจะว่ากันตามจริง ข้อดี-เสียของโครงการนี้ยังถือว่า 50-50" รศ.ดร.สมพงษ์กล่าว และว่า ก่อนดำเนินการต่อในรุ่นที่ 3 อยากให้เปิดประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อน โดยให้เด็กที่จบจากโครงการนี้ในรุ่นที่ 1 มาบอกถึงอุปสรรคและข้อดี-เสีย นอกจากนั้นควรสอบถามไปยังสถานทูตในประเทศที่ส่งเด็กไป ว่าโครงการนี้มีปัญหาในเรื่องใดบ้าง คนกลุ่มนี้จะสามารถตอบคำถามได้มากที่สุดเพื่อจะได้เตรียมความพร้อมให้กับรุ่น 3 ได้อย่างเต็มที่ เพราะระยะหลังมองว่ากระบวนการดำเนินงานสานต่อโครงการในรุ่น 2 ยังหลวมๆ และไม่ค่อยมีการติดตามผล

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่พรรคพลังประชาชนใช้ในการหาเสียงไว้อย่างไรก็ตามคงต้องมีการสานต่ออย่างแน่นอน แต่ถ้าหากนำเงินไปใช้กับเด็ก 432 คนตามโครงการนี้ ไปให้กับเด็กที่ไม่มีโอกาสเรียนน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า

แหล่งข่าวจากสำนักงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า เบื้องต้นการคัดเลือกเด็กยังคงยืนยันตามหลักการเดิม คือคัดเลือกเด็กที่มีความประพฤติดีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 รายได้ครอบครัวไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี และต้องไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ส่วนโรงเรียนก็ต้องตรวจสอบเด็กว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดจริง

โดยในรุ่นที่ 3 คาดว่าจะมีระยะเวลาในการเตรียมตัวเด็กประมาณ 1 ปี อบรมทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย ทักษะด้านภาษา ความคิด รวมถึงการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างเพื่อเด็กไปแล้วจะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ส่วนการสอบจะมีทั้งสอบสัมภาษณ์และสอบข้อเขียน โดยใช้ข้อสอบกลางจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้เด็กจากรุ่นที่ 1 กำลังจะกลับประเทศไทยแต่ยังไม่มีงานรองรับเด็กกลุ่มนี้ สำหรับงบประมาณนั้นขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนต้องรอให้นายสมชายพิจารณาก่อน คาดว่าจะมีการพูดคุยเรื่องโครงการนี้อีกครั้งในการประชุมผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของ ศธ.ในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายของเด็กที่ได้รับทุนนี้จะไม่เท่ากัน โดยคิดตามค่าครองชีพแต่ละประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศสค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่ประมาณ 8 แสนบาทต่อปี

ที่มา : http://www.moe.go.th , หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ - 22 กุมภาพันธ์ 2551

0 ความคิดเห็น: