ถ้าหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนกลับมา รัฐบาลควรปรับปรุงอย่างไร?

โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่จัดสรรทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีทั้งในประเทศและต่างประเทศแก่เด็กนักเรียนยากจนทั่วประเทศ

โดยมีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศตลอดจนการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของคนในสังคมทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เด็กยากจนในสังคมโดยเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง ชุมชน และท้องถิ่น (ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต และคณะ, 2549)

แนวคิดดังกล่าวเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะให้ผลระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงานโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนที่ผ่านมายังมีปัญหาในทางปฏิบัติหลายประการด้วยกัน

หากรัฐบาลชุดปัจจุบัน (นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี) จะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ควรมีคณะทำงานศึกษาข้อมูลที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยใช้ผลการศึกษาในเชิงประเมินจากหน่วยงานและนักวิชาการเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นจุดอ่อน/จุดแข็ง รวมทั้งข้อเสนอแนะแล้วสร้างรูปแบบ (model) ของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเสียใหม่

กรณีศึกษารายงานโครงการติดตามประเมินผลโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนรุ่น 1 โดยคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประกอบด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ซึ่งได้ตีพิมพ์รายงานโครงการดังกล่าวในปี พ.ศ.2549 โดยนำเสนอข้อเสนอแนะต่อโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนที่ได้จากการวิจัยด้านกระบวนการคัดเลือก กระบวนการเตรียมความพร้อม กระบวนการดูแลนักเรียนและประเทศที่จะไปศึกษา รวมทั้งข้อเสนอแนะทางด้านยุทธศาสตร์ในระยะยาว

เป็นข้อเสนอแนะที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนโดยมีสาระโดยย่อดังนี้

1. ข้อเสนอแนะในกระบวนการคัดเลือกนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

ข้อเสนอแนะ ในการคัดเลือกนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนนำไปปฏิบัติ รวมทั้งข้อคิดเห็นและประเด็นต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการกำหนดเกณฑ์รายได้ กรรมการผู้คัดเลือก การตรวจสอบคุณสมบัติ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อได้นักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนที่ผ่านตามเกณฑ์แล้ว การปฏิบัติการในกระบวนการคัดเลือกนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ให้เปิดเผยและมีความโปร่งใสโดยควรมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับทุนโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนอำเภอละ 1 คน ตามสื่อต่างๆ

โดยใช้เกณฑ์การได้คะแนนจากการสอบข้อเขียนร้อยละ 75 และการได้คะแนนจากการสอบสัมภาษณ์ร้อยละ 25

2.ข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

ข้อเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต้องการตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง ว่าสอดคล้องตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีกระบวนการการตรวจสอบคุณสมบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

และนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ทุกคนควรผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนการเข้าสู่กระบวนการปฐมนิเทศ หลังจากนั้น ให้มีการจัดการปฐมนิเทศ โดยสำนักงาน ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันดำเนินการใช้ระยะเวลาทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนแยกย้ายกันไปศึกษาต่อยังสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ

การจัดปฐมนิเทศ ควรจัดรูปแบบกิจกรรมที่ให้สมาชิกในครอบครัวเน้นพ่อแม่หรือผู้ปกครองของนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยอย่างน้อย 1 วัน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวรับรู้รายละเอียดและกิจกรรมต่างๆ ที่บุตรหลานของตนต้องไปประสบ ในการศึกษาข้างหน้า เพื่อลดความห่วงใย

นอกเหนือจากนี้รูปแบบการจัดปฐมนิเทศ อาจจัดให้นักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนไปทัศนศึกษาในหลายพื้นที่ เพื่อให้สามารถนำวัฒนธรรมไทย และข้อมูลต่างๆ ไปใช้ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในต่างประเทศได้

3.ข้อเสนอแนะในกระบวนการดูแลนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

ข้อเสนอแนวทางจัดระบบดูแลนักเรียนผู้ได้รับทุนในระหว่างการศึกษาและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดย สกอ. ควรทำหน้าที่ในการประสานงานและจัดตั้งคณะกรรมการดูแลนักเรียนในประเทศ รวมทั้งมีระบบการเบิกจ่ายเงิน และระบบให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ มีการติดตาม และเยี่ยมเยียนนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่นักเรียนทุนในต่างประเทศสามารถมีระบบการดูแลที่แตกต่างกันดังนี้

3.1 ในประเทศที่มีสำนักงานดูแลนักเรียนของ ก.พ.ตั้งอยู่ ก.พ.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนระหว่างการศึกษา เช่น ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส

3.2 ในบางประเทศสำนักงานผู้ดูแล ก.พ. สามารถแจ้งภาคเอกชนมาดูแลนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน โดยอยู่ในความควบคุมของสำนักงาน ก.พ. ดังเช่น กรณีของประเทศเยอรมนี

3.3 ในประเทศที่ไม่มีสำนักงาน ก.พ.ตั้งอยู่ ก.พ.ควรมีการประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้สถานทูตเป็นผู้ดูแลนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ดังเช่น ในกรณีของประเทศรัสเซีย อินเดีย และอิตาลี เป็นต้น

3.4 มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาสามารถเป็นผู้ดูแลนักเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนได้โดยอาจจะมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน อย่างกรณีของประเทศจีน

ทั้งนี้ ควรมีการประเมินข้อดีและข้อเสียในแต่ละระบบการดูแล และตัดสินใจเลือกระบบที่จะมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยอาจแยกกรณีเฉพาะในแต่ละประเทศ

4.ข้อเสนอแนะในการเลือกประเทศที่จะส่งเด็กเพื่อไปศึกษา

จากการวิเคราะห์ถึงผลได้-ผลเสีย (Cost-Benefit Analysis) คณะวิจัยได้จัดกลุ่มประเทศโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

กลุ่ม 1 : ประเทศที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ จีน เยอรมนี อินเดีย อิตาลี มาเลเซีย สเปน

กลุ่ม 2 : ประเทศที่มีศักยภาพปานกลาง ได้แก่ รัสเซีย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อียิปต์ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก สวีเดน

กลุ่ม 3 : ประเทศที่มีศักยภาพต่ำ ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ การเลือกประเทศที่เหมาะสมจะช่วยให้โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนสัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น ประเทศชาติจะได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการเพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

5.ข้อเสนอแนะเพื่อการวางนโยบาย และยุทธศาสตร์ในระยะยาว

การบริหารโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนควรคำนึงถึงผลสำเร็จในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลต้องคำนึงถึงกลไกการบริหารโครงการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในการที่ภาครัฐจะได้ประโยชน์จากโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศเป็นสำคัญ

จากการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ พบว่าความหลากหลายในสาขาวิชา รวมไปถึงความสามารถทางภาษาของนักเรียนในโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ

เนื่องจากนักเรียนทุนในโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะและเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา

ทั้งนี้ ระบบฐานข้อมูลหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOS Database) จะช่วยในการที่หน่วยงานวางแผนจะสามารถได้รับข้อมูลข่าวสารได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะที่ได้จากข้อค้นพบในการวิจัยเชิงประเมินผลของกลุ่มนักวิชาการดังที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนไปสู่การปฏิบัติที่มุ่งผล

ดังนั้น คณะกรรมการดำเนินงานโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงาน ก.พ. (หน่วยงานเดิมที่เป็นผู้ดำเนินการในอดีต) ควรมีการศึกษาผลการประเมินโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนที่ได้มีการศึกษาทั้งโดยหน่วยงานต่างๆ และมหาวิทยาลัย

เพื่อสังเคราะห์ให้ได้ข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้สามารถสนองตอบต่อหลักการ และเหตุผลในการให้ทุนของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน

ที่มา : http://www.matichon.co.th , เขียนโดย สุรชัย เทียนขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี

0 ความคิดเห็น: