“จุรินทร์” จวกเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอซิกแซก ลาออกกลางคัน ชิ่งไม่กลับไทย หวังขุดทองต่างประเทศ

จุรินทร์” จวกเด็ก 1 ทุน 1 อำเภอ ซิกแซก เรียนจบไม่กลับบ้านเกิดหวังขุดทองต่างประเทศ งัดกลยุทธ์ลาออกกลางคันเพื่อไม่ต้องกลับไทย ขอเรียนต่อโท-เอก ด้วยทุนตัวเอง ย้ำรัฐทุ่มงบสร้างคนพัฒนาประเทศ สั่งปลัด ศธ.หาช่องดัดหลังเด็กทุน เตรียมเสนอ ครม.แก้เงื่อนไข ดึงเด็กทดแทนคุณชาติ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ครั้งที่ 4 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ โดยมีผู้ที่เข้ารับทุนจำนวนหนึ่ง เมื่อได้ทุนแล้วไม่กลับประเทศไทย ลาออกกลางคัน และมีการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม เช่น เงื่อนไขที่กำหนดไว้ต้องเรียนจบภายใน 7 ปี เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในประเด็นที่จะนำไปสู่การแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ข้อสรุปบ้างส่วน ประเด็นที่ 1 เดิมกำหนดไว้ในเรื่องของการใช้เงินก็คือ นักเรียนทุนรุ่นที่ 1 เรียนจากทุนหวย 2 ตัว หวย 3 ตัว ต่อมามีปัญหาการใช้เงินจากทุนหวย จึงให้ใช้เงินจากงบประมาณปกติแทน โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีการกำหนดที่ชัดเจนว่าจะใช้งบประมาณสนับสนุน ไม่เกินปี 2556 เพื่อให้เด็กรุ่น 1 และรุ่น 2 เรียนจบ หากใช้งบประมาณปกติตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2556 จะใช้เงินประมาณ 7,552 ล้านบาท

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ยังมีประเด็นหรือปัญหาที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ตนได้มอบการบ้านให้คณะทำงาน โดยมี นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลับไปเอาคำตอบกลับมา

สำหรับโจทย์ที่ได้มอบไปมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

กลุ่ม ที่ 1 กลุ่มที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขเดิม อย่างเรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย ก็ให้คณะทำงานไปดูว่า จะสามารถบังคับ แก้กฎระเบียบ กฎหมาย อะไรได้บ้าง เพื่อมาเทียบเคียงให้นักเรียนทุนปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่าสามารถใช้มาตรการเรื่องของการออกพาสปอร์ต โดยไม่ออกพาสปอร์ตให้เมื่อเล่มเก่าหมดอายุ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

กลุ่ม ที่ 2 กลุ่มที่ลาออกกลางคัน ให้คณะทำงานไปดูว่า จะมีกฎหมาย หรือระเบียบใด ที่ใกล้เคียงที่จะมาดำเนินการได้กลับกลุ่มคนที่ออกกลางคัน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการบังคับให้กลับมาประเทศไทย เช่น เขาเรียน 4 ปี พอเรียนไป 3 ปีครึ่ง ก็ขอลาออกกลางคัน ถือว่าพ้นสภาพ ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกลับประเทศไทย การหลีกเลี่ยงลักษณะนี้เราจะทำอย่างไรให้เขากลับมาประเทศไทยตามวัตถุประสงค์ เดิม

กลุ่ม ที่ 3 คือ กลุ่มที่ ก.พ.ระงับการให้ทุน เรียนต่อในต่างประเทศ แล้วให้กลับมาเรียนต่อในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มนี้จะเรียนไม่จบตามปริมาณหน่วยกิตที่ ก.พ.กำหนด เช่น ปี 1 จะต้องเรียนผ่านไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ปี 2 ร้อยละ 70 ตามที่กำหนด ซึ่ง ก.พ.ให้กลับมาเรียนต่อประเทศไทยแทนแต่ไม่ได้ระงับการให้ทุน อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้จะต้องมีคำตอบกลับมาว่าจะดำเนินการในลักษณะไหนอย่างไร

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 จะเป็นไปตามเงื่อนไขใหม่ ที่จะขอแก้ไข มติ ครม. และจะมาเข้าเงื่อนไขเมื่อเขาผิดสัญญา เช่น เรียนไม่จบภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำผิดเงื่อนไขอื่นๆ ต่อไปนี้จะให้เขามาทำสัญญาใหม่ ส่วนเงื่อนไขใหม่ที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อีกประเด็นเช่น 1.ถ้าเรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย จะทำอย่างไร 2.ลาออกกลางคัน 3.แม้กลับประเทศไทยแล้ว เขาจะต้องรับผิดต่อค่าใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่เพิ่มขึ้นจากการที่เขาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างไร เช่นเรียนใช้เวลานาน เขาต้องมีภาระผูกพัน เมื่อกลับประเทศไทยแล้วทำงานอย่างน้อยกี่ปี เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณแผ่นดินที่สูญเสียไป ฯลฯ หรือบางคนเรียนจบปริญญาตรีตามเงื่อนไข แต่ขอไปเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอกในต่างประเทศ ด้วยทุนตัวเอง จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขอย่างไร สิ่งเหล่านี้คณะทำงานจะต้องไปหาคำตอบกลับมา ซึ่งการประชุมครั้งนี้คงได้มีการพิจารณา แล้วนำไปเสนอ ครม.ต่อไป

ถามว่าโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ มีปัญหาแล้วจะมี รุ่นที่ 3 หรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า ขณะนี้ให้ชะลอไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้ยกเลิกโครงการ 1 ทุน 1อำเภอ เพียงแต่เรามีคำนวณค่าใช้จ่ายพบว่าปี 2551-2556 รัฐต้องแบกภาระ 7,552 ล้านบาท นี่ค่าใช้จ่ายเพียงโครงการเดียว

“มี กลุ่มที่ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไข แต่มีช่องว่างที่ต้องหาคำตอบ เช่น เรียนจบแล้วไม่กลับประเทศไทย ถามว่าจะทำอย่างไร เพราะเสียงบประมาณไปเปล่าๆ และเขาทำผิดเงื่อนไข อีกกลุ่มเขากำลังจะเรียนจบแต่เขาขอลาออกกลางคัน กลายเป็นว่าเขาพ้นภาระรับผิดชอบ ไม่ต้องกลับไทย ตรงนี้เราจะมีมาตรการอะไรมั้ยเพื่อดำเนินการให้คุ้มค่ากลับเงินที่เสียไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ทำผิดเงื่อนไขแล้วขอแก้เขามาเป็นรายคน และที่ประชุมจะต้องนี้ต้องพิจารณาตลอด อาทิ เรื่องการขอขยายเวลาเรียนต่อ ขอเปลี่ยนคณะ เปลี่ยนมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้เขาทำผิดเงื่อนไข ต่อไปเขาจะต้องทำสัญญาใหม่” รมว.ศธ.ตั้งคำถาม

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ต้องมีเงื่อนไขไว้ด้วยว่า หาเรียนจบแล้วเขาไม่กลับเมืองไทย ลาออกกลางคัน จะทำอย่างไรเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากกลับมาแล้วจะต้องทำงานชดใช้ประเทศกี่ปี เพราะเงื่อนไขเดิมไม่กำหนดไว้เลย เพราะมีบางรายกลับเพียงเดือนเดียวก็ถือว่ากลับแล้ว ในที่สุดเขากลับไปทำงานเมืองนอก ในที่สุดไทยก็เสียงบประมาณเปล่าๆ เลย สำหรับสร้างคนไปทำงานเมืองนอกและประเทศก็ไม่ได้อะไรเลย รัฐส่งให้เรียนเพื่อต้องการให้มาพัฒนาประเทศ นอกจากนี้มีกลุ่มที่เรียนจบแล้ว แต่ขอเรียนต่อปริญญาโท และปริญญาเอก จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขผูกพันอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเข้าที่ประชุม ครม.

ที่มา : http://manager.co.th - 2 พฤศจิกายน 2552

0 ความคิดเห็น: