“วิจิตร” สั่ง ก.พ.-สกอ.สังคายนา 1 ทุน 1 อำเภอ ลั่นไม่คุ้มค่ายกเลิกทันที

“วิจิตร” สั่ง ก.พ.-สกอ.รวบรวมข้อมูลเด็กทุนรัฐบาลทั้งหมดว่าศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยใดและสาขาไหนบ้าง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าของการให้ทุนการศึกษา และเสนอต่อ ครม.เพื่อทบทวนโครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ระบุหากผลการศึกษาออกมาไม่คุ้มค่า ก็ต้องปรับเกณฑ์การให้ทุนใหม่ หรืออาจต้องยกเลิกทุนดังกล่าว ระบุไม่เอาภาษีประชาชนมาทำให้สูญเปล่า เพราะตอนนี้เงินให้ทุนมาจากภาษีทุกคน ไม่ใช่จากการขายหวย

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนเรื่องทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือ 1 อำเภอ 1 ทุนเดิม ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กลับมาพิจารณาทบทวน 3 ประเด็น คือ 1.ทุนนี้จำเป็นต้องไปเรียนต่างประเทศหรือไม่ หรือจะให้เรียนในประเทศทั้งหมด 2.ทุนที่เรียนต่างประเทศควรเปิดกว้างให้ไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ หรือจะคงให้ไปเรียนเฉพาะประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น และ 3.ควรจะมีเงื่อนไขผูกผันในการใช้ทุนหรือไม่


สำหรับประเด็นแรกนั้นเห็นว่า ถ้าให้ทุนเพื่อเรียนในประเทศก็ไม่จำเป็นต้องมีทุนนี้ เพราะมีมาตรการที่จะส่งเสริมให้เด็กเรียนดีแต่ยากจนเรียนในประเทศอยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่สองแนวโน้มคงต้องยืนยันกับ ครม.ไปว่าควรจะคงหลักเกณฑ์ให้ไปเรียนประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะเป็นยุคที่เตรียมคนเข้าสู่ประชาคมโลกที่ไร้พรมแดนจึงจำเป็นต้องรู้เขารู้เรา การได้เรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรมของประเทศที่หลากหลายจะทำให้เราเป็นพลโลก ประกอบกับปัจจุบันเด็กที่จบ ม.6 มีโอกาสที่จะไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษทั้งที่เป็นทุนรัฐบาลและทุนส่วนตัวมากมายอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าจะลงทุนให้คุ้มค่าก็ควรจะส่งไปเรียนในประเทศที่คนไทยไม่มีโอกาสได้ไป


ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปประมวลจำนวนนักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และไม่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะที่เป็นทุนรัฐบาลว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อประกอบการชี้แจงต่อ ครม.


รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องข้อผูกพันในการชดใช้ทุนนั้น เห็นว่าทุนนี้สนองความต้องการของท้องถิ่นอยู่แล้ว และมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาพัฒนาท้องถิ่น แต่จะให้ผูกพันถึงขั้นว่าต้องกลับมาชดใช้ทุนนั้น ตนเห็นว่ายังไม่ควรกำหนดถึงขั้นนั้น เพราะเท่ากับเป็นการบังคับรัฐบาลต้องจัดหางานมารองรับ ซึ่งถ้าไม่มีงานให้ก็ต้องอุ้มคนเหล่านี้ ฉะนั้น ทุนนี้น่าจะเป็นทุนเลี้ยงสมองมากกว่าเป็นทุนพัฒนาคนเพื่อมาทำงาน


ส่วนที่ ครม.มอบหมายให้ไปศึกษา และจัดทำรายงานข้อมูลผลการติดตามเด็กทั้ง 2 รุ่น โดยในส่วนของต่างประเทศมอบหมายให้ ก.พ.ดำเนินการ ส่วนในประเทศมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินการนั้นจากรายงานเบื้องต้นพบว่า นักเรียนทุนพัฒนาท้องถิ่นรุ่นแรกไปเรียนต่างประเทศกว่า 700 คน ขอกลับมาเรียนในประเทศ 100 กว่าคน เนื่องจากไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้เพราะมีปัญหาเรื่องภาษา ส่วนที่เหลือร้อยละ 25 มีผลการเรียนที่คาบเส้นว่าจะจบหรือไม่ และที่เหลืออีกร้อยละ 75 อาจจะจบตามกำหนดเพียงร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละ 15 อาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ


“ผมมอบหมายให้ทั้ง ก.พ. และสกอ.ไปศึกษาเพิ่มเติมว่า เด็กเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยอะไร ในสาขาที่มหาวิทยาลัยนั้นเชี่ยวชาญหรือไม่ และตรงกับความต้องการของประเทศหรือไม่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะถ้าเด็กเก่งไม่ได้เรียนในสถาบันที่เก่ง และไม่ได้เรียนในสาขาที่ประเทศชาติต้องการ ก็ถือว่าไม่คุ้มค่า ซึ่งหากผลออกมาเช่นนั้น ก็อาจจะต้องยกเลิกทุนนี้ไป แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์กับเด็กในท้องถิ่น ดังนั้นน่าจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับหลักเกณฑ์ในรุ่นที่ 3 โดยควรจะกำหนดสาขา และมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับเป็นเงื่อนไขในการให้ทุน ซึ่งผมให้เวลา ก.พ.และ สกอ.ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเป็นเวลา 1 เดือน คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ย. น่าจะนำเรื่องนี้เสนอกลับเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้” รมว.ศึกษาธิการกล่าว


ศ.ดร.วิจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากตนไม่เห็นว่าทุนการศึกษานี้สำคัญและมีประโยชน์ก็คงไม่พยายามหาทางแก้ไขปัญหา หรือปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆ ให้ดีขึ้น และคงจะยกเลิกทุนไปเลย แต่การดำเนินการทุนการศึกษาดังกล่าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม ทำแบบลองผิด ลองถูกมาตลอด จึงเกิดการสูญเปล่าขึ้น แต่ทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของเด็ก จึงต้องพิจารณาเกณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากที่สุด ซึ่งหากตนจะทำอะไรคงไม่เอาภาษีของประชาชนมาทำให้สูญเปล่า เพราะตอนนี้ทุนการศึกษาที่ให้เด็กกลุ่มนี้อยู่ เป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชนทุกคน ไม่ใช่ทุนหวยเหมือนที่ผ่านมา และตนก็เสียภาษีนั้นอยู่เช่นกัน



0 ความคิดเห็น: