กรรมการฟันธง นศ.เรียนทุนหวย

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมการโครงการทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือในชื่อเดิมว่า โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 3 ว่า ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เคยนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ ประมาณ 2 เดือนที่แล้ว แต่ ครม.ตั้งข้อสังเกตให้ ศธ.กลับมาพิจารณา 3 ประเด็น คือ 1.ทุนดังกล่าวจะเปลี่ยนมาเป็นทุนเรียนต่อในประเทศแทนได้หรือไม่ 2.ควรขยาย ส่งนักเรียนทุนไปในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษด้วยหรือไม่ และ 3.ควรจะให้มีการผูกพันกลับมาทำงานใช้ทุนหรือไม่ จากเดิมที่กำหนดให้กลับประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่าทุนดังกล่าวควรให้เป็นทุนการศึกษาต่างประเทศต่อ เพราะการศึกษาในประเทศมีมาตรการอื่นๆ ให้โอกาสเด็กยากจนอยู่แล้ว อีกทั้งการส่งคนไปเรียนในหลายๆ ประเทศ จะทำให้รู้สภาพความเป็นอยู่ทำให้ประเทศไทยสามารถคบหาอย่างชาญฉลาดกับนานาประเทศ รวมทั้งเห็นว่าไม่ควรผูกผันให้กลับมาทำงานราชการ เพราะเท่ากับเป็นการบังคับให้รัฐต้องอุ้มนักเรียนทุนเหล่านี้ และต้องหางานรองรับพวกเขา อีกทั้งจุดมุ่งหมายของทุนคือต้องการพัฒนาปัญหาของเยาวชน ไม่ใช่พัฒนาคนกลับมาทำงานให้ราชการ ส่วนประเด็นว่า ควรส่งไปเรียนในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษด้วยหรือไม่นั้น ได้ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไปหาตัวเลขนักเรียนไทยที่ไปเรียนประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ แยกออกมาว่า ในจำนวนนี้เป็น นักเรียนทุนรัฐบาลไทยจำนวนเท่าใด เพื่อนำข้อมูลมาตัดสินใจว่า ควรส่งนักเรียนทุนไปประเทศที่พูดภาษาอังกฤษหรือไม่ แต่แนวโน้มคิดว่าไม่จำเป็นเพราะมีทุนการศึกษาที่ส่งไปเรียนในประเทศที่พูดภาษอังกฤษมากอยู่แล้ว

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ได้มอบให้ทาง ก.พ.ซึ่งรับหน้าที่ดูแลนักเรียนทุนดังกล่าวในต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่รับหน้าที่ดูแลนักเรียนทุนในประเทศ ไปร่วมกันทำรายงานติดตามผลนักเรียนทุนทั้ง 2 รุ่น มา แสดงข้อมูลว่านักเรียนทุนทั้ง 2 รุ่น โดยเฉพาะรุ่นที่ 1 นั้น เข้ามหาวิทยาลัยได้จำนวนเท่าใดแล้ว ผลการเรียนและโอกาสจบการศึกษาเป็นอย่างไร

ที่สำคัญผมต้องการรู้อย่างละเอียดว่า นักเรียนทุนแต่ละรายเข้าเรียนในสถาบันไหน และเรียนสาขาวิชาใด และเป็นสาขาที่ตรงตามความต้องการของประเทศหรือไม่ ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเขาไปเรียนในสถาบันที่ไม่เก่ง หรือไปเรียนในสาขาวิชาที่สถาบันนั้นๆ ไม่เก่ง เป็นสาขาวิชาที่ไม่มีประโยชน์ จะถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะจริงๆ แล้ว โครงการต้องการส่งเด็กเก่งเหล่านี้ไปเรียนในสถานบันที่เก่งๆ เพื่อให้พวกเขาเก่งยิ่งขึ้น แล้วนำความเก่งมาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ศ.ดร.วิจิตร กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า นักเรียนทุนบางรายไม่สามารถเข้าสถาบันเก่งๆ ได้ เนื่องการจากเตรียมตัวที่ไม่พร้อม โดยเฉพาะการเตรียมตัวทางด้านภาษา ทำให้ต้องเลือกสาบันการศึกษาที่รองๆ ลงมา หรือเลือกเรียนในวิทยาลัยอาชีวะแทนแล้วค่อยโอนมาเรียนมหาวิทยาลัย แต่ความตั้งใจของโครงการต้องการให้นักเรียนทุนำเรียนในสถาบันเฉพาะทางระดับปริญญาตรีที่เก่งๆ นอกจากนั้นการเตรียมพร้อมที่ไม่ดีพอทำให้นักเรียนทุนรุ่นแรกเกือบ 100 คน กลับมาเรียนต่อในประเทศ ส่วนใหญ่จะไปเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน และเลือกเรียนทางสังคมศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่สาขาที่ประเทศต้องการ หมดโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยรัฐที่มีความเก่งในหลายสาขาวิชามากกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน

เพราะฉะนั้นเมื่อรายการการติดตามผลออกมา พบว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามาก ในรุ่นที่ 3 อาจจะต้องมีการเพิ่มเกณฑ์ในเรื่องการเลือกมหาวิทยาลัยด้วย เหมือนอย่างทุนการศึกษาของธนาคารนั้นจะกำหนดไว้เลยว่า ต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่อยู่ใน TOP TEN เท่านั้น เพราะฉะนั้นโครงการอาจจำเป็นต้องกำหนดว่ามหาวิทยาลัยที่เด็กจะเรียนนั้นต้องเป็นสถาบันที่เก่ง เป็นสาขาที่ประเทศต้องการและเป็นสาขามีความเชี่ยวชาญของสถาบันนั้นๆ รวมทั้งอาจต้องปรับให้นักเรียนเตรียมความพร้อมทางภาษาให้แน่นตั้งแต่อยู่ในประเทศไทย ระหว่างนั้นให้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยไปด้วย หากสามารถเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อได้ค่อยส่งตัวไปเรียน ทั้งนี้เพื่อให้ทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเบื้องต้นจาก ก.พ.ว่า นักเรียนทุนรุ่น 1 ที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด 640 ราย นั้น 25% คาบลูกคาบดอกว่าจะจบหรือไม่จบ ที่เหลืออีก 75% นั้น มีโอกาสจบสูงแต่ในจำนวนนี้ 60% เท่านั้น ที่จบตามกำหนด อีก 15% ต้องใช้เวลานานกว่าปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้นักเรียนทุนซึ่งเป็นเด็กเก่งของแต่ละอำเภอต้องเปลี่ยนมาเรียนในประเทศเกือบ 100 คน และไม่สามารถเข้ามหาวิทยาลัยเก่งๆ ได้ ขณะที่บางส่วนมีความเสี่ยงจะไม่จบ ศ.ดร.วิจิตร กล่าวต่อว่า เพราะการเตรียมการที่ไม่รัดกุมและเร่งรัดส่งเด็กไปต่างประเทศ รวมทั้งมีลูกหัวคะแนนติดมาด้วย ทั้งนี้คาดว่า รายงานติดตามผล และข้อมูลต่างๆ ที่มอบให้ ก.พ. และ สกอ.ไปจัดทำมาจะเสร็จภายในเดือน หลังจากนั้นจะกลับมาประชุมกันอีกครั้งก่อนจะสรุปเรื่องเสนอ ครม. คาดว่าเสนอ ครม.ได้ในเดือนกันยายนนี้


http://www.moe.go.th/

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลดีๆ