สกัดเหลือบสูบโอกาสคนจน

สกัดเหลือบสูบโอกาสคนจนหวยบนดิน
หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล เลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ที่คนหาเช้ากินค่ำ ยอมเจียดเงิน ในกระเป๋าเพื่อหวัง ต่อทุน หรือบางรายก็ถึงขั้นวาดฝัน ถูกรางวัลแจ็กพอต เป็นเศรษฐีในพริบตา จากการเสี่ยงดวงเดือนละ 2 ครั้ง
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อที่กำไร ที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับในแต่ละงวดจากการออกสลากเลขท้าย เป็นเงินก้อนโต และพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ถึงหลักร้อยล้าน พันล้านบาท
และเงินก้อนนี้เองที่เป็นแหล่งสนับสนุนงบประมาณ สำหรับสารพัดโครงการของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการความคล่องตัวในการบริหารงาน และต้องการคืนกำไรให้กับชาวบ้าน
โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ทุนหวยก็เป็นหนึ่งในโครงการที่นำเงินรายได้ส่วนเกิน ของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวก้อนนี้ ที่แบ่งมาเพื่อให้ทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนยากจนแต่เรียนดี ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
จนถึงวันนี้เรียกได้ว่า นักเรียนทุนหวยรุ่นแรก ได้ผ่านการเรียนในและ ต่างประเทศมาครบ 1 ปีเต็มแล้ว ทั้งขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ก็กำลังเปิดรับสมัครนักเรียนเพื่อรับทุน หวยรุ่นที่สองอยู่ การสำรวจโครงการว่ามีความประสบ ผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด รวมถึงจุดอ่อนเพื่อเร่งแก้ไข และให้การส่งเด็กทุน ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่าที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม
ผศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโครงการติดตามประเมินผล โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนจาก เงินรายได้ส่วนเกินของการออกสลากเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว
ทีมการศึกษาขอย้อนรอยถึงที่มาของทุนหวยก้อนนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้โอกาสกับเด็กยากจนเรียนดี อำเภอละ 1 คน ทั่วประเทศ ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยให้เด็กเป็นผู้เลือกเองว่า จะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 และคัดเลือกนักเรียนทุนรุ่นแรกได้จำนวน 921 คน มีนักเรียนเลือกเรียนต่อต่างประเทศ 739 คน กระจายไปใน 16 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สเปน รัสเซีย อียิปต์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรีย สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สวีเดน อิตาลี เดนมาร์ก จีน มาเลเซีย อินเดีย ส่วนนักเรียนที่เลือกเรียนต่อในประเทศ 182 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐ
จากงานวิจัยระบุว่า นักเรียนโครงการ หนึ่งทุนหนึ่งอำเภอ หรือ One District One Scholarship หรือ ODOS ซึ่งเด็กๆที่ได้รับทุน จะเรียกตัวเองว่า กลุ่มเด็กโอดอสนี้ พบว่า เด็ก 404 คน หรือ ร้อยละ 53 มีพ่อแม่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 21 มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และร้อยละ 13 มีอาชีพค้าขายหรืองานอิสระ มีรายได้ครอบครัวเฉลี่ย 5002,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 90.53 ไม่เคยมีประวัติการรับทุนอื่นๆมาก่อน แสดงให้เห็นว่า ทุนนี้ได้ให้โอกาสกับเด็ก ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
หันมามองเรื่องการปรับตัวของนักเรียนทุนในประเทศ ส่วนใหญ่สามารถปรับตัว ได้ดี ตั้งใจเรียนดี ผลการเรียนในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี
ส่วนการปรับตัวของนักเรียนทุนต่างประเทศ มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย มุ่งมั่นตั้งใจเรียน มีความรักกันในหมู่พวกพ้องมาก มีพัฒนาทางภาษาดีมาก กระตือรือร้นในการเรียน ไม่เคยขาดเรียนโดยไม่จำเป็น นักเรียนที่อยู่ในประเทศที่มีการแข่งขันสูงในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เช่น ญี่ปุ่น จะพบว่า นักเรียนมีความกดดันมากที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
ผลดีที่พบก็คือ เกิดการตื่นตัว ในกลุ่มนักเรียน ม. ปลาย โดยเฉพาะโรงเรียนห่างไกล และผลการเรียนของ เด็กก็ดีขึ้นผิดหูผิดตา เพราะต้องการสอบชิงทุนนี้
แต่จุดอ่อนที่งานวิจัยนี้ค้นพบก็คือ
ข้อสอบที่ให้ในการคัดเลือกไม่ได้ มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ
ไม่มีการประเมินจิตสำนึกต่อ การกลับมาทำงานในประเทศ การเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ต้องใช้เวลาเตรียมตัวให้มากขึ้น
ทุนไม่มีข้อผูกมัดซึ่งน่าเป็นห่วงว่า จะมีเด็กส่วนหนึ่งกลับมาทำงาน ไม่ตรงตามสาขาที่เรียน หรือไม่กลับมา ทำให้เกิดความสูญเปล่า ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วยว่า สาขาที่เรียนต้องเป็นสาขาที่ประเทศต้องการจริงๆ เพราะบางสาขาประเทศไทยก็มีความเข้มแข็งไม่แพ้ชาติอื่น
เมื่อทราบจุดบอดจากการ ดำเนินการในรุ่นแรกแล้ว ในส่วนของรุ่นสองนั้น จึงต้องมีการแก้ไข โดยการส่งเด็กเรียนต่อต่างประเทศ ควรยึดความต้องการและ ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ เป็นหลักในการกำหนด สาขาการเรียนของเด็ก ไม่ยึดความต้องการ ของเด็กมากเกินไป ควรเพิ่มทุนระดับอาชีวศึกษาด้วย
ที่สำคัญข้อสอบและระบบการคัดเลือกเด็กต้องมีมาตรฐาน ให้ได้เด็กตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ และต้องป้องกันปัญหา เด็กฝากโดยเฉพาะการตรวจสอบเงินรายได้ของผู้ปกครอง ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อย่างเคร่งครัด ซึ่งเรื่องนี้มีเสียงห่วงใยจากที่ปรึกษางานวิจัย รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า
มีการวางตัวเด็กที่จะรับทุนไว้ล่วงหน้าแล้ว ซึ่งเป็นลูกของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้น
ส่วนเด็กทุนในประเทศ จะต้องให้มหาวิทยาลัยรัฐภายในประเทศ ให้ความสำคัญกับ เด็กกลุ่มดังกล่าว และเปิดช่องทางอีกช่องหรือโควตาให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าเรียน
การให้ทุนต้องมีสัญญาผูกมัดชัดเจน ว่าเด็กจะต้องกลับมาทำงานรับใช้ชาติ มีตำแหน่งงานรองรับ เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจว่า เรียนจบแล้วมีงานทำ จะส่งผลให้เด็กมุ่งมั่นในการเรียนมากขึ้น ในระหว่างนี้ยังมีเวลาอีกหลายปี ที่จะทำการปลูกจิตสำนึก ให้เด็กทุนกลับมาทำงานรับใช้ ประเทศชาติ ผ่านทางพ่อแม่ ซึ่งมีการติดต่อสื่อสารกับลูก หลานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
และสิ่งสำคัญที่สุด ทีมการศึกษาขอฝากเยาวชนทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้า โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เมื่อได้รับโอกาสแล้ว นอกจากจะต้องกอบโกยความรู้จากนานาอารยประเทศแล้ว ยังต้องมีความสำนึกรักบ้านเกิด และรู้จักที่จะหยิบยื่นโอกาสที่เคย ได้รับนี้ส่งต่อให้กับผู้ด้อยโอกาสคนอื่นในสังคม
รู้จักคืนทุนให้แผ่นดินด้วยการเป็น ผู้ให้”.

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

โครงการเพื่อส้รางฐานเสียง โคงการนี้ของรัฐบาลเดิม พูดได้คำเดียวว่าเป็นโครงการที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริงและความเหมาะสม ไม่ได้เกิดจากการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
เงินหวย ที่ว่านั้น ไม่ควรนำไปช่วยคนที่มีโอกาสได้เรียนอยู่แล้ว ให้กลายเป็นชนชั้นที่ออกห่างจากความเป็นจริงและความต้องการพื้นฐานไปอีก
เงินจำนวนเดียวกันนี้สามารถนำมาช่วย นักเรียนยากจน ขาดแคลนโอกาส แม้กระทั่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ได้เรียนจนจบ ม.6 หรือ ปวช.
ความรู้จากต่างประเทศในขณะนี้ แม้ว่าจำเป็นอยู่มาก แต่ความรู้นั้นก็สามารถหาได้ในประเทศไทย โดยไม่ต้องไปถึงประเทศต้นทาง เนืองจากอาจารย์ที่เรียนอย่างมีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกับอาจารย์ต่างประเทศในเมืองไทยมีอยูมากมาย (โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี) และด้วยความก้าวหน้าด้านโทรคมนาคม ความรู้สามารถแพร่กระจายได้อย่างทันทีทันใด เรียนรู้ได้เท่าเทียมกันทั่วโลก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ