เด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน ขอกลับประเทศแล้ว 5 ราย หลังมีปัญหาอื้อ

เด็ก 1 อำเภอ 1 ทุน เริ่มทยอยขอกลับประเทศแล้ว 5 ราย สกอ.เตรียมมาตรการรองรับคาดอาจจะมีทยอยกลับเพิ่ม พร้อมเตรียมกำหนดระบบดูแลเด็กทุนตามโครงการดังกล่าวให้ชัดเจน ส่วนเด็กทุนที่เรียนในประเทศไทยขอให้มหาวิทยาลัยจัดอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลพิเศษ และให้จ่ายเงินตรงเวลาเพื่อไม่ให้เด็กมีปัญหาค่าใช้จ่ายถกกลางที่ประชุมเป็นโครงการเพื่อการเมืองระบบคัดเลือกไม่โปร่งใสและไม่ตรงเป้าหมาย ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมชี้แจงการดำเนินการการโครงการทุนการศึกษาต่อของนักศึกษาจากทุกอำเภอและกิ่งอำเภอในระดับอุดมศึกษา(ปริญญาตรี) ที่ศึกษาต่อในประเทศ ว่า ได้เชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ดูแลนิสิต นักศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุนอยู่มาชี้แจงทำความเข้าใจและประสานงานในการดูแลนักเรียนกลุ่มดังกล่าว โดยมีนักเรียน 1 อำเภอ 1 ทุน ที่ศึกษาต่อในประเทศไทย จำนวน 183 คน กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากทุนดังกล่าวเป็นลักษณะพิเศษโดยมีสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นแหล่งทุนซึ่งไม่คุ้นเคยกับการให้ทุนการศึกษา ที่ผ่านมาจึงเกิดปัญหาทางปฏิบัติบ้าง เช่น จ่ายเงินไม่ตรงเวลา อย่างไรก็ตามได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติที่นักศึกษาเหล่านี้อาจจะไม่คุ้นเคยกบสภาพแวดล้อมในสถาบัน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้ขอให้ทุกมหาวิทยาลัยจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าวเป็นการพิเศษเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับชีวิตในสถาบันอุดมศึกษาหรือหากมีปัญหาเด็กจะได้ทราบว่าจะปรึกษากับใคร ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนเรื่องเงินที่ส่งให้นักศึกษานั้นได้ขอให้ส่งตรงเวลาซึ่งหากทางสำนักงานสลากกินแบ่งโอนเงินมาให้ช้าก็ขอให้ทางมหาวิทยาลัยสำรองจ่ายให้กับนักศึกษาไปก่อนเพราะถึงอย่างไรเงินจำนวนนี้ต้องส่งมาให้สถาบันแต่ละแห่งอย่างแน่นอนเพื่อไม่ให้เด็กเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยบางแห่งเมื่อได้รับการโอนเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละภาคการศึกษาจากสำนักงานสลากกินแบ่งแล้วก็จะโอนให้กับนักศึกษาทั้งหมดในครั้งเดียวเลยซึ่งเด็กที่ได้รับทุนอยู่ในช่วงวัยรุ่น เมื่อได้รับเงินครั้งละมากๆ อาจจะใช้จ่ายโดยไม่ได้ระมัดระวัง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ จึงขอให้มหาวิทยาลัยทยอยจ่ายเงินให้เด็กเป็นรายเดือนเพียงแค่ให้เด็กเปิดบัญชีธนาคารไว้ แล้วมหาวิทยาลัยโอนเงินเข้าไปให้เท่านั้น นอกจากนี้ได้กำชับให้ดูแลเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ก็ต้องติดตามดูแล ด้าน ดร.สรรค์ วรอินทร์ ผอ.สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สกอ. กล่าวว่า จากการรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานดูแลโครงการดังกล่าวทราบว่าเด็กที่ได้รับทุนต้องการให้มีการเร่งรัดระบบการจัดสรรเงินกองทุนให้ถึงมือเด็กโดยเร็วและเนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนที่ได้มอบให้ สกอ.ดำเนินการจึงมีบางเรื่องที่เป็นช่องว่างไม่ได้กำหนดเป็นแนวปฎิบัติเอาไว้ เช่น หากเด็กเรียนได้เกรดต่ำมาก ๆ เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะให้มหาวิทยาลัยทำอย่างไร เด็กเรียนไม่จบจะให้ทำอย่างไรหรือหากเด็กจะย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เรื่อยๆ โดยเริ่มต้นเรียนปี 1 ใหม่ตลอดจะทำอย่างไร ในเรื่องที่พักจะให้เด็กพักในหอพักของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เลยหรือไม่ หรือหากให้พักหอพักนอกสถาบันจะกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดในเรื่องเหล่านี้ไว้ รวมถึงต้องมีระบบรองรับเด็กที่จะกลับมาเรียนต่อในประเทศด้วย "สกอ.จะสรุปสภาพปัญหา และแนวปฎิบัติต่าง ๆที่เหมาะสมเสนอให้คณะกรรมการบริหารโครงการฯได้พิจารณาต่อไป นอกจากนี้ สกอ.ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำการติดตามและประเมินโครงการนี้ด้วยหากประสบความสำเร็จเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะให้ดำเนินการในรุ่นที่สองต่อแน่" ดร.สรรค์กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมดังกล่าวเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งรับผิดชอบดูแลเด็กนักเรียนที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศโครงการนี้ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะมีเด็กนักเรียนที่เรียนอยู่ในต่างประเทศจะขอเดินกลับเข้ามาเรียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น 10-20% โดยขณะนี้มีการแจ้งความจำนงเพื่อขอกลับมาแล้ว 5 ราย ทั้งนี้เนื่องจากบางคนเรียนไม่ไหว บางคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และบางคนเข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้มีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินโครงการฯ โดยหลายคนเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการเฉพาะกิจเป็นเรื่องทางการเมือง , ระบบการคัดเลือกเด็กไม่โปร่งใสไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างแท้จริง เด็กที่จนจริงอาจจะไม่ได้เข้ามาเรียนที่สำคัญยังพบว่าผู้ปกครองของเด็กบางคนมารอรับเงินทุนการศึกษาของลูกเพื่อนำไปใช้หนี้สินเป็นต้น

0 ความคิดเห็น: