นักเรียนทุน ODOS ที่ข้าพเจ้ารู้จัก(จบ)

เท่าที่ผู้เขียนรู้จัก น้องๆทุนนี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กดีน่ารัก และมีความพยายาม ตั้งใจเรียน ซึ่งผลการเรียนที่ออกมาก็เป็นที่ยอมรับได้ ส่วนใหญ่สอบผ่านตามเกณฑ์ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยกำหนดไว้สำหรับการเข้าเรียนต่อ มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ก็มีอีกหลายแง่มุมที่ผู้เขียนประทับใจ เช่นมีน้องคนหนึ่งไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เลย เพราะว่าสัญญากับแม่ไว้ แม้ผู้เขียนจะบอกว่าดื่มเสียบ้างก็ได้ เพราะธรรมเนียมฝรั่งเศส บางครั้งเราต้องดื่มไวน์หรือแชมเปญบ้าง หรือบางคนหน้าตาดีหน่อยมีฝรั่งมาจีบ ก็สามารถออกตัวได้สวยจนเป็นเพื่อนกันไป ซึ่งนี่คือความเป็น “ไทย” ที่น่ารักของเด็กผู้หญิงที่หาไม่ค่อยได้ในชาติอื่น การปรับตัวกับภาษาและวัฒนธรรมก็ไม่มีปัญหา น้องๆส่วนใหญ่พูดจาสื่อสารได้ดีมาก ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนไม่รู้วิธีคัดเด็ก แต่ยอมรับว่าเด็กที่ได้พบ ส่วนใหญ่จะมีความสามารถดีๆแฝงอยู่มาก ในการพูดจา ก็รู้สึกได้ไม่ยากว่าเด็กพวกนี้เป็นเด็ก “ฉลาด” ที่ถ้าให้การสนับสนุนอย่างดีเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยน่าจะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากลับไปแน่ๆ ส่วนท่านที่มองเห็นแต่พฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็ก เจอเด็กก้าวร้าวบ้าง ชอบเที่ยวบ้าง หรือชอบคุยเรื่องหาแฟน อะไรต่างๆนั้น นอกจากคำแนะนำว่าขอให้มองโลกในด้านดี (ซึ่งดีต่อท่านเอง) บ้างแล้ว ผู้เขียนอยากให้มองย้อนกลับไปว่า เมื่อคุณอายุ 18-20 ปี คุณทำอะไรอยู่ที่ไหน ? คุณทำอะไรบ้างในช่วงชีวิตนั้น สิ่งที่น้องๆเขากำลังพบ คือชีวิตวัยรุ่นในต่างแดน ที่ต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูง ทั้งในเรื่องการเรียน และเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องการเงิน เรื่องส่วนตัว รวมทั้งเรื่องทางบ้านที่ประเทศไทยด้วย จะอย่างไรก็ตาม กับความรับผิดชอบทั้งหลายทั้งแหล่นี้ ชีวิตของน้องๆเขาไม่ได้สนุกอะไรขนาดนั้น หากเทียบกับชีวิตวัยรุ่นที่หลายๆคนได้ผ่าน ชีวิตในมหาวิทยาลัย ที่ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากนั่งรถเมล์ (หรือบางคนมีรถขับ) ไปเรียนหนังสือ จีบสาว เล่นเน็ต เที่ยวเทคตอนกลางคืนแล้วตื่นมาเรียนตอนเช้า ฯลฯ สำหรับเรื่องการเตรียมตัว เตรียมพร้อมให้น้องๆนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ทางภาครัฐผู้รับผิดชอบนั้นทำได้อย่างดีแล้ว แต่ก็ดีเท่าที่ได้ เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ไม่มีคำว่าพร้อมสำหรับการไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะให้ภาษาดีแค่ไหน หรือทำใจได้อย่างไร แต่เมื่อไปพบกับภาษาที่เจ้าของภาษาใช้ ภาษาหนังสือ ภาษาวิชาการอย่างเต็มรูปแบบ วัฒนธรรมที่แปลกออกไป ความเหงา หรืออาจจะไปเจอผู้คนที่ไม่เป็นมิตร และดินฟ้าอากาศที่ต่างจากบ้านเรา มันก็สามารถบั่นทอนสภาพจิตใจลงได้ทั้งสิ้น ผู้เขียนยังไม่เจอใครที่ใช้ชีวิตในช่วงแรกๆอย่างไปฉิวลิ่วตลอดในการไปเรียนต่อต่างประเทศครั้งแรก แต่กระนั้นก็ตาม รัฐบาลไทยได้วางแผนในการเตรียมพร้อมให้นักเรียนทุน ODOS ค่อนข้างดี สำหรับในฝรั่งเศสนั้น นักเรียนทุกคนจะได้เรียนภาษาและปรับตัวร่วมกันก่อนสองเดือนแรกที่เมือง Tours จากนั้นก็จะส่งไปเรียนภาษาจริงๆจังๆ กระจายกันไปทั่วประเทศฝรั่งเศส เช่น Rouen, Grenoble หรือ Vichy นอกจากนี้ในเมืองที่ผู้เขียนอยู่ (เมืองอื่นจะจัดให้หรือไม่ไม่แน่ใจ) แม้เขาจะจัดให้น้องๆทุกคนอยู่หอพักนักเรียนร่วมกัน แต่ทุกๆคนจะมี “ครอบครัวอุปถัมภ์” (Une famille d’accueil) ชาวฝรั่งเศสคอยดูแล ให้คำปรึกษา พาไปเที่ยว พาไปกินอาหารร่วมกันในวันหยุดอยู่เสมอๆ ทำให้น้องๆไม่เหงาจนเกินไป และได้เรียนรู้วิถีชีวิตแบบฝรั่งเศส รวมทั้งได้ฝึกพูดในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเด็กไทยเราน่ารัก แต่ผู้เขียนได้เห็นครอบครัวอุปถัมภ์บางครอบครัว ดูแลน้องๆเหล่านี้อย่างดีมากจนผู้เขียนรู้สึกได้ว่าบางครั้งมันอาจจะเป็นความรักความผูกพันจริงๆ มิใช่การทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับการติดต่อไว้ การเตรียมตัวสำหรับนักเรียนเท่าที่ “ผู้อื่น” จะช่วยดำเนินการให้ได้นั้นก็น่าจะมีเพียงเท่านี้ เพราะนอกเหนือจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมด้านจิตใจนั้น มันเป็นเรื่องอัตวิสัยที่ยากจะมีใครช่วยได้ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่ไหว ไม่ว่าจะเพราะปัญหาสุขภาพ หรือสภาวะจิตใจก็ได้ มันก็อาจจะต้องยอมรับว่าไม่ไหวจริงๆ ก็กลับมาตั้งหลักก่อนดีกว่า ดังที่มีข่าวว่ามีนักเรียนขอกลับบ้านแล้ว 5 - 6 ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า เป็นจำนวนของนักเรียนในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือทั้งโลก แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก ถ้าเทียบกับจำนวนทั้งหมดเป็นร้อยๆคนในแต่ละประเทศ กว่าพันห้าร้อยคนของทั้งหมด ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักเรียนทุนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนรัฐบาลใด หรือของเอกชนก็ตาม ล้วนแต่เคยมีกรณีที่มีปัญหาต้องกลับบ้าน ทั้งปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยกันทั้งสิน ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเครียด ความเศร้า และปัญหาต่างๆที่คุกคามนักเรียนทุนโดยไม่จำกัดแหล่งเงิน ระดับสติปัญญา หรือ อายุแล้ว หากคิดตามอัตราส่วนอย่างยุติธรรมแล้วคงไม่แตกต่างกันกับกรณีน้องๆมากนัก อย่างน้อยการกลับบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการตัดสินใจจบชีวิต อย่างกรณีของน้องชมพู่เมื่อปีที่แล้ว ที่ถือเป็นเรื่องเศร้าที่สุดที่โครงการนี้ต้องบันทึกไว้ แม้เราจะตอบไม่ได้ว่า อะไรทำให้น้องตัดสินใจเช่นนั้น แต่เราเชื่อกันว่า หากมี “ใคร” สักคนที่น้องเขาสามารถพูดคุยได้ ให้คำแนะนำหรือปลอบโยน บางครั้ง... เหตุการณ์เช่นนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันขึ้น โดยอาศัยว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ในการใช้ชีวิตในต่างประเทศกันมาหลายประเทศ และหลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว หลายคนก็ยังเรียนอยู่ เราเชื่อกันว่า อย่างน้อยเรายังมีคำแนะนำดีๆ หรือคำปรึกษาที่พอฟังได้ ให้แก่ทุกคนที่กำลังผจญภัยอยู่นอกบ้านเกิดเมืองนอน เสมือนนกน้อยบนสายไฟ นี่เองทำให้ก่อเกิดกลุ่ม “Birds on wire” ในรูปแบบของกลุ่มภราดรที่ไม่หวังผลกำไรหรือการตอบแทน แต่พร้อมที่จะแนะนำ ให้คำปรึกษา หรือพูดคุยกับ “นก” สัญชาติไทยทุกตัวในโลกใบนี้ เพื่อให้มีแรงบินต่อไปได้ สู่จุดหมายของตนทั่วไป ซึ่งนักเรียนไทยในต่างแดนทุกคน โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นใหม่ ไม่จำกัดว่าจะไปเรียนต่อต่างแดนด้วยจุดประสงค์ หรือทุนใด หากสนใจ สามารถเข้ามา “เกาะสายไฟ” ได้ที่ http://www.birdsonwire.org ซึ่งมีผู้มีประสบการณ์ในการศึกษาต่อเกือบทุกประเทศที่คนไทยนิยมไปศึกษาอยู่คอยรับผิดชอบ รวมทั้งผู้จัดทำบางส่วนที่ยังเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นอีกด้วย สุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากจะกล่าวว่า โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เป็นทางออกที่สวยงามในการใช้เงินจากหวยบนดิน จากคนที่หวังรวย มาสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนกลุ่มหนึ่ง ได้มาศึกษาต่อต่างประเทศ แม้ผลลัพท์ของโครงการนี้จะต้องรอลุ้นไปอีกสี่ปี แต่ในวันนี้ ก็ถือเป็น “โอกาส” ในการมาเรียนต่อเมืองนอกที่กระจายลงไปในระดับจุลภาค ที่เป็นโอกาสที่ดี ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยให้ หรือคิดจะให้ ที่ผ่านมา “ทุน” เป็นของมนุษย์ครีมของประเทศเท่านั้น แต่เราอาจจะลืมไปว่า เค้กที่อร่อยใช่จะอยู่ที่ครีมเท่านั้น ยังต้องประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล ไข่ไก่ หรือแม้แต่เกลือ ดังเช่นภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า ใช่แต่ดอกซากุระเท่านั้นที่งดงาม แต่ดอกไม้อื่นก็น่ารักในแบบของเธอเอง.

0 ความคิดเห็น: