1 ปี 1 ทุน 1 อำเภอ เงินออกล่าช้าสร้างหนี้นอกระบบ

ผ่านไปปีกว่าแล้วสำหรับโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่ส่งเสริมการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ฐานะยากจน และมีความประพฤติดี จากทุกอำเภอและทุกกิ่งอำเภอทั่วประเทศแห่งละ 1 คนได้มีโอกาสให้ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
นักเรียนทั้งสิ้น 926 คนที่ได้รับทุนการศึกษาดังกล่าว ให้ได้เรียนต่อต่างประเทศและในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีทั้งต่อตัวเด็กเองและระบบการศึกษาไทย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า 1 ในเด็ก 926 คนนี้ เคยมีปัญหาหนักถึงขนาดฆ่าตัวตาย เพราะไม่สามารถเข้ากับสังคมต่างประเทศได้ หลังจากนั้นหลายหน่วยงานได้มีความพยายามเข้าไปดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ทั้งที่เรียนอยู่ในประเทศและต่างประเทศ เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม ที่ผ่านมาทางสำนักงานการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้จัด “ค่ายนักเรียนทุนรัฐบาลตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนที่เลือกศึกษาต่อในประเทศ” เพื่อให้เหล่านักเรียนทุนได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ พูดคุย สร้างเครือข่ายอันดีระหว่างกัน และรับทราบปัญหาจากปากของเด็กๆ โดยตรง ในงานดังกล่าวจึงมีทั้งกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ ด้วยกันเอง และเปิดโอกาสให้เด็กได้ถ่ายทอดปัญหาให้ ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รับฟังด้วยบรรยากาศสบายๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน มาลองฟังความเห็น ปัญหา และความเป็นไปของเด็กทุนในประเทศว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาเข้าต้องประสบปัญหาใดบ้าง และเขารู้สึกอย่างไรกับโครงการนี้ สุภาพร ปองแพทย์ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนทุนจาก จ.แพร่ บอกปัญหาที่พบว่า ปัญหาหลักๆ คือเงินทุนการศึกษาที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นค่าใช้จ่ายประจำออกค่อนข้างช้า ทำให้ต้องนำเงินส่วนตัวออกไปใช้ก่อน ซึ่งกว่าทุนจะออกก็ใกล้จะปิดเทอมเต็มที ขณะที่ระบบการลงทะเบียนของจุฬาฯ ต้องจ่ายเงินก่อน ไม่สามารถขอผ่อนผันได้ จึงทำให้ค่อนข้างจะเดือดร้อน “เพื่อนคนอื่นที่เป็นนักเรียนทุนของจุฬาฯ ปกติจะมีเขียนในใบลงทะเบียนว่า เป็นนักเรียนทุนและไม่ต้องจ่ายค่าเทอม แต่ในส่วนของนักเรียน 1 ทุน 1 อำเภอ ไม่มี ซึ่งควรจะมีการประสานงานกันให้ดีๆ จะได้ไม่มีปัญหาอีกค่ะ”
สำหรับชีวิตหลังจากการรับทุนนั้น สุภาพร บอกว่า “ดีค่ะ รู้สึกขอบคุณที่เราได้ทุนนี้ เพราะช่วยเหลือเราได้มากในเรื่องการเรียน ถึงแม้ทุนจะออกช้า แต่ก็แบ่งเบาพ่อแม่ได้ ทำให้เขาไม่ต้องกังวลมาก แล้วเราก็พยายามเรียนอย่างเต็มที่ให้มากที่สุดค่ะ” ศรายุทธ ตันมี หรือ มิ้น นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยสุรนารี นักเรียนทุนจากอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ให้ความเห็นว่า โครงการ 1 ทุน 1 อำเภอ ให้โอกาสทางการศึกษาแก่หลายๆคน แต่ก็มีปัญหาเหมือนเพื่อนๆ คือ ทุนออกช้า ขณะที่นักศึกษาต้องมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าหนังสือ ค่าหอพัก ทำให้พ่อแม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาทำให้เป็นหนี้ เป็นสิน นอกจากนี้มิ้นบอกผลของการติดหนี้สินว่า “ดอกเบี้ยมันก็เยอะครับ ถึงแม้ว่าทุนจะออกแล้วก็ใช้ว่าหนี้จะหลุด เพราะพอส่งเงินให้พ่อแม่เขาก็เอาไปใช้หนี้บ้าง เก็บเงินให้เราบ้าง ไปทำอย่างอื่นบ้าง ทำให้พ่อกับแม่ยังเป็นหนี้อยู่” สำหรับความกดดันในการเรียน มิ้นบอกว่ามีอยู่บ้างแต่ก็ไม่มาก เพราะตั้งใจเรียนและเกรดเฉลี่ยค่อนข้างดี ถึง 3 กว่าๆ “เราค่อนข้างมีความสุขในการเรียน เรื่องทุนแม้จะช้า แต่ก็ให้แน่นอน”
สำหรับความคิดในอนาคตนั้นมิ้นอยากจะเรียนต่อให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ถ้าเป็นไปได้อยากจะเรียนต่อ โดยการสอบชิงทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ และหากสามารถไปเรียนต่อเมืองนอกได้จริงยังไงก็จะกลับมาทำงานในเมืองไทยอย่างแน่นอนครับ”
ด้านนายสุพรชัย เจียมโมปกรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรม ภาควิชาเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นักเรียนทุนจากอำเภอพระประแดง สมุทรปราการ กล่าวว่า เรื่องทุนออกช้านั้น จะมีเจ้าหน้าที่คอยมาสอบถามอยู่เสมอว่า เงินพอใช้หรือไม่ ส่วนความคาดหวังในการเรียนยอมรับว่ากดดันบ้าง แต่ไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่นักเรียนทุนจะเครียดเรื่องเกรดกันเองมากกว่า ซึ่งแม้ว่าพ่อแม่และเจ้าหน้าที่จะคาดหวังกับพวกตนไว้สูง แต่ก็จะม่ได้เข้ามากดดันอะไรมาก เนื่องจากต่างเข้าใจดีว่าการเรียนไม่ใช่ง่ายๆ” สำหรับการเรียนในอนาคตนั้นสุพรชัยบอกกับเราว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะขอทุนเรียนต่อเช่นกันและไม่ว่าจะได้เรียนต่อในหรือต่างประเทศ เราก็จะกลับมาทำงานในเมืองไทยแน่นอน “ตรงนี้ผมเต็มใจ ผมใช้เงินประเทศมาเล่าเรียน ผมก็ต้องทำงานให้ประเทศให้เต็มที่เช่นเดียวกัน” ด้าน ดร.อดิศัย ได้พูดถึงปัญหาเรื่องทุนการศึกษาออกล่าช้าว่า เกิดจากการประสานงาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ โดยทางกระทรวงฯ จะจัดการให้มีการโอนเงินไปที่บัญชีของเด็กโดยตรง ไม่ต้องผ่านมหาวิทยาลัย ทำให้เด็กๆได้รับเงินทุนในวันที่ 1 ของเดือนทุกวัน “ผลโครงการนี้ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ เราพบว่าเด็กนักเรียนในไทย ร้อยละ 50 ได้เกรดมากกว่า 3 ร้อยละ 80 ได้เกรดมากกว่า 2.5 นักเรียนทุกคนมีพฤติกรรมดี ขยันเรียน มีเพียง 9 คนที่ได้เกรดต่ำกว่า 2 ซึ่งเราก็เข้าไปคุยว่ามีปัญหาอะไร เพราะเชื่อว่าทุกคนมีพื้นฐานเรียนเก่ง ส่วนเด็กที่อาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพ ตรงนี้ต้องดูแลเป็นรายคนไป” นายอดิศัยกล่าว นี้เป็นอีกมุมหนึ่งของโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ที่เป็นการรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกัน ระหว่างเด็ก องค์กรรัฐ และรัฐมนตรีที่ก็เข้ามาร่วมพูดคุยด้วย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นทางสู่การแก้ปัญหาของเด็กทุนไม่ให้พวกเขาต้องเคว้งคว้างและหาทางออกไม่เจอ...อย่างที่เคยเป็นมา

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีๆ